Silph | [ 26-03-2007 - 15:44:37 ] |
---|---|
![]() | ![]() ![]() ถังไท่จง จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง
หลี่ซื่อหมิน หรือ ที่เรารู้จักกันในนาม ถังไท่จง (唐太宗;ค.ศ.599-649) คือ ฮ่องเต้ผู้ถูกยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เรื่องราวเริ่มตั้งแต่ที่ หลี่ยวน (李渊) หรือ ถังเกาจู่ (唐高祖) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังมีทายาทที่เกิดจากพระมเหสี 4 คน คนแรกนาม หลี่เจี้ยนเฉิง (李建成) คนที่สองนาม หลี่ซื่อหมิน (李世民) คนที่สามนาม หลี่เสวียนป้า (李玄霸) เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปีดี คนที่สี่นาม หลี่หยวนจี๋ (李元吉) หลังจากราชวงศ์สุยสิ้นภายใต้เงื้อมมือของขุนนางตระกูลหลี่นำโดยหลี่ยวน เมื่อตั้งราชวงศ์ถังขึ้นได้สักพักหนึ่งถังเกาจู่ หลี่ยวนที่มีบุตรชายคนโต หลี่เจี้ยนเฉิง เป็นผู้คุมทัพซ้าย และบุตรชายคนรอง หลี่ซื่อหมิน เป็นผู้คุมทัพขวา ก็พระราชทานตำแหน่งให้บุตรทั้งสาม โดยแต่งตั้ง หลี่เจี้ยนเฉิงเป็นรัชทายาท หลี่ซื่อหมินเป็น ฉินอ๋อง (秦王) และหลี่หยวนจี๋เป็นฉีอ๋อง (齐王) ด้วยความที่ทั้ง หลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่ซื่อหมิน ต่างเป็นผู้มีความสามารถ มักใหญ่ใฝ่สูง และต่างก็เปรียบเป็นมือซ้ายและมือขวาช่วยเหลือบิดาให้สามารถครองแผ่นดินได้สำเร็จด้วยกันทั้งคู่ ทำให้เกิดการเขม่นกันขึ้นมาระหว่างพี่-น้องจนกลายเป็น 'ศึกสายเลือด' ในที่สุด พี่น้อง 3 คนถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่ง หลี่หยวนจี๋ก็เข้าข้างพี่ชายคนโตหลี่เจี้ยนเฉิง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง คือ หลี่ซื่อหมินนั้นถูกโดดเดี่ยว มีนักประวัติศาสตร์จีนวิเคราะห์เอาไว้ว่าสาเหตุที่น้องเล็กหลี่หยวนจี๋ ที่ขึ้นชื่อในวรยุทธ์อันสูงส่งมาเข้ากับหลี่เจี้ยนเฉิงนั้น ประการหนึ่งก็เนื่องมาจาก หลี่หยวนจี๋มองเห็นว่า สติปัญญา ความสามารถและชื่อเสียงของหลี่ซื่อหมินนั้นเหนือกว่าตนมาก หากตนเข้ากับฝ่ายหลี่ซื่อหมิน ถึงแม้จะปราบหลี่เจี้ยนเฉิงได้สำเร็จตนก็ไม่มีวันจะได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่หากตนร่วมมือกับพี่ใหญ่ปะทะกับพี่รอง ในภายภาคหน้าโอกาสขึ้นเป็นฮ่องเต้ของตนน่าจะมีสูงกว่า ด้านพระบิดา หลี่ยวน เมื่อรับทราบถึงความขัดแย้งระหว่างพี่-น้อง ที่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็นศึกสายเลือดเช่นนี้ก็มิอาจเข้าข้างใครได้มาก แต่ก็รู้สึกหวั่นพระทัยอยู่เช่นกันว่า หากปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม คือ บุตรคนโตจะต้องเป็นรัชทายาทเป็นผู้สืบราชวงศ์ ก็กลัวอีกว่า หลี่เจี้ยนเฉิงที่มีนิสัยลุ่มหลงในสุรานารีจะนำพาราชวงศ์ถังของตนไปสู่จุดจบอย่างรวดเร็วดังเช่นราชวงศ์สุยที่ หยางกว่าง (杨广) เล่นละครตบตาพระบิดา ฮ่องเต้สุยเหวินตี้ จนได้ตำแหน่งฮ่องเต้ ดังนั้นพระองค์จึงไม่ได้ออกหน้าห้ามปรามศึกสายเลือดครั้งนี้อย่างโจ่งแจ้งเท่าใดนัก* กระบวนการรุกไล่ของพี่ใหญ่และน้องเล็ก ต่อพี่รองหลี่ซื่อหมินนั้น มีตั้งแต่การทูลพระบิดาขอกำลังพลของหลี่ซื่อหมินไปออกรบจนไปถึงการร่วมมือกับสนมคนโปรดของพระบิดาใส่ร้ายหลี่ซื่อหมินว่ากำลังคิดไม่ซื่อ วางแผนยึดอำนาจจากพระบิดา จนกระทั่งวันหนึ่งของเดือน 6 ค.ศ.626 หลี่ซื่อหมินจึงจัดการรุกฆาต ถือโอกาสที่พี่ใหญ่-หลี่เจี้ยนเฉิง และน้องสาม-หลี่หยวนจี๋เดินทางเข้าวัง วางกำลังและมือสังหารซุ่มไว้ที่ประตูเสวียนอู่ จากนั้น จึงลงมือขั้นเด็ดขาดสังหารคนทั้งสองเสีย โดย หลี่ซื่อหมินนั้นเป็นคนยิงธนูสังหารพี่ชายแท้ๆ ของตนเอง ขณะที่ น้องเล็กผู้มีวิทยายุทธ์สูงล้ำนั้นถูกปลิดชีพโดยขุนพลคู่ใจของหลี่ซื่อหมินนาม เว่ยฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德)** จากนั้นเว่ยฉือจิ้งเต๋อก็เข้ากราบทูลกับองค์ฮ่องเต้ถังเกาจู่ ว่ารัชทายาทหลี่เจี้ยนเฉิง กับองค์ชายหลี่หยวนจี๋นั้นก่อกบฎ แต่ถูกฉินอ๋องหลี่ซื่อหมิน ระแคะระคายเสียก่อนจึงจัดการไปเรียบร้อยแล้ว ศึกสายเลือดแห่งราชวงศ์ถัง ครั้งนี้มีชื่อเสียงระบือจวบจนปัจจุบัน โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม เหตุการณ์ ณ ประตูเสวียนอู่เหมิน (玄武门之变) เหตุการณ์ที่ประตูเสวียนอู่เหมินนี้เองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนส่งให้ฮ่องเต้ถังเกาจู่ต้องสละราชสมบัติในที่สุด อันเนื่องมาจากแรงกดดันที่มาจากหลี่ซื่อหมิน โดยในปีต่อมา (ค.ศ.627) ฮ่องเต้ถังเกาจู่ก็สละราชสมบัติ และหลี่ซื่อหมินก็ขึ้นเป็นฮ่องเต้องค์ที่สองแห่งราชวงศ์ถัง นามว่า ถังไท่จง โดยใช้นามรัชสมัยว่า เจินกวน (贞观) เพราะเหตุอันใดที่ทำให้หลี่ซื่อหมินตัดใจสังหารพี่-น้องร่วมท้องของตนเองได้อย่างไม่ลังเล? หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เหตุการณ์ความขัดแย้งที่นำมาสู่การฆ่าพี่-ฆ่าน้อง จะว่าไปก็ถือเป็นการฝืนประเพณี ธรรมเนียม และระบบคุณธรรมของสังคมจีนอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะมองผ่านแง่มุมของธรรมเนียมปฏิบัติในการให้บุตรชายคนโตสืบทอดอำนาจและทรัพย์สมบัติของตระกูล หรือ ในเชิงปรัชญาผ่านคำสอนของลัทธิขงจื๊อที่เน้นย้ำให้น้องเคารพต่อพี่ชายที่มีอาวุโสสูงกว่า อันเป็นสิ่งที่สังคมจีนยึดถือและเคร่งครัดมาจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผมคงเป็นได้เพียงนกกระจอกที่มิอาจหาญกล้าไปทำความเข้าใจถึงจิตใจของพญาอินทรี อย่าว่าแต่จะรู้ซึ้งไปถึงสถานการณ์ และบ่อเกิดของศึกสายเลือดที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอันห่างไกลเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ผมคงได้แต่เพียงตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบที่แท้จริง แต่ก็อาจเป็นด้วยสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ใครต่อใครกล่าวว่า ความเลือนลาง ความที่ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดนี่แลที่ทำ ประวัติศาสตร์จึงยังคงมีสเน่ห์ และน่าพิศวงสำหรับคนที่สนใจจะศึกษามัน ...... 23 ปีของรัชสมัยเจินกวน ประเทศจีนภายใต้การปกครองของฮ่องเต้ถังไท่จง นับว่า มีความรุ่งเรืองก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดอีกยุคหนึ่ง (โดยในสมัยถังนอกจาก รัชสมัยเจินกวน (贞观之治) ของฮ่องเต้ถังไท่จง แล้วก็ยังมี รัชสมัยไคหยวน (开元盛世) ของฮ่องเต้ถังเสวียนจง (唐玄宗) ที่ประเทศจีนถือว่า รุ่งเรืองสุดขีดทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม) ทั้งนี้เนื่องจากองค์ถังไท่จงฮ่องเต้แลเห็นว่า หลังจากผ่านช่วงความวุ่นวายในยุคเปลี่ยนราชวงศ์จากสุยมาเป็นถัง ประชาชนได้รับความลำบากอย่างมากและบ้านเมืองก็ทรุดโทรมอย่างหนักจากสงคราม พระองค์จึงปรึกษาหารือกับบรรดาขุนนางเกี่ยวกับความรุ่งเรืองและล่มสลายของราชวงศ์ต่างๆ โดยเฉพาะ การนำเอาความล้มเหลวและความฟอนเฟะของฮ่องเต้สุยหยางตี้แห่งราชวงศ์สุย มาเป็นบทเรียน ฮ่องเต้ถังไท่จงทรงเปรียบเปรยไว้ว่า แท้จริงแล้วผู้ปกครอง (สมัยนั้นหมายถึง ฮ่องเต้-กษัตริย์) นั้นเป็นเสมือนผู้พึ่งพาประชาชน*** น้ำทำให้เรือลอยขึ้นได้ ก็ย่อมสามารถทำให้เรือจมลงได้เช่นกัน สุ่ยเหนิงไจ้โจว อี้เหนิงฟู่โจว 水能载舟,亦能覆舟 ทั้งยังเคยตรัสไว้ด้วยว่า ผู้ปกครองจะต้องมีทั้งคุณธรรมและความสามารถประชาชนจึงจะยอมยกให้เป็นนาย เมื่อใดที่ผู้ปกครองไร้คุณธรรม ขาดความสามารถ ประชาชนก็จะทอดทิ้ง โหย่วเต้าเจ๋อเหรินทุยเอ๋อเหวยจู่ อู๋เต้าเจ๋อเหรินชี่เอ๋อเหวยย่ง 有道则人推而为主 无道则人弃而为用 นอกจากนี้ ในความเห็นของฮ่องเต้ถังไท่จง ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม (有道之君) นั้น จะต้องไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เพิ่มภาระและลดการเบียดเบียนประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงจะต้องเลือกใช้ขุนนางที่ใจซื่อมือสะอาดมาช่วยปกครองบ้านเมือง ปรัชญาการปกครองเช่นนี้ในสมัยเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว นับว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อที่เน้น การใช้คุณธรรมในการปกครองประเทศ โดยเมิ่งจื่อ (孟子:หนึ่งในปราชญ์จีนผู้สืบทอดแนวคิดต่อจากขงจื๊อ) มีคำสอนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึง ปรัชญาในการปกครองอันยิ่งใหญ่ระบุว่า ประชาชนสำคัญที่สุด ประเทศชาติสำคัญรองลงมา ผู้ปกครอง(ฮ่องเต้) สำคัญน้อยที่สุด หมินเหวยกุ้ย เส้อจี้ชื่อจือ จุนเหวยชิง 民为贵,社稷次之,君为轻**** ปรัชญาในการบริหารแผ่นดินของฮ่องเต้ถังไท่จง ถูกถ่ายทอดลงมาสู่ภาคปฏิบัติอย่างเห็นผลจนกระทั่งมีคำกล่าวว่าในช่วงเวลา 23 ปีของรัชสมัยเจินกวน (ค.ศ.626-649) การเมืองใสสะอาด สังคมมั่นคงปลอดภัย เศรษฐกิจรุ่งเรือง แสนยานุภาพของอาณาจักรแผ่ขยาย นอกจากปรัชญาและวิธีการ ในการบริหารที่ยึดหลัก "ปกครองแผ่นดินโดยธรรม" แล้วนักประวัติศาสตร์จีนรุ่นต่อๆ มายังวิเคราะห์ถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินของ ฮ่องเต้ถังไท่จงไว้ด้วยว่า ยังมีปัจจัยหลักๆ อีกสองประการด้วยกันคือ ประการแรก การให้โอกาสและเลือกใช้คนอย่างเหมาะสม ขณะที่ยังเป็นฉินอ๋อง ถังไท่จงได้ ซื้อใจ-รวบรวม บัณฑิตทางบุ๋นเอาไว้มากมาย โดยเปิดหอวรรณกรรมให้บัณฑิตเหล่านี้ได้มาสนทนา-ถกเถียงเรื่องราวต่างๆ กันจนคนเหล่านี้ถูกขนานนามว่า สิบแปดบัณฑิต (十八学士) อย่างเช่น ฝังเสวียนหลิง (房玄龄) ตู้หรูฮุ่ย (杜如晦) บุคคลสองผู้นี้ถือว่าเป็นบัณฑิตคู่กายของถังไท่จงในเวลาต่อมา เป็นต้น ขณะที่ในเชิงบู๊ ถังไท่จงก็ได้รวบรวมจอมยุทธ์เก่งๆ เข้ามาเป็นพรรคพวกหลายต่อหลายคน อย่างเช่น เว่ยฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德) ฉินฉง (秦琼 หรืออีกนามหนึ่งคือ ฉินซูเป่า (秦叔宝)) เป็นต้น สำหรับ เว่ยฉือจิ้งเต๋อ และฉินฉง จอมยุทธ์สองคนนี้นอกจากจะจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะขุนพลเอกของฮ่องเต้ถังไท่จงแล้ว ต่อมายังปรากฎนามในนวนิยายอมตะอย่าง 'ไซอิ๋ว' อีกด้วย โดยในตอนหนึ่งระบุว่า "ครั้งหนึ่งองค์ฮ่องเต้ถังไท่จงทรงประชวร และทรงพระสุบินไปว่าที่ประตูด้านนอกของตำหนักที่ประทับมีภูติผีมาร้องเรียกโหยหวน จนพระองค์รู้สึกไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง (ต่อมามีการเสริมแต่งเรื่องราวเล่าเพิ่มอีกว่าภูติผีที่ว่าก็ คือพระเชษฐา หลี่เจี้ยนเฉิง และพระอนุชา หลี่หยวนจี๋ ที่ถูกสังหาร ณ ประตูเสวียนอู่ - ผู้เขียน) วันต่อมาเมื่อพระองค์ตรัสเรื่องนี้ให้บรรดาขุนนางทราบ ฉินฉงจึงอาสากับเว่ยฉือจิ้งเต๋อมาเฝ้าประตูพระตำหนักให้พระองค์ โดยหลังจากขุนพลสองคนนี้มาเฝ้าประตูตำหนักให้ฮ่องเต้ก็บรรทมอย่างเป็นสุข อย่างไรก็ตามการเรียกคนทั้งสองมาอยู่เวรยามให้ฮ่องเต้ทุกคืนเป็นเวลาติดต่อกันนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ฮ่องเต้ถังไท่จงจึงทรงรับสั่งให้ช่างหลวงวาดภาพขุนพลทั้งสองและปิดไว้ที่ประตูตำหนักแทน ..." ด้วยความนิยมและอิทธิพลของเรื่องไซอิ๋วนี้เองทำให้ตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา ฉินฉง กับ เว่ยฉือจิ้งเต๋อ จึงค่อยๆ เปลี่ยนสถานะกลายเป็น 'เทพผู้คุ้มครองประตู (门神)' สำหรับชาวจีนไปในที่สุด สำหรับการคัดเลือกคนเข้ามารับใช้พระองค์นั้น ฮ่องเต้ถังไท่จงมีหลักการอันเป็นที่เลื่องลืออยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเกิดที่ใด ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเกิดในตระกูลเช่นไร ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเป็นชนเผ่าไหน และไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรูกับเราหรือไม่ โดยข้อสุดท้าย "ไม่จำกัดว่าเขาผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรูกับเราหรือไม่" นั้น สาามารถพิสูจน์ได้จากหลักฐานที่ระบุว่ามีคนเก่งจำนวนมากมายที่แต่เดิมเคยสังกัดอยู่กับศัตรู แต่ในที่สุด หลี่ซื่อหมินก็ไม่คิดแค้นรับเข้ามาเป็นพวก จนในเวลาต่อมาคนเหล่านี้ได้กลายเป็น ขุนนาง-ขุนพลคู่กายพระองค์ ยกตัวอย่างเช่น ฉินฉง โดย ฉินฉง นอกจากเคยรับราชการให้ฮ่องเต้สุย แล้วยังเคยไปเข้าพวกกับ หลี่มี่ (李密) แห่งกองกำลังหว่ากัง (瓦岗) รวมถึงหวังซื่อชง (王世充) อีกด้วย นอกจากนี้แล้วหนึ่งในจำนวน 'ปรปักษ์' ที่ต่อมากลายเป็น 'มิตร' ที่มีชื่อเสียงที่สุดนั้นก็รวมไปถึง ขุนนางผู้หนึ่งนาม เว่ยเจิง ด้วย เคล็ดลับในการบริหารราชการแผ่นดินให้ อีกประการหนึ่งของฮ่องเต้ถังไท่จงก็คือ การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สำหรับขุนนางที่ขึ้นชื่อที่สุดว่าถวายคำแนะนำให้แก่ ถังไท่จงอย่างตรงไปตรงมา ยึดความถูกต้องเป็นหลัก โดยมิได้คิดประจบสอพลอต่อองค์ฮ่องเต้นั้นก็คือ ขุนนางนักคิดและนักประวัติศาสตร์ผู้ทรนงแห่งราชวงศ์ถัง - - - เว่ยเจิง (魏征;ค.ศ.580-643) เดิมทีเว่ยเจิง เป็นที่ปรึกษาของรัชทายาท หลี่เจี้ยนเฉิง (ก่อนหน้าเคยอยู่กับหลี่มี่ แห่งกองกำลังหว่ากัง เช่นกัน) เมื่อเว่ยเจิงสังเกตเห็นว่า สติปัญญาของหลี่ซื่อหมินนั้นล้ำเลิศทั้งยังเริ่มสะสมกำลังเพื่อมาต่อกรกับรัชทายาท เว่ยเจิงจึงแนะนำให้หลี่เจี้ยนเฉิง วางยุทธศาสตร์จัดการกับหลี่ซื่อหมินอย่างจริงจัง แต่หลี่เจี้ยนเฉิงก็ยังตกลงปลงใจไม่ได้ว่าจะทำเช่นไรดีกับน้องชาย ในเวลาต่อมา หลังจากเกิดเหตุการณ์ ณ ประตูเสวียนอู่แล้ว เว่ยเจิงจำก็ต้องเข้ามารับใช้รัชทายาทองค์ใหม่ โดยครั้งหนึ่ง หลี่ซื่อหมินได้ถามเว่ยเจิงตรงๆ ว่า "เจ้าส่งเสริมให้พวกข้าพี่น้องต้องรบราฆ่าฟันกันเอง เพราะเหตุใด?" เมื่อได้ยินเว่ยเจิงคำถามจากรัชทายาทองค์ใหม่ก็ตอบกลับอย่างไม่สะทกสะท้านว่า "หากรัชทายาทองค์ก่อนฟังคำจากเว่ยเจิง พระองค์ก็คงไม่ต้องจบชีวิตดังเช่นวันนี้" สติปัญญา ความฉลาดเฉลียวและความซื่อตรงเช่นนี้นี่เองทำให้ หลี่ซื่อหมินถูกพระทัยในสติปัญญาของเว่ยเจิงเป็นอย่างมาก โดยหลังจากที่ครองราชย์แล้วโดยโปรดเกล้าฯ ให้เว่ยเจิงเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ครั้งหนึ่งเมื่อฮ่องเต้ถังไท่จง ตรัสถามว่า ข้าจะแยกแยะถูก-ผิดได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกหลอก เว่ยเจิงจึงตอบว่า ฟังรอบด้านย่อมพบความจริง ฟังด้านเดียวกลับกลายโง่งม เจียนทิงเจ๋อหมิง เพียนซิ่นเจ๋ออ้าน 兼听则明,偏信则暗 ความหมายของเว่ยเจิงก็ คือ เป็นผู้ปกครองต้องเปิดใจรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ทุกด้าน จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของเรื่องราว และทำการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่หากฟังความเพียงข้างเดียว ฟังแต่ข้อความที่ไพเราะเสนาะหู ย่อมทำให้ป้ำๆ เป๋อๆ นับวันยิ่งเลอะเลือน ส่งผลให้ได้ข้อสรุปที่ผิดพลาด การตัดสินใจก็ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างถวายคำแนะนำด้วยความตรงไปตรงมาของเว่ยเจิง ความที่ไม่ยอมโอนอ่อนตามพระราชประสงค์ ทั้งยังมักจะเสนอความเห็นที่ไม่ค่อยจะเห็นแก่พระพักตร์เจ้าแผ่นดิน จนถึงขั้นหลู่พระเกียรติ ทำให้หลายต่อหลายครั้ง องค์ฮ่องเต้ถังไท่จงเกือบจะลงโทษเว่ยเจิงถึงชีวิตอยู่แล้ว แต่ยังดีที่พระมเหสีขององค์ถังไท่จงนั้นเป็นสตรีที่เข้าอกเข้าใจและหวังดีต่อบ้านเมือง จึงช่วยทัดทานเอาไว้ได้ มีสถิติบันทึกไว้ว่าในช่วงที่รับใช้ฮ่องเต้ถังไท่จง เว่ยเจิงเสนอความคิดเห็นคัดค้านมากมายหลายร้อยเรื่อง โดยแต่ละเรื่องล้วนเป็นคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและองค์ฮ่องเต้อย่างมหาศาล ขณะที่หลายเรื่องก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่เว่ยเจิงยินยอมแม้แต่จะเอาศีรษะของตนเองเข้าแลก เมื่อเว่ยเจิงเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.643 องค์ฮ่องเต้ถังไท่จง เสียพระทัยอย่างมาก จนถึงกับรับสั่งว่า หากนำทองแดงมาส่องเป็นกระจก ก็จะสามารถจัดแจงเครื่องแต่งกายให้เป็นระเบียบได้ หากนำอดีตมาส่องเป็นกระจก ก็จะรับรู้ได้ถึงความรุ่งเรืองและล่มสลายของยุคสมัย หากนำคนมาส่องเป็นกระจก ก็จะทราบถึงความสำเร็จและความผิดพลาด ข้ามักจะใช้กระจกสามบานนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้า วันนี้เมื่อเว่ยเจิงตายไป ข้าก็เหมือนขาดกระจกไปบานหนึ่ง 以铜为镜,可以正衣冠 以古为镜,可以见兴替 以人为镜,可以明得失 朕常保此三镜,以防己过 今魏征殂逝,遂亡一镜矣!***** |
โจ้ | [ 27-03-2007 - 00:56:55 ] |
---|---|
![]() | ![]() ![]() ยาวแท้ คุณ Silph ขยันเอามาลงจริงๆ
|
Silph | [ 27-03-2007 - 08:31:09 ] |
---|---|
![]() | ![]() ![]() เพิ่มเติมอีกเรื่องครับ
แหม ตกหล่น เรื่องสนุกๆ อีกเรื่องของหวงอี้ ไปได้ยังไงเนี่ย เรื่อง "เทพมารสะท้านภพ" ซึ่งเดิมชื่อเรื่อง "กระบี่พลิกเมฆา" เทพมารสะท้านภพ (覆雨翻云, ภาษาอังกฤษ Lethal Weapons of Love and Passion) เป็นผลงานนิยายกำลังภายในเรื่องที่ 3 ของหวงอี้ นับเป็นเรื่องถัดจาก เหยี่ยวเหนือฟ้า และ ขุนศึกสะท้านปฐพี เริ่มเขียนเมื่อ พ.ศ. 2535 หลังจากนั้น จึงเขียนเรื่อง เจาะเวลาหาจิ๋นซี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว หวงอี้ นับเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมาทดแทนนักเขียนรุ่นเก่าอย่างโกวเล้ง และกิมย้ง ได้อย่างเต็มภาคภูมิ สรุปงานเขียนของหวงอี้ จนถึงปัจจุบัน 1. เหยี่ยวเหนือฟ้า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อมูลแฮะ 2. ขุนศึกสะท้านปฐพี ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงการสิ้นสุดของราชวงศ์ฉิน เริ่มต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก 3. เทพมารสะท้านภพ ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงราชวงศ์หมิง 4. เจาะเวลาหาจิ๋นซี ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงยุครัฐสงคราม ต่อด้วยการก่อตั้งราชวงศ์ฉิน 5. มังกรคู่สู้สิบทิศ ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงการสิ้นสุดราชวงศ์สุย เริ่มต้นราชวงศ์ถัง 6. จอมคนแผ่นดินเดือด ใช้ประวัติศาสตร์ช่วงราชวงศ์จิ้นตะวันออก กับ 16 แคว้นห้าชนเผ่า ต่อด้วย การเริ่มต้นของยุคราชวงศ์เหนือ - ใต้ เรื่องเทพมารสะท้านภพ เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในสมัยต้นราชวงศ์หมิงยุคที่จูหยวนจางครองบัลลังก์ กล่าวถึง ปรมาจารย์มารผังปานท้าสู้กับ กระบี่คลุมวรุณ ล่างฟานหวิน มือกระบี่อันดับหนึ่งของฝ่ายมาร พร้อมกันนั้นยังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมามากมาย ทั้งการกู้ราชวงศ์มองโกลของฟางเยี่ยหวี่ บวกกับเรื่องราวการเติบโตขึ้นเป็นจอมยุทธผู้กล้า 3 คน ได้แก่ 1. เด็กกำพร้าหานป๋อเด็กรับใช้ที่พบเจอกับโชคอันมหัศจรรย์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นจอมยุทธ์ชั่วข้ามคืน สมญา "ผู้เสเพล หานป๋อ" พฤติกรรมเจ้าชู้เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว (โดยพื้นฐานเป็นคนดี แต่วิชาที่ฝึกมีรากฐานจากวิชามาร แถมการมีสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามเป็นการฝึกวิชา เพิ่มพูนพลังฝีมืออีกด้วย) มีภรรยามากมาย 2. ดาบไว ชิฉางเจิง ผู้ที่ต่อมากลายเป็นมือดาบอันดับหนึ่งในแผ่นดิน 3. ฟงสิงเลี่ย เจ้าของเพลงทวน "ไฟลามทุ่ง" อันเลื่องชื่อ ผู้ตกเป็นเหยื่อการฝึกวิชาสุดยอดของผังปาน คือ วิชา "ปลูกจิตธรรม เพาะสร้างมาร" นอกจากนี้ ยังมีการเติมแต่งด้วยค่าย พรรค สำนักต่างๆ มากมาย ซึ่งต่อมา หวงอี้ใช้เป็นโครงเรื่องหลักในนิยายของเขาในเวลาต่อมา เช่น เรือนฌานเมตไตรย เป็นต้น สนุกมั่กๆ |
Silph | [ 28-03-2007 - 08:57:39 ] |
---|---|
![]() | ![]() ![]() ตอนนี้ จะขอพูดถึง ภาพยนตร์ / ละครโทรทัศน์ / การ์ตูน ที่นำเอานิยายต้นฉบับมาดัดแปลงได้แย่สุดๆ บ้าง (อันนี้ ความเห็นส่วนตัวนะ)
เรื่องที่ว่า คือ "ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า" หลังจากได้ดูภาพยนตร์ / ละคร (เฉพาะช่วงแรกๆ) ทำเอาหมดอารมณ์ดูหนังกำลังภายในไปพักใหญ่เลย เสียอารมณ์แบบสุดๆ ไม่ได้อารมณ์แม้แต่สักเสี้ยวเดียวของตัวต้นฉบับเลย (ยังกะฟ้ากับเหว) ในส่วนของภาพยนตร์ ทำได้แย่ที่สุด (เสียอรรถรสโดยสิ้นเชิง อยากเห็นหน้าคนดัดแปลงบทภาพยนตร์มั่กๆ เรื่องหลังๆ จะได้ไม่ไปดูอีก) ในส่วนของละครโทรทัศน์ / การ์ตูน แย่น้อยลงมาหน่อย เรื่อง "ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า" ดัดแปลงมาจากนิยายขายดี (สนุกมั่กๆ ซึ้งสุดคำบรรยาย ตอนอ่านน้ำตาไหลพรากไปหลายยก)ชุด "วาตะ เมฆา" ประกอบด้วย 4 ภาคย่อย ได้แก่ ภาค 1 วาตะ เมฆา (2 เล่มจบ) ภาคนี้ จะกล่าวถึงที่มาของ 2 ตัวเอกของเรื่อง คือ เนี่ยฟง (เนี่ยเป็นแซ่ ชื่อฟง แปลว่า ลม) กับ โป่วเกียฮุ้น (โป่วเป็นแซ่ ชื่อเกียฮุ้น แปลว่า สะท้านเมฆา) เนี่ยฟง เป็นบุตรชายของ "ดาบคลุ้มดื่มอุดร" จอมดาบที่มีชื่อเสียงมาก ฝึกเคล็ดวิชาใจน้ำแข็งตั้งแต่ยังเด็ก (แต่ผู้เป็นพ่อไม่ยอมสอนวิทยายุทธให้ เพราะต้องการใช้ชีวิตครอบครัวอย่างสงบ ทำไร่ทำนาอยู่ในชนบท) แม่หนีตามชายอื่นไป (แท้จริงที่เธอยอมแต่งงานกับพ่อของเนื่ยฟง เพราะต้องการเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม) จากการที่ภรรยาหนีไป ทำให้ "ดาบคลุ้มดื่มอุดร" คลุ้มคลั่งเสียสติ (เป็นโรคประจำตัวของตระกูล) ฆ่าคนเป็นผักปลา ท้ายสุด ปกป้องลูกจาก "กิเลนไฟ" สาบสูญไปโดยไม่ทราบชะตากรรม จากนั้น ถูกรับตัวเข้าพรรคของฮ้งป่า เพราะมีชื่อว่า "ลม หรือ วาตะ" เนื่องจากฮ้งป่าได้รับคำทำนายว่า จะก้าวขึ้นเป็นจ้าวยุทธภพ หากได้ "วาตะ และ เมฆา" เนี่ยฟงไม่ยอมทำงานให้ฮ้งป่าเลยในช่วงแรก แต่หลังจากวีรกรรมของโป่วเกียฮุ้นและความต้องการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภับ จึงยอมทำงานให้ในที่สุด (แม้ว่าจะทำงานให้ แต่เนี่ยฟงไม่ยอมสังหารศัตรูแม้แต่คนเดียว) โป่วเกียฮุ้น อยู่กับแม่ 2 คนตั้งแต่ยังเด็ก พ่อออกไปหาอะไรสักอย่างไม่แน่ใจ ตั้งแต่แม่ยังอุ้มท้องอยู่ พอกลับมา ไม่กี่วันก็ตาย (ในวันที่พ่อตาย แม่ของโป่วเกียฮุ้นไม่พอใจที่บุตรชายไม่ร้องไห้ที่พ่อตาย พาลรังเกียจลูกตัวเองตั้งแต่นั้น (เด็ก 3 - 4 ขวบที่เพิ่งเห็นหน้าพ่อได้ไม่กี่วัน จะให้ร้องไห้ได้ไงฟะ) ต่อมา แม่ของโป่วเกียฮุ้นแต่งงานใหม่กับเจ้าบ้านตระกูล "คัก" โป่วเกียฮุ้นจึงได้ชื่อใหม่ว่า "คักเกียกัก" ต่อมาพ่อบุญธรรมถูกสังหารล้างตระกูล โป่วเกียฮุ้น แฝงตัวเข้าพรรคของฮ้งป่า เพื่อล้างแค้นให้พ่อบุญธรรม ได้รับการถ่ายทอดสุดยอดวิชา 1 ท่าจากบ้อเมี้ย (แปลว่า นิรนาม ยอดคนผู้ไร้นามที่มีเบื้องหลังชีวิตที่แสนเศร้าและน่าประทับใจมาก) ชื่อ "คับแค้นเหลือคณา" โป่วเกียฮุ้นสร้างชื่ออย่างมากในการทำงานให้กับฮ้งป่า สร้างชื่อเสียงไปทั่ว ได้สมญาว่า "เทพมฤตยูไม่ร่ำไห้" ตอนจบภาค 1 โป่วเกียฮุ้นได้เสียสละตนเอง ช่วยเหลือชาวบ้านจากภัยน้ำป่า จนหายสาญสูญไร้ร่องรอย ที่จริงเกือบเสียชีวิต แต่มีหญิงสาวผู้หนึ่งช่วยเหลือเอาไว้และสูญเสียความทรงจำ นำไปสู่เรื่องราวในภาค 2 ท้าเทวะ ที่เป็นเรื่องราวที่เน้นเรื่องของโป่วเกียฮุ้นเป็นหลัก (ยังมีต่อ) |
เว็บนี้มีการใช้งาน cookie | ไม่ยอมรับ |