ประวัติศาสตร์จีน 2,000 ปี กับนิยายกำลังภายในเรื่องดัง

Silph
[ 26-03-2007 - 11:32:47 ]







ราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)

ชาวแมนจูนับเป็นชนเผ่าต่างชาติที่เข้าปกครองประเทศจีนได้อย่างยาวนานที่สุด มีการวางกุศโลบายในการปกครองอย่างแยบยล ทำให้สามารถปกครองชาวฮั่นที่มีจำนวนมากกว่าอย่างมหาศาลเป็นเวลากว่า 200 ปี

ทางด้านนโยบาย ได้ใช้ นโยบายประนีประนอม กับ นโยบายแข็งกร้าว ปกครองได้อย่างปกติสุขเรียบร้อยเป็นเวลานาน

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้การปกครองของราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลง พร้อมกับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ก็คือ

"การไม่สนใจศึกษาความเป็นไปของโลกภายนอก มองตนเองว่าสูงส่งเหนือชนชาติอื่น ปฏิเสธการเรียนรู้ศิลปะ วิทยาการของต่างชาติ"


ดังนั้น เมื่อต่างชาติเข้ามารุกรานประเทศ จึงไม่สามารถรับมือได้ ปลายราชวงศ์ชิงเป็นยุคที่ประชาชนชาวจีนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

ทำให้ก่อเกิดตำนานวีรบุรุษมากมาย เช่น หวงเฟยหง เป็นต้น

ในที่สุด ประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เอง นำไปสู่การขับไล่ชาวต่างชาติ และการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน
Silph
[ 26-03-2007 - 11:35:54 ]







นิยายดังของช่วงเวลานี้ เรื่องที่ดังที่สุด น่าจะเป็นเรื่อง อุ้ยเสี่ยวป้อ

ถูกกล่าวขานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนิยายกำลังภายในเรื่องแรก ที่พระเอกแทบจะไม่รู้วิทยายุทธเลย แต่อาศัยสติปัญญาและไหวพริบในการเอาตัวรอดเป็นสำคํญ

จบบริบูรณ์แล้วครับ หวังว่าคงชอบกันนะ ^-^
Silph
[ 26-03-2007 - 11:59:23 ]







สรุปแบบสุดท้าย ท้ายสุดจริงๆ

ประมวลลำดับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์จีนทั้งหมด เรียงตามลำดับ ดังนี้

1. ยุคจักรพรรดิเหลือง
สิ้นสุดเพราะการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง


2. ราชวงศ์เซี่ย
สิ้นสุดเพราะการแย่งชิงอำนาจภายใน


3. ราชวงศ์ซาง
สิ้นสุดเพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เอาแต่พวกพ้อง การขัดผลประโยชน์
และการดำเนินนโยบายทางการทหารผิดพลาด


4. ราชวงศ์โจว
สิ้นสุดเพราะการแข็งข้อของผู้ครองแคว้นต่างๆ


5. ราชวงศ์โจวตะวันออกหรือยุครัฐสงคราม
เป็นยุคแห่งความวุ่นวายครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน เต็มไปด้วยสงครามแย่งชิงอำนาจ
ผู้คนล้มตายราวใบไม้ร่วง


6. ราชวงศ์ฉิน เป็นยุคที่มีการรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นสำเร็จเป็นครั้งแรก
มีการริเริ่มโครงการหลายอย่างที่เป็นรากฐานสำคัญของจีนในเวลาต่อมา
สิ้นสุดเพราะการปกครองอย่างโหด+++ม และการกดขี่ข่มเหงประชาชน


7. ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองยุคหนึ่งของจีน เป็นที่มาของคำเรียกตนเองของคนจีนว่า "ชาวฮั่น"
สิ้นสุดเพราะระบอบการปกครองล้มเหลว เกิดการขัดแย้งทางชนชั้น
และการลุกฮือของกบฏชาวนา


8. ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ที่จริงเป็นการตั้งราชวงศ์ใหม่ แต่ยังคงใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นเหมือนเดิม
สิ้นสุดเพราะการเกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือ
และบรรดาเจ้าที่ดินที่มีกำลังกล้าแข็งต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่


9. สามก๊ก เป็นยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์จีน
ส่วนรายละเอียด พวกเราคงพอทราบกันอยู่แล้วล่ะนะ


10. ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ท้ายสุด ตระกูลสุมา เป็นผู้รวมแผ่นดินได้สำเร็จอีกครั้ง
สิ้นสุดเพราะการขัดแย้งทางชนชั้น และการกดขี่ข่มเหงประชาชน


11. ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (จีนตอนใต้) กับ 16 แคว้นห้าชนเผ่า (จีนตอนเหนือ)
ราชวงศ์จิ้นตะวันออก คือ ราชวงศ์จิ้นตะวันตกเดิมที่หนึลงมาทางใต้
16 แคว้นห้าชนเผ่า คือ กลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือที่มีกำลังเข้มแข็งขึ้น

ยุคนี้นับเป็นยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์จีน ช่วงนี้การเล่าประวัติศาสตร์จีน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทางตอนเหนือ และทางตอนใต้ ที่มีพัฒนาการแตกต่างกัน กล่าวคือ

ทางตอนเหนือ มีการรุกล้ำเข้ามาอาศัยของชนเผ่าต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญ เป็นผลต่อความเป็นเอกภาพของจีนในเวลาต่อมา

ทางตอนใต้ ยังคงมีการรักษาวัฒนธรรมชาวฮั่นไว้อย่างเหนียวแน่น ถือเป็นการรักษารากเหง้าของชนชาติจีนเอาไว้


12. ราชวงศ์เหนือใต้ ต่อมาได้มีการรวบรวมแผ่นดินทางตอนเหนือและใต้ได้สำเร็จ เกิดเป็นสภาพประจันหน้ากันอยู่เป็นเวลานาน

13. ราชวงศ์สุย สุยเหวินตี้ฮ่องเต้ทำการรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง แต่เสียดายที่มีบุตรไม่ดี ทำให้ราชวงศ์สุยสิ้นสุดเพียงรัชกาลที่ 2 เท่านั้น
สิ้นสุดเพราะกบฎชาวนา และบรรดาข้าราชสำนักต่างทยอยติดอาวุธขึ้นตั้งตนเป็นใหญ่


14. ราชวงศ์ถัง ยุครุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ปกครองจีนอย่างยาวนานประมาณ 300 ปี
สิ้นสุดเพราะ "ขันทีครองเมือง"


15. ยุค 5 ราชวงศ์ 10 แคว้น ยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 4 ของจีน

16. ราชวงศ์ซ่งเหนือ และ ราชวงศ์เหลียว
หลังจากความวุ่นวาย เหลือ 2 อาณาจักรตั้งประจันหน้ากัน


17. ราชวงศ์ซ่งใต้ อาณาจักรจิน และราชวงศ์เหลียว
มีการปรากฎขึ้นของอาณาจักรจิน (บรรพบุรุษของชาวแมนจู) เกิดเป็นสภาพ 3 ขั้วอำนาจ โดยมีราชวงศ์เหลียวเข้มแข็งที่สุด


18. ราชวงศ์หยวน
ภายใต้สภาพของ 3 ขั้วอำนาจ กลับปรากฎจอมคนชาวมองโกลขึ้น คือ เจงกิสข่าน ทำการรวมแผ่นดินได้สำเร็จ
นับเป็นการรวมแผ่นดินสำเร็จเป็นครั้งที่ 4 ต่อจาก ราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์จิ้นตะวันตก และราชวงศ์สุย
ช่วงเวลานี้ อาณาเขตของประเทศจีนขยายออกไปกว้างไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ ในรัชสมัยของกุบไลข่าน
ราชวงศ์หยวนสิ้นสุด เพราะการต่อต้านการปกครองโดยชนต่างชาติ ของชาวฮั่น


19. ราชวงศ์หมิง เป็นการปกครองของชาวฮั่นเองเป็นราชวงศ์สุดท้าย นับเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งเช่นกัน
สิ้นสุดเพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวง ประกอบกับเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดการจราจลเป็นเวลาหลายปี เปิดโอกาสให้ชาวแมนจูรุกรานเป็นผลสำเร็จ


20. ราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน
ราชวงศ์ชิงปกครองจีนอย่างยาวนาน มีทั้งช่วงที่รุ่งเรืองและตกต่ำ
เป็นชนเผ่าต่างชาติที่สามารถปกครองจีนได้อย่างยาวนาน เพราะมีวางกุศโลบายในการปกครองอย่างแยบยล
สิ้นสุดเพราะ "การไม่สนใจศึกษาความเป็นไปของโลกภายนอก มองตนเองว่าสูงส่งเหนือชนชาติอื่น ปฏิเสธการเรียนรู้ศิลปะ วิทยาการของต่างชาติ"
เมื่อถูกต่างชาติรุกรานจึงอยู่ในสภาพจำยอม นำไปสู่การปฏิวัติของประชาชนในที่สุด



Silph
[ 26-03-2007 - 14:01:42 ]







เพิ่มอีกเรื่องครับ

ศึกโค่นบัลลังค์วังทอง (Curse of Golden Flower)

เป็นเรื่องสมัยราชวงศ์ถังตอนปลายที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของราชวงศ์ถังได้เป็นอย่างดี เป็นเรื่องราวช่วงก่อนการเข้าสู่ยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 4 ของจีน คือ "ยุค 5 ราขวงศ์ 10 แควัน" นั่นเอง

ประเภท : Action / Adventure
กำกับโดย : จาง อี้โหมว
นักแสดง : โจว เหวินฟะ(ฮ่องเต้)
กง ลี่(ฮองเฮา)
เจย์ โจว(องค์ชายเจี๋ย)
หลิว เหย่(องค์ชายหวัน)
หนี่ ต้าหง(หมอหลวงเจียง)
เฉิน จิน(ฮูหยินหมอหลวง)
หลี่ มัน(เฉิน)
ชิน จุนเจีย(องค์ชายยู)
กำหนดฉาย : 1 กุมภาพันธ์ 2550



จีน ราชวงศ์ถังตอนปลาย ศตวรรษที่ 10 ในคืนก่อนหน้าเทศกาลชุงเยิง ดอกไม้สีเหลืองทองเบ่งบานเต็มพระราชวังหลวง องค์ฮ่องเต้ (โจวเหวินฟะ) เสด็จกลับมาพร้อมกับองค์ชายเจี๋ย (เจย์ โจว) พระราชโอรสองค์ที่สอง อย่างไม่คาดฝัน พระองค์มีพระประสงค์จะร่วมเฉลิมฉลองวันหยุดสำคัญนี้กับพระญาติ แต่ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างองค์ฮ่องเต้และองค์ฮองเฮา (กงลี่) ที่สุขภาพทรุดโทรม ก็ทำให้เรื่องนี้ดูมีวัตถุประสงค์แอบแฝง

ฮองเฮากับองค์รัชทายาทองค์ชายหวัน (หลิวเหย่) พระโอรสเลี้ยงของพระนาง แอบลักลอบมีความสัมพันธ์กันมานานหลายปี ด้วยความรู้สึกอึดอัด องค์ชายหวันจึงได้ใฝ่ฝันที่จะหลบหนีออกจากพระราชวังพร้อมกับเฉิน (หลี่มัน) คนรักลับๆ ของพระองค์ ซึ่งเป็นลูกสาวของหมอหลวงประจำราชสำนัก

ในขณะเดียวกัน องค์ชายเจี๋ย พระโอรสผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดี รู้สึกกังวลในสุขภาพขององค์องค์ฮองเฮาและความหมกมุ่นในดอกเบญจมาศสีทองของพระนาง นี่พระนางกำลังมุ่งหน้าสู่เส้นทางหายนะหรือไร

ฮ่องเต้เองก็ทรงมีแผนการลับในพระทัยอยู่ด้วยเช่นกัน หมอหลวง (หนี่ต้าหง) เป็นบุคคลเพียงผู้เดียวที่ได้รับรู้ถึงแผนเล่ห์เพทุบายของพระองค์ เมื่อฮ่องเต้ทราบถึงภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามา พระองค์จึงรับสั่งย้ายครอบครัวของหมอหลวงจากพระราชวังไปยังสถานที่ห่างไกล

ขณะที่พวกเขาเดินทางอยู่นั้นเอง มือสังหารลึกลับได้ลอบโจมตีพวกเขา เฉินและเจียงฉี ผู้เป็นมารดา (เฉินจิน) ถูกบีบบังคับให้กลับเข้าไปในพระราชวัง การกลับมาของพวกเธอเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์มืดหม่นที่น่าประหลาดใจมากมาย

ท่ามกลางความงดงามและเลิศหรูของเทศกาล ความลับดำมืดถูกเปิดเผย ในขณะที่เหล่าเชื้อพระวงศ์กำลังเฉลิมฉลองงานเทศกาลนี้ภายในสถานที่ที่โอ่อ่า ใหญ่โต นักรบในชุดเกราะทองคำนับพันๆ คนกำลังบุกเข้ามายังพระราชวัง ใครกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกบฏที่โหด+++มครั้งนี้ ความจงรักภักดีขององค์ชายเจี๋ยขึ้นอยู่กับผู้ใดกันแน่ ระหว่างความรักกับแรงปรารถนา อะไรคือผู้ชนะที่แท้จริง

Silph
[ 26-03-2007 - 14:36:37 ]







ชีวประวัติของเทพเจ้าขุนพล "งักฮุย"


งักฮุย* หรือชื่อเรียกในภาษาจีนกลางคือ เย่ว์เฟย (岳飞; ค.ศ.1103-1142 / พ.ศ.1646-1685) เกิดในยุคปลายของราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) ที่มณฑลเหอหนาน เมื่อครั้งยังเล็ก ณ บ้านเกิดของเขาเกิดอุทกภัยใหญ่จากการแตกของเขื่อนกั้นแม่น้ำเหลือง (黄河) มารดาของงักฮุยต้องอุ้มบุตรชายไว้ในอ้อมกอด อาศัยซุกตัวอยู่ในโอ่งลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาชีวิตให้รอด

เมื่อล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม ในภาวะที่ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตเนื่องจากฮ่องเต้สองพระองค์ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คือ ซ่งฮุยจง (宋微宗) และซ่งชินจง (宋钦宗) ถูกพวกจิน (金; ค.ศ.1115-1234) จับตัวไปเป็นเชลยศึก จนในที่สุดนำมาสู่จุดจบของราชวงศ์ซ่งเหนือ งักฮุยเมื่อพบเห็นกับเหตุการณ์เช่นนี้จึงตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะต้องกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียและชาติกลับคืนมาให้ได้

ความตั้งใจนี้เมื่อประกอบกับการสนับสนุนมารดา เขาจึงสมัครเข้าเป็นทหารรับใช้ให้กับราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋; ค.ศ.1127-1279) ที่ขณะนั้นองค์ฮ่องเต้คือ ซ่งเกาจง (宋高宗) ได้ย้ายเมืองหลวงหนีมาทางใต้ จากเ+++ยนเหลียง (汴梁; ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง) มาอยู่ที่หลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว)

โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า

尽忠报国
จิ้นจงเป้ากั๋ว
รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ


尽忠报国- รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ วลีที่กล่าวถึงเมื่อใด ย่อมนึกถึงวีรบุรุษนามงักฮุย (岳飞)

เมื่อเข้ารับราชการทหาร งักฮุยที่พกความมุ่งมั่นไว้เต็มเปี่ยมก็แสดงความกล้าหาญและสามารถรบชนะสังหารข้าศึกไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งผลงานไปเข้าตาแม่ทัพนาม จงเจ๋อ (宗泽) ต่อมาแม่ทัพจงเจ๋อก็ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำศึกสงครามนานาประการให้กับงักฮุยโดยหมดสิ้น โดยหวังว่างักฮุยจะเป็นกำลังสำคัญในการกู้ชาติต่อไป

หลังจากที่แม่ทัพจงเจ๋อเสียชีวิต งักฮุยก็ได้เป็นผู้สืบทอดในตำแหน่งแม่ทัพต่อ และสร้างผลงานจนได้ดำรงแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่ง เจี๋ยตู้สื่อ (节度使) เมื่ออายุเพียง 32 ปีเท่านั้นแต่ทั้งนี้งักฮุยก็มิได้แสดงอาการยโสโอหังต่อตำแหน่งใหญ่ของตัวเองแต่อย่างใด สังเกตได้จากที่ครั้งหนึ่งฮ่องเต้เคยออกปากว่าจะสร้างจวนหลังใหม่ให้ งักฮุยกลับตอบปฏิเสธโดยกล่าวกับฮ่องเต้ไปว่า

"ในเมื่อยังกวาดล้างศัตรูได้ไม่สิ้นซาก กระหม่อมจะมีมาคำนึงถึงเรื่องบ้านของตัวเองได้อย่างไร?"

เมื่อก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ ชื่อเสียงของงักฮุยก็ยิ่งขจรขจาย โดยเฉพาะในแง่ของความเข้มงวดและระเบียบวินัยของกองทัพ มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ฝึกซ้อมการรบอยู่นั้น เมื่อบุตรชาย (เย่ว์หยุน:岳云) ของงักฮุยบังคับม้าศึกควบขึ้นเนินลาดแล้วเกิดบังคับม้าไม่อยู่จนทั้งคนทั้งม้าเสียหลักล้มลง ด้านงักฮุยเมื่อทราบดังนั้นก็มิได้แสดงความอาทรต่อบุตรของตัวเองเหนือกว่าพลทหารนายอื่นแต่อย่างใด ออกคำสั่งให้ดำเนินการลงโทษบุตรชายของตนไปตามกฎระเบียบ

มากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้กองทัพของงักฮุยครองใจชาวบ้านมากไปกว่านั้นก็คือ "ความซื่อสัตย์" และ "ซื่อตรง"

เมื่อพบว่าพลทหารขอเชือกปอจากชาวบ้านหนึ่งเส้นเพื่อนำมามัดไม้ฟืน งักฮุยก็สั่งให้ลงโทษพลทหารผู้นั้นไปตามระเบียบ ขณะที่เมื่อกองทัพของงักฮุยผ่านไปยังหมู่บ้านใดก็จะตั้งค่ายนอนกันริมทาง แม้ชาวบ้านเชิญให้เหล่าทหารเข้าไปพักผ่อนในบ้านอย่างไรก็ไม่ยินยอม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วว่าในกองทัพของงักฮุยมีคำขวัญที่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดประการหนึ่ง คือ

"แม้ต้องหนาวตายก็ไม่ขอเบียดเบียนบ้านชาวประชา แม้ต้องอดตายก็จะไม่ปฏิบัติตัวเยี่ยงโจร-ขโมย"


ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างงักฮุยกับเหล่าทหารในกองทัพก็เป็นไปด้วยความแนบแน่นยิ่ง โดยเมื่อมีพลทหารคนใดป่วยงักฮุยก็จะไปเยี่ยมด้วยตัวเอง พร้อมส่งคนไปให้การดูแลครอบครัวของพลทหารผู้นั้น ขณะที่หากเบื้องบนตบรางวัลอะไรให้มา งักฮุยก็จะจัดสรรแบ่งปันให้พลทหารของตนอย่างเท่าเทียมโดยที่ไม่คำนึงว่าจะเหลือตกถึงตนเองหรือไม่

ด้วยเหตุฉะนี้ กองทัพของงักฮุยจึงมีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง และเมื่อประกอบกับความรู้ความสามารถในด้านสงครามของงักฮุยแล้วก็ทำให้ในการรับทุกครั้งกับชนเผ่าจินนั้น กองทัพงักฮุยได้รับชัยชนะอยู่เสมอๆ จนพวกจินนั้นเกิดความเกรงกลัวอย่างมาก จนกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า "โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง"
ทัพงักฮุยประสบชัยชนะกรีฑาทัพขึ้นภาคเหนือเพื่อยึดดินแดนคืนได้มากมาย บุกจนกระทั่งตั้งทัพอยู่ห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น**

เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ฉินฮุ่ย/ฉินข้วย/ชีนไคว่ (秦桧) ขุนนางกังฉิน (ว่ากันว่าฉินฮุ่ยและภรรยาแซ่หวังเคยถูกกองทัพของจินจับตัวเป็นเชลยศึก แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยตัวกลับมายังซ่งโดยให้สัญญาว่าจะเป็นสายลับให้กับทางจิน***) ผู้ซึ่งประจบสอพลอฮ่องเต้ซ่งเกาจงจนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงกราบทูลต่อองค์ฮ่องเต้ว่าทัพของงักฮุยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสงบศึกกับเผ่าจิน

ด้านฮ่องเต้ซ่งเกาจงก็เชื่อในคำของฉินฮุ่ย และออกโองการบัญชาให้งักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ทางฝั่งงักฮุยแม้จะทักท้วงและออกอาการดื้อดึงเช่นไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระบัญชาของฮ่องเต้ส่งมาเป็นฉบับที่ 12 งักฮุยจึงถอดใจ พร้อมกับทอดถอนใจรำพึงกับตัวเองด้วยความช้ำใจอย่างสุดแสนว่า ความพากเพียร 10 ปีของตนกลับต้องกลายเป็นเพียงเถ้าธุลีในพริบตา

เมื่องักฮุยปฏิบัติตามพระบัญชาถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินฮุ่ยก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการณ์ใหญ่จะก่อกบฎล้มล้างราชสำนัก งักฮุยได้ฟังดังนั้นก็ไม่โต้ตอบอะไรด้วยคำกล่าวอะไร เพียงแต่คลายชุดท่อนบนของตนออก เผยให้ฉินฮุ่ยเห็นถึงคำว่า '尽忠报国' อักษรสี่ตัวที่มารดาสลักไว้ด้านหลัง ขุนนางกังฉินเมื่อเห็นดังนั้นก็ชะงัก เอ่ยปากอะไรไม่ออกแม้แต่คำเดียว

อย่างไรก็ตาม ฉินฮุ่ยก็ยังไม่ยอมลดละความพยายามในการป้ายสีงักฮุยต่างๆ นานา แม้จะตรวจไม่พบความผิดใดๆ ก็ตาม แต่ในที่สุดฉินฮุ่ยก็ปั้นเรื่องจนทำให้งักฮุยต้องถูกโทษประหารจนได้ โดยเมื่อมีขุนนางฝ่ายงักฮุยคนอื่นๆ ทักท้วง และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า "อาจจะมีก็ได้ (莫须有)" คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า "อาจจะมีก็ได้" นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน

ทั้งนี้ในวันที่งักฮุยถูกประหารชีวิต ก็มีพลเมืองดีที่รู้เรื่องราวและเคารพรักในตัวงักฮุยนำศพของเขามาทำพิธีฝังศพ โดยเวลาต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายหลุมฝังศพของงักฮุยมาตั้งไว้ริมทะเลสาบซีหู ณ เมืองหางโจว
Silph
[ 26-03-2007 - 14:58:39 ]







ยุทธการรบที่แม่น้ำเฝยสุ่ย ตำนานการรบที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของชาวจีน

สาเหตุการชนะศึกของราชวงศ์จิ้นตะวันออก

1 . ความร่วมแค้นต่อศัตรู เกิดเป็นพลังความสามัคคี

สงคราม ยุทธภูมิ เฝยสุ่ย เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่และมีชื่อโด่งดังในประวัติศาสตร์จีน ด้วยว่าเป็นศึกสงครามน้อยชนะมาก ซึ่งเปรียบเทียบปริมาณทหารต่างกันถึง 1 ต่อ 10 นับว่ามีน้อยยิ่งในประวัติศาสตร์จีน

กองทัพและประชาชนของราชวงศ์จิ้นตะวันออก ต่างมีความเคียดแค้นร่วมสามัคคีผูกพันธ์กันต่อการรุกรานของราชวงศ์ เฉียนเฉิน เพื่อเป็นการป้องกันประเทศ เหล่าผู้กล้ามิหวาดหวั่นต่อการถวายชีวิตระหว่าง 1 ต่อ 10 การชนะศึกต่อราชวงศ์ เฉียนฉิน

เหล่าผู้กล้าเหนือใต้รวมทั้งขุมกำลังอำนาจอิทธิพลของเหล่าขุนนางในพระราชสำนักจิ้นตะวันออก ต่างพร้อมใจกันร่วมสมัครสมานสามัคคี โดยมิเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ละทิ้งความเห็นแก่ตัวและความแค้นใด ๆ เมื่อก่อนหน้า พากันโค่นล้มศัตรู

2 . การฝึกฝนกองทัพ
การรับศึกราชวงศ์กองทัพ ฉิน ด้วยการนำของ เซี่ยเสี้ยน (แม่ทัพที่มีชื่อเสียงมากจากยุทธการที่แม่น้ำเฝยสุ่ย ล้มป่วยเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่ม) ได้ฝีกฝนกองทัพขึ้นมาจากเหล่าประชาชน โดยเฉพาะกองทัพหน่วยกล้าตาย ณ จินโข่ว (เกียเข้า) เซี่ยเสี้ยน ได้ฝึกฝนขึ้นมาด้วยฝีมือของตนเอง ต่อมาจึงมีนายทัพ หลิวหลอจือ มาช่วยฝึกฝน กลายเป็นกองทัพหน่วยกล้าตายของเด็กหนุ่ม "กองทัพ เป่ยฟู่ปิน (กองกำลังเป่ยฝู่)"

3 . แผนการศึกอันเด็ดขาด
ผู้กล้า เซี่ยเสี้ยน ได้วางแผนการศึกจากจากผลประโยชน์การดูหมิ่นประมาทศัตรูของพระเจ้า ฟูเจี้ยน และด้วยความช่วยเหลือของ จูซู่ ต่างร่วมมือร่วมใจสามัคคีกันวางแผนโจมตีศัตรูแตกพ่ายไป ได้รับชัยชนะในที่สุด


สาเหตุการพ่ายแพ้ของราชวงศ์ เฉียนฉิน

1 . ดูหมิ่นประมาทศัตรู
พระเจ้า ฟูเจี้ยน ทรงรวบรวมดินแดนทางภาคเหนือเป็นเอกราช ทรงหยิ่งผยองลำพองสูงสุด มิทรงฟังคำตักเตือนของเหล่าขุนนาง ทรงใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตั้งใจบุกโจมตีราชวงศ์จิ้นตะวันออกลูกเดียว จึ่งได้รับผลการพ่ายแพ้ในที่สุด

2 . การวางแผนการศึกที่ผิดพลาด
พระเจ้า ฟูเจี้ยน ทรงวางแผนการศึกทีผิดพลาดอย่างร้ายแรง พระองค์ทรงประมาทว่ากองทัพของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่มิมีผู้ใดเทียบ ทรงวางแผนการการกระจายกองทัพล้อมรอบศัตรู ด้วยทรงวางแผนการศึกกินพื้นที่อันยิ่งใหญ่

เหล่ากองทัพนายทหารติดต่อกันมิถึง มิพร้อมเพียง และยังทรงคิดมิถึงว่าการใช้ขุนนางชาว ฮั่น จูซู่ ไปเจรจาให้ข้าศึกยอมสวามิภัคดิ์ แต่กลับเป็นภัยร้ายต่อพระองค์เอง

3 . ขวัญกำลังใจของทหารถดถอย
ด้านกองกำลังของราชวงศ์ เฉียนฉิน เหล่ากำลังใจของเหล่าทหารและผู้กล้า มิมีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งมีชนต่างเผ่า รวมทั้งประชาชนชาว ฮั่น เก่ามาช่วยลุ้นยุยงปลุกปั่นให้กองทัพของพระองค์ทรงพ่ายแพ้ในการศึก

ดั่งเช่น มูหยงชุ่ย ชนเผ่า เซียนพี่ และ เหยาฉาน ชนเผ่า เจี้ย ต่างลุ้นให้พระองค์ทรงพ่ายแพ้เพื่อตั้งราชวงศ์ประเทศขึ้นมาใหม่


ยุทธการที่แม่น้ำเฝยสุ่ยกระทบกระเทือนถึง

1 . เมื่อกองทัพของราชวงศ์จิ้นตะวันออก ชนะศึกราชวงศ์ เฉียนเฉิน ได้ดินแดนเก่ากลับคืนมาจำนวนมาก พ.ศ. 927 เซี่ยเสี้ยน พิชิตภาคเหนือ ยึดได้เมือง กุนโจว, ชินโจว, หลิวหลอจือ พิชิตภาคเหนือ ยึดได้เมือง ยิโจว ฮวานจง ยึดได้เมือง ซ่านหยาน

ต่อมาราชวงศ์จิ้นตะวันออก ยังยึดได้ดินแดน เหนียน, และ ยิ, แผ่นดินจิ้นตะวันออกกว้างขวาง แต่ไร้ซึ่งขุนศึกไปปกครอง เพียงแต่รักษาให้ความปลอดภัยภายในพระราชสำนัก ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ยืนยงอยู่ได้เพียงแค่ 10 ปี

(ภายหลังการแย่งชิงอำนาจทางตอนใต้ของจีน หลิวอวี้ สามัญชนผู้ไต่เต้าจากการเป็นทหารผู้น้อยในกองกำลังเป่ยฝู่ของเซี่ยเสียน รวบรวมแผ่นดินตอนใต้ได้สำเร็จ)

2 . ชนเผ่าต่าง ๆ ทางภาคเหนือพากันแตกแยกแย่งชิงอำนาจกัน
ภายหลังยุทธภูมิ เฝยสุ่ย ชนเผ่าต่าง ๆ ทางภาคเหนือต่างพากันแตกแยกและเก่งแย่งกันเอง พระเจ้า ฟูเจี้ยน ทรงถูก เหยาฉาน ประหาร

ราชวงศ์ เฉียนฉิน ล่มสลาย ชนเผ่าต่าง ๆ นอกแผนดินใหญ่ทางภาคเหนือต่างบุกรุกเข้ามาครอบครอง กลายเป็น 5 ชนเผ่า อู่หู (โหงวโอ้ว) และเป็น 16 ประเทศ (เข้าสู่ยุค 16 แคว้น 5 ชนเผ่ายุคหลังตามประวัติศาสตร์ของจีน)

3 . การแบ่งแยกเป็นประเทศ เหนือ - ใต้
เมื่อพระเจ้า ฟูเจี้ยน ปกครองภาคเหนือล้มเหลว ภาคเหนือแตกแยกแบ่งแยกกันหลายชนเผ่า จนกระทั่ง ทัวปากุย ผู้นำเผ่าเซียนเป่ยได้ทำการรวบรวมแผ่นดินตอนเหนือได้สำเร็จ

ภายหลัง ราชวงศ์จิ้นตะวันออกล่มสลาย ประเทศจีนแบ่งการปกครองเป็นราชวงศ์ เหนือ - ใต้ กินเวลานานเกือบ 200 ปี
Silph
[ 26-03-2007 - 15:15:35 ]







ชีวประวัติสุมาอี้

ต้นตระกูลสุมา แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตก ผู้รวบรวมแผ่นดินยุคสามก๊กให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ

สุมาอี้เป็นชาวอำเภออุน เมืองเหอเน่ย ( โห้ลาย ) มณฑลเหอหนาน มีชื่อรองว่า ชงต๊ะ (Zhongda)

มีบุคลิกลักษณะแปลกกว่าคนธรรมดา แววตาคมราวเหยี่ยว ท่าทางราวสุนัขจิ้งจอก เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมแกมโกง ชำนาญพิชัยสงคราม และยังมีความสามารถในการแกล้ง ป่วยได้อย่าง แนบเนียนด้วย

สุมาอี้นั้นถูกโจโฉเชิญให้มารับราชการ แต่สุมาอี้ไม่ชอบโจโฉ จึงอ้างว่าป่วย แต่โจโฉรู้ทัน จึงสั่งให้ทหารไปลากตัวมา สุมาอี้จึงจำต้องรับราชการอยู่กับโจโฉ

ในช่วงแรกๆที่โจโฉยังมีกุยแกอยู่ สุมาอี้ไม่มีบทบาทอะไรมากนักเนื่องจากโจโฉไม่ไว้ใจ และสุมาอี้ก็ต้องไปเป็นอาจารย์ของโจผีลูกโจโฉ

และในสมัยที่กุยแกและโจโฉยังอยู่ สุมาอี้รับราชการ เป็นแค่ สมุหบัญชีทหารเลว (ตามในสามก๊กฉบับพระยาคลัง) มีหน้าที่แค่จดบันทึกจำนวนทหารที่เกณฑ์มาหรือฝึกหรือออกรบ

แต่หลังจากสิ้นยุคโจโฉแล้ว สุมาอี้มีบทบาทเป็นอย่างมาก จนมักมีเรื่องว่าสุมาอี้ถูกใส่ร้ายป้ายสีอยู่เสมอ

สุมาอี้นั้นเป็นคู่ปรับที่ร้ายแรงที่สุดของขงเบ้ง (สุมาอี้นั้นแก่กว่าขงเบ้ง2ปี) ทำให้ขงเบ้งไม่อาจเข้ายึดวุยก๊กได้ ทั้งๆที่ได้ใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัส บางครั้งก็เกือบจะถูกสุมาอี้จับตัวได้ด้วยซ้ำ

สุมาอี้เคยถูกโจซองหลานของโจยอยกลั่นแกล้งและหาทางปลดอยู่เสมอในสมัยพระเจ้าโจฮอง แต่สุมาอี้ก็แกล้งป่วยจนโจซองตายใจนึกว่าสุมาอี้กลายเป็นง่อยไปแล้ว

และสุดท้ายสุมาอี้ก็สั่งเอาคืนอย่างจั๋งหนับและสามารถปราบปรามพรรคพวกของโจซองและประหารชีวิตได้สำเร็จ

หลังจากนั้นสุมาอี้ก็กลายเป็นใหญ่

สุมาอี้นั้นมีบุตรสองคนคือ สุมาสู กับ สุมาเจียว ซึ่งฉลาดพอๆกันกับพ่อของตัวเอง และฉลาดแกมโกงพอกัน

ตำแหน่งสุดท้ายของสุมาอี้คือเซงเสี่ยง( สมุหนายก ) กับได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 9 ซึ่งเรียกว่า จิ่วซิ

สุมาอี้วางแผนที่จะยึดราชวงศ์โจเกือบจะได้อยู่แล้ว แต่ดันเกิดป่วยหนักขึ้นมา และป่วยจริงๆไม่ได้แกล้งทำเหมือนเมื่อก่อน

สุมาอี้สิ้นชีพที่เมืองลกเอี๋ยงด้วยโรคชรา ในปีคศ.251 ด้วยอายุได้ 73ปี

หลังจากนั้นสุมาเอี๋ยนหลานชายแย่งราชบัลลังก์ได้จากพระเจ้าโจฮวน ตั้งตัวเป็นกษัตริย์แล้ว
ได้สถาปนาสุมาอี้ขึ้นเป็นเซวียนตี้ (จักรพรรดิ) (เริ่มต้นราชวงศ์จิ้นตะวันตกตามประวัติศาสตร์จีน)

*เกร็ดความรู้ สุมาอี้ มีโหงวเฮ้งหมาจิ้งจอก ซึ่งเป็นลักษณะของคนไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจใคร โจโฉ เคยเดินตามสุมาอี้ แล้วเรียกสุมาอี้ สุมาอี้หันหน้ามาโดยไม่ได้เอี้ยวตัว เป็นลักษณะของ คนมีโหงวเฮ้งหมาจิ้งจอก โจโฉจึงระวังสุมาอี้ตั้งแต่นั้นมา
Silph
[ 26-03-2007 - 15:44:37 ]







ถังไท่จง จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง

หลี่ซื่อหมิน หรือ ที่เรารู้จักกันในนาม ถังไท่จง (唐太宗;ค.ศ.599-649) คือ ฮ่องเต้ผู้ถูกยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

เรื่องราวเริ่มตั้งแต่ที่ หลี่ยวน (李渊) หรือ ถังเกาจู่ (唐高祖) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังมีทายาทที่เกิดจากพระมเหสี 4 คน

คนแรกนาม หลี่เจี้ยนเฉิง (李建成)
คนที่สองนาม หลี่ซื่อหมิน (李世民)
คนที่สามนาม หลี่เสวียนป้า (李玄霸) เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปีดี
คนที่สี่นาม หลี่หยวนจี๋ (李元吉)

หลังจากราชวงศ์สุยสิ้นภายใต้เงื้อมมือของขุนนางตระกูลหลี่นำโดยหลี่ยวน เมื่อตั้งราชวงศ์ถังขึ้นได้สักพักหนึ่งถังเกาจู่ หลี่ยวนที่มีบุตรชายคนโต หลี่เจี้ยนเฉิง เป็นผู้คุมทัพซ้าย และบุตรชายคนรอง หลี่ซื่อหมิน เป็นผู้คุมทัพขวา ก็พระราชทานตำแหน่งให้บุตรทั้งสาม โดยแต่งตั้ง หลี่เจี้ยนเฉิงเป็นรัชทายาท หลี่ซื่อหมินเป็น ฉินอ๋อง (秦王) และหลี่หยวนจี๋เป็นฉีอ๋อง (齐王)

ด้วยความที่ทั้ง หลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่ซื่อหมิน ต่างเป็นผู้มีความสามารถ มักใหญ่ใฝ่สูง และต่างก็เปรียบเป็นมือซ้ายและมือขวาช่วยเหลือบิดาให้สามารถครองแผ่นดินได้สำเร็จด้วยกันทั้งคู่ ทำให้เกิดการเขม่นกันขึ้นมาระหว่างพี่-น้องจนกลายเป็น 'ศึกสายเลือด' ในที่สุด

พี่น้อง 3 คนถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่ง หลี่หยวนจี๋ก็เข้าข้างพี่ชายคนโตหลี่เจี้ยนเฉิง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง คือ หลี่ซื่อหมินนั้นถูกโดดเดี่ยว

มีนักประวัติศาสตร์จีนวิเคราะห์เอาไว้ว่าสาเหตุที่น้องเล็กหลี่หยวนจี๋ ที่ขึ้นชื่อในวรยุทธ์อันสูงส่งมาเข้ากับหลี่เจี้ยนเฉิงนั้น ประการหนึ่งก็เนื่องมาจาก หลี่หยวนจี๋มองเห็นว่า สติปัญญา ความสามารถและชื่อเสียงของหลี่ซื่อหมินนั้นเหนือกว่าตนมาก

หากตนเข้ากับฝ่ายหลี่ซื่อหมิน ถึงแม้จะปราบหลี่เจี้ยนเฉิงได้สำเร็จตนก็ไม่มีวันจะได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่หากตนร่วมมือกับพี่ใหญ่ปะทะกับพี่รอง ในภายภาคหน้าโอกาสขึ้นเป็นฮ่องเต้ของตนน่าจะมีสูงกว่า

ด้านพระบิดา หลี่ยวน เมื่อรับทราบถึงความขัดแย้งระหว่างพี่-น้อง ที่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็นศึกสายเลือดเช่นนี้ก็มิอาจเข้าข้างใครได้มาก

แต่ก็รู้สึกหวั่นพระทัยอยู่เช่นกันว่า หากปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม คือ บุตรคนโตจะต้องเป็นรัชทายาทเป็นผู้สืบราชวงศ์ ก็กลัวอีกว่า หลี่เจี้ยนเฉิงที่มีนิสัยลุ่มหลงในสุรานารีจะนำพาราชวงศ์ถังของตนไปสู่จุดจบอย่างรวดเร็วดังเช่นราชวงศ์สุยที่ หยางกว่าง (杨广) เล่นละครตบตาพระบิดา ฮ่องเต้สุยเหวินตี้ จนได้ตำแหน่งฮ่องเต้ ดังนั้นพระองค์จึงไม่ได้ออกหน้าห้ามปรามศึกสายเลือดครั้งนี้อย่างโจ่งแจ้งเท่าใดนัก*

กระบวนการรุกไล่ของพี่ใหญ่และน้องเล็ก ต่อพี่รองหลี่ซื่อหมินนั้น มีตั้งแต่การทูลพระบิดาขอกำลังพลของหลี่ซื่อหมินไปออกรบจนไปถึงการร่วมมือกับสนมคนโปรดของพระบิดาใส่ร้ายหลี่ซื่อหมินว่ากำลังคิดไม่ซื่อ วางแผนยึดอำนาจจากพระบิดา

จนกระทั่งวันหนึ่งของเดือน 6 ค.ศ.626 หลี่ซื่อหมินจึงจัดการรุกฆาต ถือโอกาสที่พี่ใหญ่-หลี่เจี้ยนเฉิง และน้องสาม-หลี่หยวนจี๋เดินทางเข้าวัง วางกำลังและมือสังหารซุ่มไว้ที่ประตูเสวียนอู่

จากนั้น จึงลงมือขั้นเด็ดขาดสังหารคนทั้งสองเสีย โดย หลี่ซื่อหมินนั้นเป็นคนยิงธนูสังหารพี่ชายแท้ๆ ของตนเอง ขณะที่ น้องเล็กผู้มีวิทยายุทธ์สูงล้ำนั้นถูกปลิดชีพโดยขุนพลคู่ใจของหลี่ซื่อหมินนาม เว่ยฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德)**

จากนั้นเว่ยฉือจิ้งเต๋อก็เข้ากราบทูลกับองค์ฮ่องเต้ถังเกาจู่ ว่ารัชทายาทหลี่เจี้ยนเฉิง กับองค์ชายหลี่หยวนจี๋นั้นก่อกบฎ แต่ถูกฉินอ๋องหลี่ซื่อหมิน ระแคะระคายเสียก่อนจึงจัดการไปเรียบร้อยแล้ว

ศึกสายเลือดแห่งราชวงศ์ถัง ครั้งนี้มีชื่อเสียงระบือจวบจนปัจจุบัน โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม เหตุการณ์ ณ ประตูเสวียนอู่เหมิน (玄武门之变)

เหตุการณ์ที่ประตูเสวียนอู่เหมินนี้เองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนส่งให้ฮ่องเต้ถังเกาจู่ต้องสละราชสมบัติในที่สุด อันเนื่องมาจากแรงกดดันที่มาจากหลี่ซื่อหมิน

โดยในปีต่อมา (ค.ศ.627) ฮ่องเต้ถังเกาจู่ก็สละราชสมบัติ และหลี่ซื่อหมินก็ขึ้นเป็นฮ่องเต้องค์ที่สองแห่งราชวงศ์ถัง นามว่า ถังไท่จง โดยใช้นามรัชสมัยว่า เจินกวน (贞观)

เพราะเหตุอันใดที่ทำให้หลี่ซื่อหมินตัดใจสังหารพี่-น้องร่วมท้องของตนเองได้อย่างไม่ลังเล?

หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เหตุการณ์ความขัดแย้งที่นำมาสู่การฆ่าพี่-ฆ่าน้อง จะว่าไปก็ถือเป็นการฝืนประเพณี ธรรมเนียม และระบบคุณธรรมของสังคมจีนอย่างใหญ่หลวง

ไม่ว่าจะมองผ่านแง่มุมของธรรมเนียมปฏิบัติในการให้บุตรชายคนโตสืบทอดอำนาจและทรัพย์สมบัติของตระกูล หรือ ในเชิงปรัชญาผ่านคำสอนของลัทธิขงจื๊อที่เน้นย้ำให้น้องเคารพต่อพี่ชายที่มีอาวุโสสูงกว่า อันเป็นสิ่งที่สังคมจีนยึดถือและเคร่งครัดมาจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผมคงเป็นได้เพียงนกกระจอกที่มิอาจหาญกล้าไปทำความเข้าใจถึงจิตใจของพญาอินทรี อย่าว่าแต่จะรู้ซึ้งไปถึงสถานการณ์ และบ่อเกิดของศึกสายเลือดที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอันห่างไกลเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว

ผมคงได้แต่เพียงตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบที่แท้จริง แต่ก็อาจเป็นด้วยสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ใครต่อใครกล่าวว่า ความเลือนลาง ความที่ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดนี่แลที่ทำ ประวัติศาสตร์จึงยังคงมีสเน่ห์ และน่าพิศวงสำหรับคนที่สนใจจะศึกษามัน ......

23 ปีของรัชสมัยเจินกวน ประเทศจีนภายใต้การปกครองของฮ่องเต้ถังไท่จง นับว่า มีความรุ่งเรืองก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดอีกยุคหนึ่ง (โดยในสมัยถังนอกจาก รัชสมัยเจินกวน (贞观之治) ของฮ่องเต้ถังไท่จง แล้วก็ยังมี รัชสมัยไคหยวน (开元盛世) ของฮ่องเต้ถังเสวียนจง (唐玄宗) ที่ประเทศจีนถือว่า รุ่งเรืองสุดขีดทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม)

ทั้งนี้เนื่องจากองค์ถังไท่จงฮ่องเต้แลเห็นว่า หลังจากผ่านช่วงความวุ่นวายในยุคเปลี่ยนราชวงศ์จากสุยมาเป็นถัง ประชาชนได้รับความลำบากอย่างมากและบ้านเมืองก็ทรุดโทรมอย่างหนักจากสงคราม

พระองค์จึงปรึกษาหารือกับบรรดาขุนนางเกี่ยวกับความรุ่งเรืองและล่มสลายของราชวงศ์ต่างๆ โดยเฉพาะ การนำเอาความล้มเหลวและความฟอนเฟะของฮ่องเต้สุยหยางตี้แห่งราชวงศ์สุย มาเป็นบทเรียน

ฮ่องเต้ถังไท่จงทรงเปรียบเปรยไว้ว่า แท้จริงแล้วผู้ปกครอง (สมัยนั้นหมายถึง ฮ่องเต้-กษัตริย์) นั้นเป็นเสมือนผู้พึ่งพาประชาชน***

น้ำทำให้เรือลอยขึ้นได้ ก็ย่อมสามารถทำให้เรือจมลงได้เช่นกัน
สุ่ยเหนิงไจ้โจว อี้เหนิงฟู่โจว
水能载舟,亦能覆舟


ทั้งยังเคยตรัสไว้ด้วยว่า

ผู้ปกครองจะต้องมีทั้งคุณธรรมและความสามารถประชาชนจึงจะยอมยกให้เป็นนาย เมื่อใดที่ผู้ปกครองไร้คุณธรรม ขาดความสามารถ ประชาชนก็จะทอดทิ้ง
โหย่วเต้าเจ๋อเหรินทุยเอ๋อเหวยจู่
อู๋เต้าเจ๋อเหรินชี่เอ๋อเหวยย่ง
有道则人推而为主
无道则人弃而为用


นอกจากนี้ ในความเห็นของฮ่องเต้ถังไท่จง ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม (有道之君) นั้น จะต้องไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เพิ่มภาระและลดการเบียดเบียนประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด

รวมถึงจะต้องเลือกใช้ขุนนางที่ใจซื่อมือสะอาดมาช่วยปกครองบ้านเมือง

ปรัชญาการปกครองเช่นนี้ในสมัยเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว นับว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อที่เน้น การใช้คุณธรรมในการปกครองประเทศ

โดยเมิ่งจื่อ (孟子:หนึ่งในปราชญ์จีนผู้สืบทอดแนวคิดต่อจากขงจื๊อ) มีคำสอนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึง ปรัชญาในการปกครองอันยิ่งใหญ่ระบุว่า

ประชาชนสำคัญที่สุด ประเทศชาติสำคัญรองลงมา ผู้ปกครอง(ฮ่องเต้) สำคัญน้อยที่สุด
หมินเหวยกุ้ย เส้อจี้ชื่อจือ จุนเหวยชิง
民为贵,社稷次之,君为轻****


ปรัชญาในการบริหารแผ่นดินของฮ่องเต้ถังไท่จง ถูกถ่ายทอดลงมาสู่ภาคปฏิบัติอย่างเห็นผลจนกระทั่งมีคำกล่าวว่าในช่วงเวลา 23 ปีของรัชสมัยเจินกวน (ค.ศ.626-649) การเมืองใสสะอาด สังคมมั่นคงปลอดภัย เศรษฐกิจรุ่งเรือง แสนยานุภาพของอาณาจักรแผ่ขยาย

นอกจากปรัชญาและวิธีการ ในการบริหารที่ยึดหลัก "ปกครองแผ่นดินโดยธรรม" แล้วนักประวัติศาสตร์จีนรุ่นต่อๆ มายังวิเคราะห์ถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินของ ฮ่องเต้ถังไท่จงไว้ด้วยว่า ยังมีปัจจัยหลักๆ อีกสองประการด้วยกันคือ

ประการแรก การให้โอกาสและเลือกใช้คนอย่างเหมาะสม

ขณะที่ยังเป็นฉินอ๋อง ถังไท่จงได้ ซื้อใจ-รวบรวม บัณฑิตทางบุ๋นเอาไว้มากมาย โดยเปิดหอวรรณกรรมให้บัณฑิตเหล่านี้ได้มาสนทนา-ถกเถียงเรื่องราวต่างๆ กันจนคนเหล่านี้ถูกขนานนามว่า สิบแปดบัณฑิต (十八学士) อย่างเช่น ฝังเสวียนหลิง (房玄龄) ตู้หรูฮุ่ย (杜如晦) บุคคลสองผู้นี้ถือว่าเป็นบัณฑิตคู่กายของถังไท่จงในเวลาต่อมา เป็นต้น

ขณะที่ในเชิงบู๊ ถังไท่จงก็ได้รวบรวมจอมยุทธ์เก่งๆ เข้ามาเป็นพรรคพวกหลายต่อหลายคน อย่างเช่น เว่ยฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德) ฉินฉง (秦琼 หรืออีกนามหนึ่งคือ ฉินซูเป่า (秦叔宝)) เป็นต้น

สำหรับ เว่ยฉือจิ้งเต๋อ และฉินฉง จอมยุทธ์สองคนนี้นอกจากจะจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะขุนพลเอกของฮ่องเต้ถังไท่จงแล้ว ต่อมายังปรากฎนามในนวนิยายอมตะอย่าง 'ไซอิ๋ว' อีกด้วย โดยในตอนหนึ่งระบุว่า

"ครั้งหนึ่งองค์ฮ่องเต้ถังไท่จงทรงประชวร และทรงพระสุบินไปว่าที่ประตูด้านนอกของตำหนักที่ประทับมีภูติผีมาร้องเรียกโหยหวน จนพระองค์รู้สึกไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง (ต่อมามีการเสริมแต่งเรื่องราวเล่าเพิ่มอีกว่าภูติผีที่ว่าก็ คือพระเชษฐา หลี่เจี้ยนเฉิง และพระอนุชา หลี่หยวนจี๋ ที่ถูกสังหาร ณ ประตูเสวียนอู่ - ผู้เขียน)

วันต่อมาเมื่อพระองค์ตรัสเรื่องนี้ให้บรรดาขุนนางทราบ ฉินฉงจึงอาสากับเว่ยฉือจิ้งเต๋อมาเฝ้าประตูพระตำหนักให้พระองค์ โดยหลังจากขุนพลสองคนนี้มาเฝ้าประตูตำหนักให้ฮ่องเต้ก็บรรทมอย่างเป็นสุข อย่างไรก็ตามการเรียกคนทั้งสองมาอยู่เวรยามให้ฮ่องเต้ทุกคืนเป็นเวลาติดต่อกันนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ฮ่องเต้ถังไท่จงจึงทรงรับสั่งให้ช่างหลวงวาดภาพขุนพลทั้งสองและปิดไว้ที่ประตูตำหนักแทน ..."

ด้วยความนิยมและอิทธิพลของเรื่องไซอิ๋วนี้เองทำให้ตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา ฉินฉง กับ เว่ยฉือจิ้งเต๋อ จึงค่อยๆ เปลี่ยนสถานะกลายเป็น 'เทพผู้คุ้มครองประตู (门神)' สำหรับชาวจีนไปในที่สุด

สำหรับการคัดเลือกคนเข้ามารับใช้พระองค์นั้น ฮ่องเต้ถังไท่จงมีหลักการอันเป็นที่เลื่องลืออยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ
ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเกิดที่ใด
ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเกิดในตระกูลเช่นไร
ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเป็นชนเผ่าไหน
และไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรูกับเราหรือไม่


โดยข้อสุดท้าย "ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรูกับเราหรือไม่" นั้น สาามารถพิสูจน์ได้จากหลักฐานที่ระบุว่ามีคนเก่งจำนวนมากมายที่แต่เดิมเคยสังกัดอยู่กับศัตรู แต่ในที่สุด หลี่ซื่อหมินก็ไม่คิดแค้นรับเข้ามาเป็นพวก

จนในเวลาต่อมาคนเหล่านี้ได้กลายเป็น ขุนนาง-ขุนพลคู่กายพระองค์ ยกตัวอย่างเช่น
ฉินฉง โดย ฉินฉง นอกจากเคยรับราชการให้ฮ่องเต้สุย แล้วยังเคยไปเข้าพวกกับ หลี่มี่ (李密) แห่งกองกำลังหว่ากัง (瓦岗)
รวมถึงหวังซื่อชง (王世充) อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วหนึ่งในจำนวน 'ปรปักษ์' ที่ต่อมากลายเป็น 'มิตร' ที่มีชื่อเสียงที่สุดนั้นก็รวมไปถึง ขุนนางผู้หนึ่งนาม เว่ยเจิง ด้วย

เคล็ดลับในการบริหารราชการแผ่นดินให้ อีกประการหนึ่งของฮ่องเต้ถังไท่จงก็คือ การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

สำหรับขุนนางที่ขึ้นชื่อที่สุดว่าถวายคำแนะนำให้แก่ ถังไท่จงอย่างตรงไปตรงมา ยึดความถูกต้องเป็นหลัก โดยมิได้คิดประจบสอพลอต่อองค์ฮ่องเต้นั้นก็คือ ขุนนางนักคิดและนักประวัติศาสตร์ผู้ทรนงแห่งราชวงศ์ถัง - - - เว่ยเจิง (魏征;ค.ศ.580-643)

เดิมทีเว่ยเจิง เป็นที่ปรึกษาของรัชทายาท หลี่เจี้ยนเฉิง (ก่อนหน้าเคยอยู่กับหลี่มี่ แห่งกองกำลังหว่ากัง เช่นกัน)

เมื่อเว่ยเจิงสังเกตเห็นว่า สติปัญญาของหลี่ซื่อหมินนั้นล้ำเลิศทั้งยังเริ่มสะสมกำลังเพื่อมาต่อกรกับรัชทายาท เว่ยเจิงจึงแนะนำให้หลี่เจี้ยนเฉิง วางยุทธศาสตร์จัดการกับหลี่ซื่อหมินอย่างจริงจัง แต่หลี่เจี้ยนเฉิงก็ยังตกลงปลงใจไม่ได้ว่าจะทำเช่นไรดีกับน้องชาย

ในเวลาต่อมา หลังจากเกิดเหตุการณ์ ณ ประตูเสวียนอู่แล้ว เว่ยเจิงจำก็ต้องเข้ามารับใช้รัชทายาทองค์ใหม่ โดยครั้งหนึ่ง หลี่ซื่อหมินได้ถามเว่ยเจิงตรงๆ ว่า

"เจ้าส่งเสริมให้พวกข้าพี่น้องต้องรบราฆ่าฟันกันเอง เพราะเหตุใด?"

เมื่อได้ยินเว่ยเจิงคำถามจากรัชทายาทองค์ใหม่ก็ตอบกลับอย่างไม่สะทกสะท้านว่า "หากรัชทายาทองค์ก่อนฟังคำจากเว่ยเจิง พระองค์ก็คงไม่ต้องจบชีวิตดังเช่นวันนี้"


สติปัญญา ความฉลาดเฉลียวและความซื่อตรงเช่นนี้นี่เองทำให้ หลี่ซื่อหมินถูกพระทัยในสติปัญญาของเว่ยเจิงเป็นอย่างมาก โดยหลังจากที่ครองราชย์แล้วโดยโปรดเกล้าฯ ให้เว่ยเจิงเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

ครั้งหนึ่งเมื่อฮ่องเต้ถังไท่จง ตรัสถามว่า ข้าจะแยกแยะถูก-ผิดได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกหลอก เว่ยเจิงจึงตอบว่า

ฟังรอบด้านย่อมพบความจริง ฟังด้านเดียวกลับกลายโง่งม
เจียนทิงเจ๋อหมิง เพียนซิ่นเจ๋ออ้าน
兼听则明,偏信则暗


ความหมายของเว่ยเจิงก็ คือ เป็นผู้ปกครองต้องเปิดใจรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ทุกด้าน จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของเรื่องราว และทำการตัดสินใจที่ถูกต้อง

แต่หากฟังความเพียงข้างเดียว ฟังแต่ข้อความที่ไพเราะเสนาะหู ย่อมทำให้ป้ำๆ เป๋อๆ นับวันยิ่งเลอะเลือน ส่งผลให้ได้ข้อสรุปที่ผิดพลาด การตัดสินใจก็ผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างถวายคำแนะนำด้วยความตรงไปตรงมาของเว่ยเจิง ความที่ไม่ยอมโอนอ่อนตามพระราชประสงค์ ทั้งยังมักจะเสนอความเห็นที่ไม่ค่อยจะเห็นแก่พระพักตร์เจ้าแผ่นดิน จนถึงขั้นหลู่พระเกียรติ ทำให้หลายต่อหลายครั้ง

องค์ฮ่องเต้ถังไท่จงเกือบจะลงโทษเว่ยเจิงถึงชีวิตอยู่แล้ว แต่ยังดีที่พระมเหสีขององค์ถังไท่จงนั้นเป็นสตรีที่เข้าอกเข้าใจและหวังดีต่อบ้านเมือง จึงช่วยทัดทานเอาไว้ได้

มีสถิติบันทึกไว้ว่าในช่วงที่รับใช้ฮ่องเต้ถังไท่จง เว่ยเจิงเสนอความคิดเห็นคัดค้านมากมายหลายร้อยเรื่อง โดยแต่ละเรื่องล้วนเป็นคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและองค์ฮ่องเต้อย่างมหาศาล

ขณะที่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่เว่ยเจิงยินยอมแม้แต่จะเอาศีรษะของตนเองเข้าแลก

เมื่อเว่ยเจิงเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.643 องค์ฮ่องเต้ถังไท่จง เสียพระทัยอย่างมาก จนถึงกับรับสั่งว่า

หากนำทองแดงมาส่องเป็นกระจก ก็จะสามารถจัดแจงเครื่องแต่งกายให้เป็นระเบียบได้
หากนำอดีตมาส่องเป็นกระจก ก็จะรับรู้ได้ถึงความรุ่งเรืองและล่มสลายของยุคสมัย
หากนำคนมาส่องเป็นกระจก ก็จะทราบถึงความสำเร็จและความผิดพลาด
ข้ามักจะใช้กระจกสามบานนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้า
วันนี้เมื่อเว่ยเจิงตายไป ข้าก็เหมือนขาดกระจกไปบานหนึ่ง
以铜为镜,可以正衣冠
以古为镜,可以见兴替
以人为镜,可以明得失
朕常保此三镜,以防己过
今魏征殂逝,遂亡一镜矣!*****

Silph
[ 26-03-2007 - 16:08:12 ]







เจงกิสข่าน และ กุบไลข่าน 2 จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์หยวน

อเล็กซานเดอร์อาจเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในแถบตะวันตก แต่หากเอ่ยถึงนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในทวีปเอเชียแล้ว ไม่มีใครไม่รู้จัก “เจงกิสข่าน” กษัตริย์นักรบที่ทำให้มองโกลกลายเป็นที่รู้จักของชาวโลก ว่ากันว่าจักรวรรดิของพระองค์มีขนาดใหญ่กว่าอเล็กซานเดอร์ถึงสี่เท่า

เจงกิสข่านเกิดเมื่อปี ค.ศ.1162 ในครอบครัวขุนศึกผู้น้อยในภาคกลางของมองโกเลีย ริมแม่น้ำรูเลน มีนามเดิมว่า “เตมูจิน” เมื่ออายุได้ 9 ขวบ คนในเผ่าคู่ปรับได้ฆ่าบิดาของพระองค์ ทำให้ครอบครัวของพระองค์ต้องลี้ภัยไปที่อื่น

ครอบครัวของเตมูจินต้องผจญกับทั้งความหนาวอันโหดร้าย การบุกปล้นค่ายของอีกเผ่า จนทำให้เตมูจินถูกจับตัวไปเป็นเชลยแต่สุดท้ายเขาก็สามารถหนีออกมาได้และกลับไปหาเผ่าของตน

เตมูจินกลายเป็นนักรบที่ดุดันเมื่ออายุได้เพียงสิบกว่าขวบ อายุยังไม่ถึง 20 พระองค์ก็เริ่มหล่อหลอมความร่วมมือท่ามกลางก๊กและเผ่าต่าง ๆ ของมองโกลด้วยวิธีทางการทูต แต่ความพยายามมาสำเร็จเอาเมื่อบอร์เท ภรรยาของพระองค์ถูกลักพาตัว จนต้องขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรเหล่านั้น

ค.ศ.1206 เตมูจินก็สามารถนำชาวมองโกลเป็นสหพันธ์เดียว และได้รับการขนานนามว่า “เจงกิสข่าน” ซึ่งมีความหหมายว่าสากลราชา

หลังจากนั้นเส้นทางการยึดครองก็เริ่มต้นขึ้น ปี ค.ศ.1209 ชาวมองโกลเริ่มปฏิบัติการทางทหารต่อมณฑลชีเชีย ซึ่งประกอบด้วยดินแดนส่วนใหญ่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และบางส่วนของธิเบต

การต่อสู้ดำเนินไปจนถึง ค.ศ.1210 ผู้ครองมณฑลชีเชียก็ยอมสิโรราบ ด้วยการรบอย่างเป็นระบบกองทัพของเจงกิสข่านก็พิชิตจีนทั้งหมด รวมทั้งแหลมซึ่งปัจจุบันคือประเทศเกาหลี

ก่อนจะหันไปทางตะวันตกเพื่อรบกับชาวเติร์กเมื่อราชทูตจำนวนหนึ่งถูกสังหาร

ไม่นานก็สามารถยึดภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยอิรัก อิหร่าน และภาคตะวันตกของเตอร์กิสถาน ต่อด้วยภาคเหนือของอินเดียและปากีสถาน ก่อนจะมาถึงรัสเซียและยึดครองดินแดนตั้งแต่อ่าวเปอร์เซียไปจนถึงมหาสมุทรอาร์คติก

ยุคสมัยของเจงกิสข่านจบลง ระหว่างการปราบกบฏในมณฑลชีเชียช่วง ค.ศ.1226 หลังพระองค์ตกจากหลังม้าจนได้รับความบอบช้ำภายในอย่างหนัก แต่กองทัพของพระองค์ก็สามารถเดินหน้ายึดครองเมืองหลวงของชีเชียได้เป็นผลสำเร็จ

แม้จักรวรรดิของเจงกิสข่านจะยิ่งใหญ่กินพื้นที่ 2 ทวีป แต่ก็ยังไม่เท่ากับอาณาเขตที่ “กุบไลข่าน” หลานชายที่สืบทอดมรดกต่อมาจากปู่

หลังจากปกครองแคว้นและเมืองต่าง ๆ มาได้ระยะหนึ่ง กุบไลข่านก็คิดการใหญ่ตัดสินใจที่จะพิชิตญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่ยอมก้มหัวให้

กุบไลข่านระดมกองเรือ 4,400 ลำ บรรทุกคน 140,000 คนมุ่งหน้าสู่เกาะญี่ปุ่น แต่แล้วจู่ ๆ เพียงคืนเดียวในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1281 กองเรือดังกล่าวและลูกเรือทั้งหมดกลับอันตรธานหายไป นับเป็นการสูญเสียชีวิตผู้คนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทางทะเล และเป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกผันชะตาโลกที่สำคัญ

กว่า 700 ปีที่กองเรือที่ว่าหายสาบสูญ เบื้องหลังจุดจบต่างถูกคาดเดาไปต่าง ๆ นา ๆ จนกระทั่งชาวประมงญี่ปุ่นคนหนึ่งได้พบวัตถุหนัก ๆ ซึ่งทำจากทองแดง และมีรอยจารึกแบบมองโกล

ด้วยความร่วมมือของเรือหาปลาลำนั้น ทีมงานนักโบราณคดีใต้น้ำนำโดย เคนโซ ฮายาชิดะ ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำแห่งสมาคมคิวชู โอกินาว่าเพื่อโบราณคดีใต้น้ำ พร้อมด้วยเจมส์ เดลกาโด้ แห่งพิพธภัณฑ์ชายฝั่งแวนคูเวอร์ เดินทางสู่อ่าวอิมาริห่างจากชายฝั่งญี่ปุ่นเพียง 3.2 กิโลเมตร

ที่นั่นพวกเขาได้ค้นพบซากอับปางของเรือมองโกลขนาดมหึมา ดาบเหล็กและหมวกเหล็กซึ่งมีการประดับประดา ซากศพมนุษย์ ลูกระเบิดดินเหนียวที่ยังไม่ระเบิด และสมอขนาดมหึมาสิบอันที่เต็มไปด้วยฝุ่นผง ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งยืนยันข้อสันนิษฐานของฮายาชิดะที่ว่า เรือเหล่านี้มาจากจีนช่วงศตวรรษที่ 13

เนื่องจากในสมัยนั้นจีนเป็นศูนย์กลางการต่อเรือของจักรวรรดิมองโกล แต่ที่น่าพิศวงมากกว่านั้นก็คือ ตำแหน่งของสมอที่บ่งบอกว่าเรือเหล่านี้จมลงอย่างรุนแรงมาก

ตำนานของญี่ปุ่นที่บอกว่า “กามิกาเซ่” หรือ “พลังของเทวดา” กวาดล้างการบุกจู่โจมของเรือลำนี้

แต่ผลการศึกษาของจูเลี่ยม เฮ็มมิ่ง ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกเรื่องพายุใต้ฝุ่นกลับพบว่า กองเรือนี้อาจตกเป็นเหยื่อของพายุใต้ฝุ่นที่รุนแรงกว่าปกติ หรือซุปเปอร์ใต้ฝุ่น

แต่ใต้ฝุ่นก็อาจไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น เพราะเครื่องใช้โบราณหน้าตาประหลาดบางอย่าง อาจบ่งชี้ถึงความผิดพลาดของมนุษย์หรือการทรยศหักหลัง

แม้รัชสมัยของกุบไลข่านจะจบลงอย่างน่าตื่นตะลึง แต่มรดกที่ทิ้งไว้อย่างการประดิษฐ์เงินกระดาษจนใช้แพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ หรือการสร้างเมืองใหม่สองเมืองอย่างเมืองทาทูหรือนครปักกิ่ง และเมืองชางทู เมืองหลวงแห่งใหม่ที่มีอีกชื่อว่าชานาตู และการนำกระแสศิลปะใหม่ ๆ มาสู่ประชาชนทำให้มองโกลยืนอยู่ในแถวหน้าของวัฒนธรรมโลก
Silph
[ 26-03-2007 - 16:27:20 ]







แนะนำอีกเรื่องครับ

จอมทัพสะท้านปฐพี (The Conqueror's Story)

โครงเรื่องเดียวกับเรื่องขุนศึกลำน้ำเลือด แต่ทำออกมาในรูปแบบที่เบาสมองกว่า

แนวหนัง ประวัติศาสตร์เชิงสงคราม
ความยาว 30 ตอน (20 แผ่น)

หนังแนวประวัติศาสตร์ครับ เล่าถึงการขึ้นบัลลังก์ของฮ่องเต้องค์แรกของราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นตะวันตก) (จักรพรรดิผู้ที่ได้บัลลังค์ โดยที่แท้จริงแล้วไม่ได้มีความปรารถนาขึ้นสู่อำนาจเลย)

นั่นก็คือ ฮั่นโกโจ หรือ ฮั่นเกาจู่ (รับบทโดย เจิ้งเส้าชิว)
โดยที่หนังเล่าถึงต้นเรื่อง นั่นคือ สมัยที่ฮั่นโกโจยังเป็นเพียงขุนนางสามัญ นาม เล่าปัง

ในตอนนั้นเป็นรัชสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งแผ่นดินกำลังอยู่ในช่วงยากแค้น เกิดความลำบากทั่วทุกหย่อมหญ้า

ตอนนั้นเอง ได้มีจอมทัพนาม เซี่ยงยี่ (เจียงหัว) กำลังรวบรวมกำลังพลเพื่อต่อต้านทหารฉิน และนั่นนำพาให้เขาได้รู้จักกับเล่าปัง

ในกาลต่อมา ทั้งคู่ได้คบหาร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ นับถือเป็นพี่น้อง จนโค่นฉินลงได้ แต่แล้วเรื่องลาภยศกลับทำให้ทั้งสองผิดใจกัน จนเกิดเป็นเรื่องราวความแค้นและชิงอำนาจอันเข้มข้น

ความสนุกมันเพิ่มขึ้นตามลำดับ ช่วงที่เล่าฟังกับเซี่ยงยี่เริ่มวางใจและเป็นพี่น้องกันนั้น มันดูสบายใจและเนื้อหาการยึดแผ่นดินก็เข้มข้น

แต่ความมันส์จะมาเริ่มจริงๆ ตอนที่เล่าปังดันเข้ายึดวังฉินได้ก่อน ทั้งๆ ทีไ่ด้ให้คำมั่นสัญญากับเซี่ยงยี่แล้วว่า แม้เขาจะถึงปากประตูวังก่อน แต่ก็จะไม่เข้าไป ทีนี้พอเข้าไปก่อนก็เป็นเรื่องสิครับ เซี่ยงยี่โกรธมากถึงขนาดกรีฑาทัพจะบุกมาสังหารพวกของเล่าปังทั้งหมด

ไอ้ช่วงนี้แหละครับ ที่ความมันส์ทวีความแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากที่ดูมา เล่าปังไม่สามารถสู้เซี่ยงยี่ได้เลย ที่เล่าปังขึ้นบัลลังก์ได้นั้น ก็เพราะมีสหายและคู่คิด ยอดฝีมืออยู่รอบข้าง

ดังนั้นพอถึงคราวจริงๆ หากเซี่ยงยี่เจอกับเล่าปังตัวต่อตัว ด้วยกำลังทหารในมือเล่าปังก็ตายตั้งแต่มุ้งยังไม่กางแล้วล่ะครับ ไอ้ความลุ้นมันก็อยู่ตรงนี้แหละ ว่าเล่าปังจะเจรจาอย่างไรกับเซี่ยงยี่ และในเวลาต่อมาคือ เล่าปังจะชิงบัลลังก์คืนมายังไง

เป็นอีกหนึ่งหนังที่ทำได้ดีครับ การแสดงเฉียบ การเดินเรื่องค่อนข้างเข้มข้น เพลงไตเติ้ลก็ฟังแล้วชวนฮึกเหิมยิ่ง รวมไปถึงที่มาของคำคมจีนหลายๆ คำ

ผมว่ามันดีตรงเนื้อหาที่เข้มข้นมากกว่า ส่วนเรื่องแง่คิดนั้น อาจยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก เพราะบางทีก็ดูเหมือนฮั่นโกโจขึ้นบัลลังก์ด้วยดวงมากกว่า

Silph
[ 26-03-2007 - 20:23:07 ]







สุดยอดวาทะของฮั่นโกโจฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นตะวันตก)

1. ฮั่นโกโจ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น เคยกล่าวไว้ว่า

"พูดถึงการวางแผน ข้าสู้จางเหลียงมิได้
จางเหลียงนั่งวางแผนอยู่ในกอง บัญชาการ แต่สามารถกำหนดชัยชนะไกลนับพันลี้

พูดถึงการปกครองประเทศชาติให้ร่มเย็นเป็นสุข ข้าสู้เซียวเหอมิได้
เซี่ยวเหอรู้จักเอาใจใส่ประชาราษฎร์สนองเสบียงกรังไม่สิ้น

พูดถึงการสู้รบ ข้าสู้หันซิ่นมิได้
หันซิ่นสามารถนำทหารนับหมื่นออกสู้รบอย่างกล้าหาญ รบคราใด ชนะครานั้น

บุคคลทั้งสามล้วนเป็นยอดคน แต่ข้าสามารถใช้งานคนทั้งสามได้
นี่คือเคล็ดลับในการได้บัลลังก์ของข้า"


ความหมายก็คือ คนที่เป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องเก่งรอบด้าน แต่ผู้นำที่แท้จริงจะต้องสามารถใช้คนที่มีความสามารถได้ต่างหาก

2. ต่อมา หันซิ่นถูกฮั่นโกโจหรือเล่าปังลดอำนาจทหาร จับจองจำ สุดท้ายก็ถูกสั่งประหาร ก่อนตายเขาถามว่าตนทำอะไรผิด เหตุใดต้องประหารด้วย ฮั่นโกโจตอบว่า "ท่านรบเก่งเกินไป เอาไว้ไม่ได้"

หันซิ่นคือผู้ที่รบชนะข้าศึกแย่งเอาแผ่นดินมาให้เล่าปัง นับแต่เล่าปังได้ตัวคนๆนี้มา สถานการณ์การรบก็พลิกหน้ามือเป็นหลังเท้า ดังนั้นเล่าปังย่อมระแวงเป็นเรื่องธรรมดา ว่าหันซิ่นจะแย่งเอาแผ่นดินนั้นมาเป็นของตนเอง

เรื่องนี้ตรงกับภาษิตที่ว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลและ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย

ขอเสริมอีกนิด

เตียวเหลียง... ต้องบอกว่าเป็นอัจฉริยะยอดคนขนานแท้ มองทะลุถึงตัวตนแท้จริงของเล่าปังจนหมด

เหตุที่เขาเลือกมารับใช้เล่าปังอาจเพราะมองว่า แผ่นดินขณะนั้นไม่มีใครมีคุณสมบัติที่จะรวมแผ่นดินเหมาะไปกว่าเขาอีก เพราะเซี่ยงอี่ที่มีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดก็โหดร้ายเหลือ

หากให้ปกครองแผ่นดินมีหวังกลายเป็นทรราชย์ได้ ตัวเลือกขณะนั้นเล่าปังที่มีพื้นเพจากชาวนา เป็นคนรู้จักใช้คนและอ่อนน้อมถ่อมตน จึงมีความเหมาะที่สุด

แต่ด้วยความที่มาจากชาวนานี่แหละ พอได้อำนาจมาก็ไม่เคยชินและกลัวว่าจะเสียไปจนกลายเป็นคนขี้ระแวง และสั่งฆ่าคนไปมากมาย

เตียวเหลียงทำนายได้ล่วงหน้า ดังนั้นพอเสร็จงานรวมแผ่นดินเลยชิ่งไปซะก่อน ที่กล้าชิ่งไปเพราะเขารู้ว่าหากเขาไป เซียวเหอจะได้เป็นนายก ซึ่งเซียวเหอนั้นเป็นคนจิตใจดีเหมาะแก่การค้ำจุนแผ่นดินภายใต้ฮ่องเต้ขี้ระแวงมากกว่า (แบบนี้เรียกว่า รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี)
Silph
[ 26-03-2007 - 20:39:05 ]







รายละเอียดการสิ้นสุดของราชวงศ์ฉิน และ การเกิดขึ้นของราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นตะวันตก)

(เป็นเค้าโครงเรื่องของนิยายเรื่อง "ขุนศึกลำน้ำเลือด")

กบฏเซี่ยงอี่และกบฏหลิวปัง

เซี่ยงอี่และหลิวปังเป็นแกนนำที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทมากในการต่อต้านราชวงศ์ฉิน แต่ละคนต่างมีภูมิหลังแตกต่างกันมาก

เซี่ยงอี่มีชาติกำเนิดเป็นชนชั้นสูงของรัฐฉู่ ร่วมกับผู้เป็นอา คือ เซี่ยงเหลียงสั่งสมกำลังทหารที่ ไคว่จี (เมืองซูโจว มณฑลเจียงซูปัจจุบัน) แล้วบุกทำลายกองทหารของพวกฉินเสียหายยับเยินที่ จิ้ว์ลู่ (อำเภอผิงเซียง มณฑลเหอเป่ยปัจจุบัน)

การรบชนะตลอดเส้นทางสู่เมืองเสียนหยางของเซี่ยงอี่สร้างชื่อเสียงเลื่องลือทั่วแผ่นดิน เขาประกาศตนเองว่าเป็นขุนทัพแห่งเจ้านครรัฐทั้งหมด

ส่วนหลิวปัง เป็นหัวหน้าชุมชนในอำเภอเพ่ย(อำเภอเพ่ยเซี่ยน มณฑลเจียงซูปัจจุบัน) สั่งสมกำลังทหารยึดอำนาจในอำเภอเพ่ยและบุกยึดด่านอู่กวน แล้วมุ่งหน้าสู่เสียนหยาง

ซึ่งขณะนั้นขันทีเจ้าเกาพยายามปิดบังสถานการณ์ย่ำแย่ของทหารจักรพรรดิ มิให้พระเจ้าฉินเอ้อร์ซื่อรับทราบ จนกระทั่งถึงเวลาคับขันเมื่อกบฏหลิวปังเข้าประชิดเมือง

ขันทีเจ้าเกาปลงพระชนม์จักรพรรดิ แล้วสถาปนาหลานของพระเจ้าฉินเอ้อร์ซื่อขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่มีพระนามว่า พระเจ้าจื่ออิง ต่อมากองทัพของหลิวปังใกล้จะบุกเข้าเมืองหลวงแล้ว พระองค์จึงสังหารขันทีเจ้าเกาและออกจากเมืองมายอมจำนนต่อหลิวปัง ซึ่งเขายอมไว้ชีวิตพระองค์แล้วสั่งขังไว้

ผู้ที่สังหารพระองค์คือ เซี่ยงอี่ ซึ่งนำกองทหารเข้าเมืองเสียนหยางทีหลังแล้วยังเผาพระราชวังเออผังกงมอดไหม้ทั้งหมด ราชวงศ์ฉินจึงล่มสลายลงอย่างสมบูรณ์หลังจากการรวมแผ่นดินของพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้จนถึงพระเจ้าจื่ออิงนั้นใช้เวลาปกครองแผ่นดินเพียง 15 ปีเท่านั้น


ศึกฌ้อปาอ๋องกับเจ้ารัฐฮั่น

เมื่อหลิวปังบุกเข้าเมืองเสียนหยางของราชวงศ์ฉินได้เป็นพวกแรก จึงประกาศยกเลิกกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของจักรพรรดิและประกาศปฏิญญากับชาวเมือง 3 ข้อ คือ

ทำร้ายร่างกายต้องถูกลงโทษ # ฆ่าคนต้องชดใช้ด้วยชีวิต # โจรกรรมทรัพย์สินต้องถูกลงโทษ

ด้วยพฤติกรรมของกองทัพหลิวปังซึ่งปฏิบัติตนเคร่งครัดในคำปฏิญญานี้จึงได้รับการสนับสนุนจากราษฎรมาก


แต่ด้วยความอ่อนด้อยกำลังด้านกองทัพเมื่อเทียบกับกองทหารของเซี่ยงอี่ซึ่งต้องการบุกเข้าเมืองเสียนหยางเช่นกัน

หลิวปังตัดสินใจถอยทัพไปตั้งมั่นยังด้านตะวันออกของเมืองเสียนหยางเพื่อรอคอยโอกาสทวงคืนอำนาจอีกครั้ง

ส่วนกองทัพของเซี่ยงอี่ ซึ่งเข้าเมืองเสียนหยางได้จึงทำการเผาพระราชวังและสังหารจักรพรรดิ ปล้นฆ่าราษฎรในเมือง อันสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอย่างหนัก

เซี่ยงอี่ตั้งตนเป็นเจ้าผู้นำแห่งฉู่ตะวันตก (ซีฉู่ป้าหวังหรือฌ้อปาอ๋อง) และปูนบำเหน็จตำแหน่งขุนนางแก่ผู้สนับสนุนชัยชนะของเขา รวมทั้งหลิวปังยังได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้ารัฐฮั่น

การกดขี่ข่มเหงราษฎรของทหารเซี่ยงอี่ สร้างโอกาสใหม่แก่หลิวปังในการวมเจ้านครรัฐซึ่งขุ่นแค้นเซี่ยงอี่มาทำสงครามต่อต้านกองทัพเซี่ยงอี่ ซึ่งใช้เวลานานถึง 5 ปี


สงครามตัดสินชะตาของฌ้อปาอ๋อง

ช่วงแรกของการทำสงครามระหว่างหลิวปังกับเซี่ยงอี่นั้น ความเข้มแข็งของทหารและความเก่งกล้าของเซี่ยงอี่ทำให้เขาได้รับชัยชนะต่อเนื่อง

ส่วนหลิวปังยึดครองดินแดนกวนจงซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของด่านหานอี้กวนอันอุดมสมบูรณ์และมีประชากรมาก จึงมีความแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้น หลิวปังยังรู้จักใช้บุคคลที่มีความสามารถด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนและแสดงความมีน้ำใจต่อพวกเขา ทำให้ผู้เก่งกล้าต่างยอมสยบและทุ่มเททำงานให้หลิวปัง

เมื่อเสบียงอาหารและบุคลากรมากความสามารถล้วนพร้อมสรรพ สงครามสุดท้ายซึ่งดับความฝันและชะตารุ่งเรืองของเซี่ยงอี่จึงเกิดขึ้นที่ ไกซย่า (อำเภอหลิว+++ มณฑลอานฮุยปัจจุบัน)เมื่อกองทัพหลิวปังล้อมกองทหารของเซี่ยงอี่ไว้

ต่อมา เซี่ยงอี่ตีฝ่าวงล้อมหนีไปถึงริมแม่น้ำอูเจียง (อำเภอเหอ มณฑลอานฮุยปัจจุบัน) ด้วยรู้ชะตาแห่งความพ่ายแพ้ใกล้มาเยือนและตนมิอาจยอมรับได้ เขาจึงเชือดคอตัวเองตายสงครามแย่งอำนาจระหว่างฉู่กับฮั่นจึงสิ้นสุดลง

หลิวปังได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์และเริ่มก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นซึ่งปกครองประเทศจีนเป็นเวลายาวนานและรุ่งเรืองอย่างมาก

โจ้
[ 27-03-2007 - 00:56:55 ]







ยาวแท้ คุณ Silph ขยันเอามาลงจริงๆ
Silph
[ 27-03-2007 - 08:31:09 ]







เพิ่มเติมอีกเรื่องครับ

แหม ตกหล่น เรื่องสนุกๆ อีกเรื่องของหวงอี้ ไปได้ยังไงเนี่ย

เรื่อง "เทพมารสะท้านภพ" ซึ่งเดิมชื่อเรื่อง "กระบี่พลิกเมฆา"

เทพมารสะท้านภพ (覆雨翻云, ภาษาอังกฤษ Lethal Weapons of Love and Passion) เป็นผลงานนิยายกำลังภายในเรื่องที่ 3 ของหวงอี้

นับเป็นเรื่องถัดจาก เหยี่ยวเหนือฟ้า และ ขุนศึกสะท้านปฐพี เริ่มเขียนเมื่อ พ.ศ. 2535 หลังจากนั้น จึงเขียนเรื่อง เจาะเวลาหาจิ๋นซี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว

หวงอี้ นับเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมาทดแทนนักเขียนรุ่นเก่าอย่างโกวเล้ง และกิมย้ง ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

สรุปงานเขียนของหวงอี้ จนถึงปัจจุบัน

1. เหยี่ยวเหนือฟ้า
เรื่องนี้ยังไม่มีข้อมูลแฮะ

2. ขุนศึกสะท้านปฐพี
ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงการสิ้นสุดของราชวงศ์ฉิน เริ่มต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

3. เทพมารสะท้านภพ
ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงราชวงศ์หมิง

4. เจาะเวลาหาจิ๋นซี
ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงยุครัฐสงคราม ต่อด้วยการก่อตั้งราชวงศ์ฉิน

5. มังกรคู่สู้สิบทิศ
ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงการสิ้นสุดราชวงศ์สุย เริ่มต้นราชวงศ์ถัง

6. จอมคนแผ่นดินเดือด
ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงราชวงศ์จิ้นตะวันออก กับ 16 แคว้นห้าชนเผ่า ต่อด้วย การเริ่มต้นของยุคราชวงศ์เหนือ - ใต้


เรื่องเทพมารสะท้านภพ

เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในสมัยต้นราชวงศ์หมิงยุคที่จูหยวนจางครองบัลลังก์

กล่าวถึง ปรมาจารย์มารผังปานท้าสู้กับ กระบี่คลุมวรุณ ล่างฟานหวิน มือกระบี่อันดับหนึ่งของฝ่ายมาร

พร้อมกันนั้นยังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมามากมาย ทั้งการกู้ราชวงศ์มองโกลของฟางเยี่ยหวี่

บวกกับเรื่องราวการเติบโตขึ้นเป็นจอมยุทธผู้กล้า 3 คน ได้แก่

1. เด็กกำพร้าหานป๋อเด็กรับใช้ที่พบเจอกับโชคอันมหัศจรรย์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นจอมยุทธ์ชั่วข้ามคืน สมญา "ผู้เสเพล หานป๋อ" พฤติกรรมเจ้าชู้เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว (โดยพื้นฐานเป็นคนดี แต่วิชาที่ฝึกมีรากฐานจากวิชามาร แถมการมีสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามเป็นการฝึกวิชา เพิ่มพูนพลังฝีมืออีกด้วย) มีภรรยามากมาย

2. ดาบไว ชิฉางเจิง ผู้ที่ต่อมากลายเป็นมือดาบอันดับหนึ่งในแผ่นดิน

3. ฟงสิงเลี่ย เจ้าของเพลงทวน "ไฟลามทุ่ง" อันเลื่องชื่อ ผู้ตกเป็นเหยื่อการฝึกวิชาสุดยอดของผังปาน คือ วิชา "ปลูกจิตธรรม เพาะสร้างมาร"

นอกจากนี้ ยังมีการเติมแต่งด้วยค่าย พรรค สำนักต่างๆ มากมาย ซึ่งต่อมา หวงอี้ใช้เป็นโครงเรื่องหลักในนิยายของเขาในเวลาต่อมา เช่น เรือนฌานเมตไตรย เป็นต้น

สนุกมั่กๆ




Silph
[ 27-03-2007 - 08:44:53 ]







อ๋า โทษที ข้อมูลผิดไปหน่อย

เรื่อง ขุนศึกสะท้านปฐพี เป็นเรื่องในยุคโจวตะวันออกหรือยุครัฐสงครามต่างหากล่ะ

เนื้อเรื่องเกิดในสมัยเลียดก๊ก (ยุคที่ประเทศจีนแบ่งเป็นก๊กต่างๆ มากมาย กินเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่จิ๋นซีฮ่องเต้จะรวมประเทศเป็นปึกแผ่นได้)

ตัวเอกที่เป็นคุณชายที่เก่งกาจวรยุทธแต่ไม่เคยออกรบร่วมกับบิดา และ พี่ๆ เลย ต่อมาครอบครัว พ่อแม่พี่น้องและญาติมิตร ถูกเสนาบดีใหญ่ของฮ่องเต้ปัจจุบัน ฆ่าล้างตระกูล จึงต้องระเห็จไปอาศัยอยู่ที่รัฐอื่น และมีโอกาสสวมรอยเป็น "ซุนวู" ยอดนักวางแผนการรบชื่อดังที่บังเอิญเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา

ตำราพิชัยสงครามของ "ซุนวู" เป็นตำราพิชัยสงครามที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมาก และ เป็นตำราที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

แม้แต่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันหลายคนยังเคยศึกษาตำราเล่มนี้ เพื่อเอามาปรับใช้ในด้านธุรกิจด้วย

วลีที่น่าจะติดปากกันอันหนึ่ง ก็คือ "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครา"
Silph
[ 27-03-2007 - 09:01:22 ]







ตำราพิชัยสงคราม "ซุนวู"

ข้อมูลที่มีหลงเหลืออยู่เกี่ยวกับชีวประวัติของซุนวู คือ ชีวประวัติที่เขียนขึ้นในช่วง 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดยนักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ซือหม่าเฉียน (Sima Qian)

ซือหม่าเฉียนได้บรรยายถึงซุนวูว่า เป็น แม่ทัพที่อาศัยอยู่ในรัฐวู ในช่วงประมาณ 600 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งอยุ่ในยุคเดียวกันกับ นักปรัชญาจีนผู้ยิ่งใหญ่ ขงจื๊อ

อย่างไรก็ตาม ชีวประวัตินี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น ๆ ของยุคนั้น รวมทั้งลักษณะการเขียน และ เนื้อหาของ ตำราพิชัยสงคราม ก็บ่งชี้ว่าไม่น่าจะเป็นงานที่เขียนขึ้นในช่วง 400-320 ปีก่อนคริสตกาล

งานเขียน ตำราพิชัยสงคราม ของซุนวูนี้ ได้ทิ้งเบาะแสเป็นนัย ๆ ถึงชีวิตของซุนวู เช่น รถม้าใช้ในการสงคราม ที่อธิบายโดยซุนวูนั้น มีการใช้เพียงแค่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในช่วงยุค 400 ปีก่อนคริสตกาล

ดังนั้นจึงถือว่าบางส่วนของงานเขียนนี้ก็อยู่ในช่วงเวลานั้น

นักวิชาการหลายคนได้สรุปว่า งานเขียนของซุนวูนั้นที่จริงแล้วถูกเขียนขึ้นโดยนักปรัชญาจีนไร้นาม และ ซุนวูก็ไม่ได้เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์


เนื้อหาโดยย่อเป็นดังนี้
ตำราพิชัยสงครามของซุนจู้ และเง่าคี้

บรรพ 1 ประมาณสถานการณ์
บรรพ 2 การทำศึก
บรรพ 3 ยุทธศาสตร์การรบรุก
บรรพ 4 ท่าที
บรรพ 5 กำลังพล
บรรพ 6 ความอ่อนแอ-เข้มแข็ง
บรรพ 7 การดำเนินกลยุทธ์
บรรพ 8 สิ่งผันแปร 9 ประการ
บรรพ 9 การเดินทัพ
บรรพ 10 ภูมิประเทศ
บรรพ 11 พื้นที่ต่างกัน 9 อย่าง
บรรพ 12 การโจมตีด้วยไฟ
บรรพ 13 การใช้สายลับ

ตัวอย่างพิชัยยุทธของซุนวู

รบร้อยชนะร้อย

ซุนวูกล่าวไว้ใน ตำราพิชัยสงคราม ว่า

การรบ ถ้ารู้จักการวางแผนที่ดีมีสิทธิที่จะชนะทุกร้อยครั้งเหมือนสิงโต ถ้าคราวใดที่ไม่สามารถจะล่าเหยื่อได้จะไม่ออกล่าเหยื่อ

ในสงคราม เมื่อมีการรู้กำลังของกองทัพของเราเอง รู้ความสามารถของแม่ทัพ รู้ความสามารถของกองทหารของฝ่ายเรา โอกาสรบชนะจะมีครึ่งหนึ่ง

เมื่อใดก็ตาม ที่เราเรียนรู้กองกำลังของข้าศึก เรียนรู้ความสามารถของแม่ทัพข้าศึก และรู้ความสามารถของกองทหารของข้าศึก

โอกาสรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็ไม่ไปไหนไกล


แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกรบ แม่ทัพไม่รู้กำลังของตัวเอง ไม่รู้กำลังของกองทหารตัวเอง ไม่ว่าจะออกรบกี่ครั้งก็ต้องแพ้ย่อยยับกลับมาทุกครั้ง

ศาสตร์ข้อนี้ได้มีการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่าง ทฤษฎี SWOT Analysis


ตีใกล้แสร้งไกล ตีไกลแสร้งใกล้

ซุนวูกล่าวไว้ใน ตำราพิชัยสงคราม ว่า เมื่อใดก็ตามที่จะรุกโจมตีเมืองที่ไกลห่างออกไป จงหลอกล่อให้ข้าศึกรู้ว่าเราจะตีเมืองอื่นที่ใกล้กับเรา หลอกให้ศัตรูคิดว่าเราไม่สามารถไปตีถึงเมืองนั้นได้

เมื่อคราใดที่เราเข้าโจมตี ศัตรูจะไหวตัวไม่ทันทำให้รบชนะได้อย่างง่ายดาย เฉกเช่นเดียวกับโจมตีเมืองที่อยู่ใกล้ แต่หลอกศัตรูว่าเราจะไปตีเมืองที่ไกลห่างออกไป

จงสู้รบให้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ไฟ - เมื่อยามบุก จงบุกให้เหมือนไฟ ให้รุกกระหน่ำให้โหมหนักไปเรื่อยเรื่อยจนทุกอย่างมอดไหม้

ภูเขา - เมื่อยามที่ตั้งรับ จงนิ่งสงบอย่างหุบเขา ไม่ให้ศัตรูจับได้ว่าเราซ่อนตัวอยู่ที่ไหน

ลม - เมื่อยามเคลื่อนทัพ จงเคลื่อนให้เหมือนสายลม รวดเร็วโดยไม่ทิ้งร่องรอย

ผู้ที่ปกครองห้ามทำผิดกฏ 3 ข้อดังต่อไปนี้ หากไม่ทำตามจะทำให้ประสบกับความพ่ายแพ้ได้

1. สั่งให้รุกขณะไม่ควรรุก หรือสั่งให้ถอยขณะเป็นต่อข้าศึก ทำให้กองทัพ ระส่ำระสาย

2. ไม่เข้าใจในกิจการของกองทัพ แต่สั่งการตามอำเภอใจ หรือสามัญสำนึกของตน ทำให้เหล่าขุนพลสับสน

3. ไม่เข้าใจหลักการผสมผสานการใช้กำลังทหารเหล่าต่าง ๆ ในการดำเนินกลยุทธ์ แต่เข้าแสดงบทผู้บัญชาการ ทำให้เหล่านายทหารเกิดความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ เมื่อเหล่าทัพต่าง ๆ ตกอยู่ในสภาพลังเล สงสัย สับสน ไม่แน่ใจก็เกิดความระส่ำระสายในกองทัพ ศัตรูก็ฉวยโอกาสนี้เข้ากระทำและได้รับชัยชนะ เป็นต่อฝ่ายเรา...

การนำกองทัพสู่ชัยชนะมีปัจจัย 5 ประการ คือ

1. รู้ว่าเมื่อใดควรรบ และไม่ควรรบ
2. รู้จักการออมกำลัง
3. นาย และพลทหารเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน
4. วางแผนและเตรียมการดี
5. มีขุนพลผู้ที่สามารถ และไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครอง

ที่กล่าวมา 5 ประการนี้ผู้ใดรู้จักใช้จะพบกับชัยชนะ

Silph
[ 27-03-2007 - 18:19:20 ]







มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมถึงไม่ได้กล่าวถึงนิยายของผู้แต่งนิยายกำลังภายในที่มีชื่อเสียงมากอีกท่านหนึ่งเลย

พูดถึงแต่หวงอี้ กับ กิมย้ง แต่ไม่มีโกวเล้ง มันเป็นไปได้ยังไง

ตอนแรกก็นึกสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันแหละ เลยไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมานิดหน่อย พอจะสรุปได้ประมาณนี้

ผู้แต่งทั้ง 3 ท่าน มีรูปแบบการแต่งนิยายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนี้

1. โกวเล้ง เรื่องที่ท่านแต่ง มักจะไม่ได้หยิบเอาประวัติศาสตร์จีนมาเป็นโครงเรื่อง

แต่จะเน้นไปในด้านของการนำเอาแนวคิด ปรัชญา หลักธรรมในการดำรงชีวิตมาสอดแทรกเข้าไปในตัวละครเป็นสำคัญ (ก็เลยทำให้นึกไม่ออกเสียทีว่า เป็นประวัติศาสตร์ช่วงไหนกันแน่)

นิยายของโกวเล้ง จึงทำให้ผู้อ่านรู้สึกซาบซึ้งในแนวคิด ปรัชญา หรือหลักธรรมในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และรู้สึกอิ่มเอมใจเสมอเมื่อคิดถึง


2. กิมย้ง จะมีการหยิบยกประเด็นสำคัญของประวัติศาสตร์มาเป็นแกนของเรื่อง แต่จะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดมากนัก

ตัวละครที่สร้างสรรขึ้นจะแสดงบทบาทเป็นแบบเบื้องหลังในประวัติศาสตร์ (จะได้ไม่มีการครหาว่า ทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไป) เช่น เรื่องมังกรหยก ทั้ง 3 ภาค

จากแนวคิดแบบนี้ การสร้างสรรตัวละครค่อนข้างเปิดกว้างและมีอิสระในการเขียนมากพอสมควร ทำให้นิยายของกิมย้งค่อนข้างมีสีสัน ดึงดูดใจ แถมยังมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ของชาติให้ย้อนรำลึงถึงอีกด้วย


3. หวงอี้ จะค่อนข้างเน้นเรื่องข้อเท็จจริงและรายละเอียดปลีกย่อยในประวัติศาสตร์สูงมาก ราวกับต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกถึงบรรยากาศในช่วงเวลานั้นของประวัติศาสตร์จริงๆ

นิยายของหวงอี้ จึงค่อนข้างที่จะมีตัวละครเยอะมาก และเป็นผู้ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ทั้งหมด

ความยากของหวงอี้ คือ การสร้างตัวละครอย่างไร ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และทำอย่างไรไม่ให้ตัวละครเหล่านั้นปรากฎชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่มีบทบาทเด่นมากในเรื่อง
Silph
[ 28-03-2007 - 00:11:17 ]







เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ

"แปดเทพอสูรมังกรฟ้า" เป็นผลงานลำดับที่ 11 ของกิมย้ง

ที่เขาตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ เพราะกิมย้งต้องการสร้างตัวละครขึ้นมาตามตำนานของพุทธศาสนานิกายมหายาน จำนวน 8 คน เพื่อเป็นตัวแทนของเทพและอมนุษย์ 8 จำพวก ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์เฉพาะตนแตกต่างกันไป ประกอบด้วย

1. เทพ เป็นผู้มีบุญกุศล อาศัยอยู่ในสวรรค์ที่พรั่งพร้อม และอิ่มทิพย์ ทว่า ยังไม่อาจละกิเลสจากโลกียสุข เช่น ยังอยากได้หญิงงามของอสูร เป็นต้น

2. อสูร เป็นอมนุษย์ในภพภูมิที่หยาบกว่าเทพ หากเป็นชายจะสุดอัปลักษณ์ หากเป็นหญิงจะมีรูปโฉมสะคราญ อสูรมักทำสงครามกับเทพบ่อยครั้ง เพราะต่างริษยาในกันและกัน อสูรอยากได้สวรรค์และความอิ่มทิพย์ของเทพ เทพอยากได้นางงามและภักษาหารรสโอชาของอสูร ต่างสัประยุทธ์กันจนฟ้าดินปั่นป่วน

3. มังกร หรือนาค เป็นผู้สืบทอดพิทักษ์ศาสนา เปรียบกับพระชั้นผู้ใหญ่ หรืออุปถัมภกคนสำคัญ

4. ครุฑ เป็นนกที่ยิ่งใหญ่ เมื่อกางปีกออกจะครอบคลุมดินฟ้าสามแสนหกหมื่นลี้ และมีฤทธิ์มาก สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้แผ่นดินและจักรวาลได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในหนึ่งวัน ต้องกินมังกร 1 ตัว และลูกมังกร 500 ตัวเป็นอาหาร มักกล่าวกันว่า วีรบุรุษคนสำคัญคือครุฑมาเกิด

5. ยักษ์ เป็นภูตประเภทหนึ่ง อยู่ระหว่างพรมแดนของเทพ อสูร และมนุษย์ มีความแข็งแรง คล่องแคล่ว เป็นกำลังที่เคลื่อนไหวได้ทั้งดีและชั่ว บางยักษ์ช่วยคุ้มครองมนุษย์ บางยักษ์ชอบจับมนุษย์กิน

6. คนธรรพ์ เป็นเทพมังสวิรัติ ไม่แตะต้องเนื้อสัตว์สุรา แต่หลงใหลในความงามและกลิ่นหอม ส่วนตนมีฉายาและกลิ่นหอมชวนให้ผู้คนลุ่มหลง ทั้งยังแปลงกายเปลี่ยนรูปได้สุดหยั่งคะเน

7. กินนร เป็นเทพที่ชอบร้องรำทำเพลง และสร้างสีสันสำราญใจให้แก่ชาวสวรรค์

8. มโหราค เป็นอมนุษย์ชั้นต่ำต้อยที่สุด บ้างมีลำตัวเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นงู บ้างมีลำตัวเป็นงู ศีรษะเป็นมนุษย์ มีฤทธิ์มาก แต่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วยนัก

แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ไม่สามารถสร้างสรรตัวละครได้ครบ 8 คนได้ตามที่ต้องการแต่อย่างใด (

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นับว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในผลงานของกิมย้งทั้งหมด เรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงเรื่องอุ้ยเสี่ยวป้อเรื่องเดียวเท่านั้น)
Silph
[ 28-03-2007 - 00:25:19 ]







ต่ออีกนิด

หากจะลองเทียบเคียง เทพอสูร 8 เหล่า เป็นตัวละครต่างๆ อาจเปรียบได้ ดังต่อไปนี้

1. เทพ คือ ต้วนเจิ้งหมิง-ฮ่องเต้ต้าหลี่ ต้วนเจิ้งฉุน-อ๋องต้าหลี่ และ เยลุกี-ฮ่องเต้ต้าเหลียว เป็นผู้มีบุญบารมี แต่ยังไม่อาจละวาสนาติดพัน เช่น ต้วนเจิ้งหมิงไม่อาจละพันธะที่ผิดต่อต้วนเหยียนชิ่ง ต้วนเจิ้งฉุนไม่อาจละหญิงงามได้สักนาง และเยลุกีก็อยากรุกรานแผ่นดินต้าซ้อง

2. อสูร คือ ต้วนเหยียนชิ่ง-ผู้ถูกตัดสิทธิ์ในบัลลังก์ต้าหลี่อย่างไม่เป็นธรรม มู่หยงป๋อกับมู่หยงฟู่-บุตรชาย ยึดมั่นกับอาณาจักรที่ล่มสลายไปแล้ว จึงสร้างเวรก่อกรรมเพื่อทวงคืนสิ่งนั้น

3. มังกร คือ เจ้าอาวาสวัดเทียนหลง ซึ่งชักนำต้วนเจิ้งหมิงให้สละบัลลังก์ใฝ่หาความสงบทางธรรม หรือเสียนขู่ไต้ซือแห่งวัดเส้าหลิน สมณะผู้สั่งสอนวิทยายุทธ์และปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เฉียวฟง และอู๋หมิงไต้ซือ ช่วยคลี่คลายความแค้นระหว่างเซียวหยวนซานกับมู่หยงป๋อ

4. ครุฑ คือ เฉียวฟง-ยอดคนผู้ยิ่งใหญ่และรันทด

5. ยักษ์ู คือ เหล่าจอมยุทธ์ฝีมือร้ายกาจ บ้างดี บ้างร้าย บ้างทั้งดีและร้าย อย่างบรรดาชาวยุทธ์ที่บางครั้งถูกปลุกปั่นให้ทำร้ายคนบริสุทธิ์ด้วยความเข้าใจผิด

6. คนธรรพ์ คือ ต้วนอี้-ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เพียงหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหมือนกับซีจุ๊-หลวงจีนที่ทำผิดวินัยสงฆ์โดยไม่ตั้งใจ ต่อมาได้เป็นราชบุตรเขยของอาณาจักรซี่เซี่ย

7. กินนร คือ เหล่านางงามของต้วนเจิ้งฉุน และบุตรสาวทั้งหลายของเขา ซึ่งงามหยดย้อย แต่ชีวิตเป็นทุกข์นัก เพราะต่างไม่อาจครองรักไว้คนเดียว

8. มโหราค คือ โหยวตั้นจือ เป็นคนมีฝีมือ แต่น่าสงสารที่สุด เพราะขาดปัญญาชี้นำที่ถูกต้อง เขาหลงใหลในสตรีนางหนึ่ง แต่นางกลับทำลายใบหน้าของเขาจนอัปลักษณ์ และเอาเปรียบโดยตลอด
Silph
[ 28-03-2007 - 08:57:39 ]







ตอนนี้ จะขอพูดถึง ภาพยนตร์ / ละครโทรทัศน์ / การ์ตูน ที่นำเอานิยายต้นฉบับมาดัดแปลงได้แย่สุดๆ บ้าง (อันนี้ ความเห็นส่วนตัวนะ)

เรื่องที่ว่า คือ "ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า"

หลังจากได้ดูภาพยนตร์ / ละคร (เฉพาะช่วงแรกๆ)

ทำเอาหมดอารมณ์ดูหนังกำลังภายในไปพักใหญ่เลย เสียอารมณ์แบบสุดๆ ไม่ได้อารมณ์แม้แต่สักเสี้ยวเดียวของตัวต้นฉบับเลย (ยังกะฟ้ากับเหว)

ในส่วนของภาพยนตร์ ทำได้แย่ที่สุด (เสียอรรถรสโดยสิ้นเชิง อยากเห็นหน้าคนดัดแปลงบทภาพยนตร์มั่กๆ เรื่องหลังๆ จะได้ไม่ไปดูอีก)

ในส่วนของละครโทรทัศน์ / การ์ตูน แย่น้อยลงมาหน่อย

เรื่อง "ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า" ดัดแปลงมาจากนิยายขายดี (สนุกมั่กๆ ซึ้งสุดคำบรรยาย ตอนอ่านน้ำตาไหลพรากไปหลายยก)ชุด "วาตะ เมฆา" ประกอบด้วย 4 ภาคย่อย ได้แก่

ภาค 1 วาตะ เมฆา (2 เล่มจบ)

ภาคนี้ จะกล่าวถึงที่มาของ 2 ตัวเอกของเรื่อง คือ เนี่ยฟง (เนี่ยเป็นแซ่ ชื่อฟง แปลว่า ลม) กับ โป่วเกียฮุ้น (โป่วเป็นแซ่ ชื่อเกียฮุ้น แปลว่า สะท้านเมฆา)

เนี่ยฟง

เป็นบุตรชายของ "ดาบคลุ้มดื่มอุดร" จอมดาบที่มีชื่อเสียงมาก

ฝึกเคล็ดวิชาใจน้ำแข็งตั้งแต่ยังเด็ก (แต่ผู้เป็นพ่อไม่ยอมสอนวิทยายุทธให้ เพราะต้องการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างสงบ ทำไร่ทำนาอยู่ในชนบท)

แม่หนีตามชายอื่นไป (แท้จริงที่เธอยอมแต่งงานกับพ่อของเนื่ยฟง เพราะต้องการเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม)

จากการที่ภรรยาหนีไป ทำให้ "ดาบคลุ้มดื่มอุดร" คลุ้มคลั่งเสียสติ (เป็นโรคประจำตัวของตระกูล) ฆ่าคนเป็นผักปลา ท้ายสุด ปกป้องลูกจาก "กิเลนไฟ" สาบสูญไปโดยไม่ทราบชะตากรรม

จากนั้น ถูกรับตัวเข้าพรรคของฮ้งป่า เพราะมีชื่อว่า "ลม หรือ วาตะ" เนื่องจากฮ้งป่าได้รับคำทำนายว่า จะก้าวขึ้นเป็นจ้าวยุทธภพ หากได้ "วาตะ และ เมฆา"

เนี่ยฟงไม่ยอมทำงานให้ฮ้งป่าเลยในช่วงแรก แต่หลังจากวีรกรรมของโป่วเกียฮุ้นและความต้องการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภับ

จึงยอมทำงานให้ในที่สุด (แม้ว่าจะทำงานให้ แต่เนี่ยฟงไม่ยอมสังหารศัตรูแม้แต่คนเดียว)


โป่วเกียฮุ้น

อยู่กับแม่ 2 คนตั้งแต่ยังเด็ก พ่อออกไปหาอะไรสักอย่างไม่แน่ใจ ตั้งแต่แม่ยังอุ้มท้องอยู่ พอกลับมา ไม่กี่วันก็ตาย

(ในวันที่พ่อตาย แม่ของโป่วเกียฮุ้นไม่พอใจที่บุตรชายไม่ร้องไห้ที่พ่อตาย พาลรังเกียจลูกตัวเองตั้งแต่นั้น (เด็ก 3 - 4 ขวบที่เพิ่งเห็นหน้าพ่อได้ไม่กี่วัน จะให้ร้องไห้ได้ไงฟะ)

ต่อมา แม่ของโป่วเกียฮุ้นแต่งงานใหม่กับเจ้าบ้านตระกูล "คัก" โป่วเกียฮุ้นจึงได้ชื่อใหม่ว่า "คักเกียกัก" ต่อมาพ่อบุญธรรมถูกสังหารล้างตระกูล

โป่วเกียฮุ้น แฝงตัวเข้าพรรคของฮ้งป่า เพื่อล้างแค้นให้พ่อบุญธรรม

ได้รับการถ่ายทอดสุดยอดวิชา 1 ท่าจากบ้อเมี้ย (แปลว่า นิรนาม ยอดคนผู้ไร้นามที่มีเบื้องหลังชีวิตที่แสนเศร้าและน่าประทับใจมาก) ชื่อ "คับแค้นเหลือคณา"

โป่วเกียฮุ้นสร้างชื่ออย่างมากในการทำงานให้กับฮ้งป่า สร้างชื่อเสียงไปทั่ว ได้สมญาว่า "เทพมฤตยูไม่ร่ำไห้"

ตอนจบภาค 1 โป่วเกียฮุ้นได้เสียสละตนเอง ช่วยเหลือชาวบ้านจากภัยน้ำป่า จนหายสาญสูญไร้ร่องรอย

ที่จริงเกือบเสียชีวิต แต่มีหญิงสาวผู้หนึ่งช่วยเหลือเอาไว้และสูญเสียความทรงจำ นำไปสู่เรื่องราวในภาค 2 ท้าเทวะ ที่เป็นเรื่องราวที่เน้นเรื่องของโป่วเกียฮุ้นเป็นหลัก

(ยังมีต่อ)
ต้องสมัครเป็นสมาชิกและ login เข้าสู่ระบบก่อนถึงจะสามารถลงความเห็นได้

เว็บนี้มีการใช้งาน cookie
ยอมรับ
ไม่ยอมรับ