ประวัติศาสตร์จีน 2,000 ปี กับนิยายกำลังภายในเรื่องดัง

Silph
[ 25-03-2007 - 18:28:55 ]







เนื่องจากเนื้อหาประวัติศาสตร์จีน 2.000 ปีค่อนข้างยาวมั่กๆ จะขอสรุปแบบสั้นๆ เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นนะครับ เริ่มจาก

ยุคเริ่มแรก จักรพรรดิเหลือง

ประวัติศาสตร์จีนในช่วงนี้เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ข้อมูลที่ได้มามักอยู่ในรูปนิทานปรัมปรา ผสมผสานกับความเชื่อ

ยุคนี้ก่อเกิดที่มาของคำว่า "ฮ่องเต้ หรือ หวงตี้" ที่ชาวจีนเชื่อว่าสืบเชื้อสายมา

การปกครองเป็นแบบง่ายๆ ของทุกอย่างเป็นของส่วนกลาง ผู้นำคัดเลือกจากผู้มีความสามารถและได้รับการยอมรับ

ประวัติศาสตร์ยุคนี้ จบลงจากการปฏิวัติของเซี่ยฉี่ ผู้ไม่ยอมรับกฎการคัดเลือกผู้นำจากความสามารถ (เขาเป็นบุตรชายของเซี่ยหวี่ ผู้นำคนก่อน)

ราชวงศ์เซี่ย

ราชวงศ์แรกของจีน ใช้หลักสืบอำนาจโดยสายเลือดเป็นครั้งแรก ทรัพย์สินทุกอย่างถือเป็นของเจ้าชีวิต (ยึดทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของส่วนตัว)

ราชวงศ์นี้เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจ ก็สิ้นสุดเพราะการแย่งชิงอำนาจระหว่างลูกหลาน ความไม่สนใจดูแลราชกิจของกษัตริย์ การขูดรีดภาษี การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย นำไปสู่ความไม่พอใจของขุนนาง / ประชาชน ไปสู่การปฎิวัติของซางทังในที่สุด

ราชวงศ์ซาง

นำเอาบทเรียนของราชวงศ์เซี่ยมาปรับปรุงการปกครอง ใช้หลักเมตตาธรรมในการปกครอง ไม่กดขี่ประชาชน บวกกับมีขุนนางที่ดีในช่วงต้นของราชวงศ์ ทำให้อาณาจักรเข้มแข็งในระดับหนึ่ง

ราชวงศ์นี้สิ้นสุด เพราะการเอาแต่พวกพ้อง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การขัดผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ สุดท้ายคือ การดำเนินนโยบายด้านการทหารผิดพลาดนำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์ในที่สุด

ราชวงศ์โจว

ยุคราชวงศ์นี้ มีความโดดเด่นด้านนโยบาย "เมืองหน้าด่าน" สร้างความเข้มแข็งให้กับอาณาจักร โดยการส่งบุตรหลาน และ ขุนนางที่มีความรู้ความสามารถออกไปปกครองหัวเมืองต่างๆ

ในช่วงแรก นโยบายนี้ส่งผลดีต่อราชวงศ์โจว ผู้ปกครองแคว้นต่างๆ มีการคานอำนาจกันและกัน แต่ท้ายที่สุด ก็นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ เมื่อผู้ครองแคว้นต่างๆ เข้มแข็งขึ้นก็ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์โจวต่อไป นำไปสู่ยุคแห่งความวุ่นวายอีกยุคหนึ่งของจีน

โจวตะวันออก

ช่วงนี้ประเทศจีนแตกออกเป็นหลายแว่นแคว้น เจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ผลัดกันขึ้นครองความเป็นใหญ่ ช่วงท้ายของยุค คงเหลือเพียง 7 รัฐใหญ่ และในที่สุด รัฐฉิน นำโดยจิ๋นซีฮ่องเต้ก็สามารถปราบอีก 6 รัฐรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ

(ยังมีต่อ)

Silph
[ 25-03-2007 - 19:27:48 ]







ราชวงศ์ฉิน

มีการนำเอาประวัติศาสตร์ช่วงนี้มาทำเป็นนิยาย / ภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น จิ๋นซีฮ่องเต้, Hero, เจาะเวลาหาจิ๋นซี เป็นต้น

ในจำนวนนี้ ผมชอบเรื่องเจาะเวลาหาจิ๋นซีของหวงอี้มากที่สุด เพราะสามารถสร้างตัวละครสมมติสอดคล้องเข้าไปในประวัติศาสตร์ได้อย่างกลมกลืน (ซึ่งต่อมาได้การเป็นเอกลักษณ์ของงานเขียนของเขาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมังกรคู่สู้สิบทิศ หรือ จอมคนแผ่นดินเดือด)

ดังนั้น ในบรรดางานเขียนของหวงอี้ทั้งหมดเท่าที่มีในเวลานี้ เรื่องเจาะเวลาหาจิ๋นซี เป็นเรื่องที่หยิบเอาประวัติศาสตร์จีนช่วงที่เก่าที่สุดมาเขียน

แม้จิ๋นซีฮ่องเต้จะมีชื่อเสียงอย่างมากในการรวบรวมแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ ยุติความขัดแย้งระหว่างรัฐต่างๆ ทำให้สิ้นสุดยุคแห่งสงครามและการรบราฆ่าฟันอันยาวนาน (ภาพยนตร์เรื่อง Hero จะมุ่งประเด็นในเรื่องนี้)

แต่สิ่งที่พระองค์ทำหลังจากนั้นต่างหากที่สร้างชื่อให้กับพระองค์ยิ่งกว่า หลายสิ่งที่ทำเป็นการสร้างรากฐานอันเข้มแข็งต่อชนชาติจีนในเวลาต่อมา

รูปแบบการปกครองในยุคนี้ เป็นแบบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่จักรพรรดิเพียงพระองค์เดียว ขุนนางไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น

ในยุคสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้มีการริเริ่มโครงการหลายอย่าง เช่น

มีการจัดทำทะเบียนสำมะโนประชากรที่เป็นเอกภาพและเหนียวแน่นบังคับใช้ทั่วประเทศ

มีการสร้างมาตรฐานระบบภาษาเขียน (พูดง่ายๆ คือ เผาทำลายหนังสือ ภาษาเขียน ห้ามการเรียนการสอนภาษาอื่นๆ แล้วก็จัดทำภาษามาตรฐานทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน แล้วบังคับใช้)

ระบบเงินตรา มาตราชั่ง ตวง วัด

สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นแกนที่คอยรวบรวมเอกภาพของแผ่นดินจีนตลอดประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี

มีการสร้างถนนหนทาง ลำคลองขนาดมหึมา

กลุ่มคนร่ำรวยถูกย้ายให้มาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงคือเสียนหยาง เพื่อขยายความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของใจกลางประเทศ

ประชาชนทั่วไปก็ถูกส่งไปยังเขตกันดารไกลปืนเที่ยงเพื่อทำไร่ทำนา

พวกนักโทษอาชญากรก็ถูกอัปเปหิไปต่อสู้ป้องกันประเทศตามเขตแนวหน้าชายแดน

มีการสร้างกำแพงเมืองจีนอันเลื่องชื่อเชื่อมกำแพงของแว่นแคว้นต่างๆในยุคจ้านกั๋ว เป็นกำแพงเมืองมหัศจรรย์ที่ยาวที่สุดในโลก เพื่อสกัดกั้นชนเผ่าซงหนู ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อชนชาติจีนในเวลาต่อมา

ฟังเรื่องที่ดีๆ ไปแล้ว มาดูเรื่องแย่ๆ บ้าง

การสังหารนักคิดนักปราชญ์จำนวนมากโดยการฝังทั้งเป็น อาทิ กลุ่มลัทธิขงจื้อกว่า 400 คน เผาหนังสือคัมภีร์ที่แตกแถว
(การกระทำนี้ ทำให้มีนักปราชญ์นักคิดจำนวนหนึ่งหนีตายไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้น เป็นเพียงกลุ่มชาวประมงเล็กๆ โดยนำเอาความรู้และวิทยาการต่างๆ ไปเผยแพร่ด้วย ทำให้ต่อมา ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งจนส่งผลคุกคามต่อจีนในที่สุด เรียกว่า กรรมตามทันดีมั้ยเนี่ย)

เกณฑ์แรงงานทาสไปสร้างกำแพงเมือง พระราชวัง สวน และสุสานกระทั่งล้มตายกันไปเป็นเบือนับล้าน

รีดนาทาเร้นส่วยภาษีจากประชาชน

จิ๋นซีฮ่องเต้ใช้ชีวิตสุดหรูฟู่ฟ่า ใช้เงินราวเศษกระดาษในการท่องเที่ยวสำราญไปทั่วประเทศ

การบังคับใช้แรงงานทาสอย่างทารุณอย่างไม่จบสิ้น ภาระภาษีอันหนักอึ้งของประชาชน และการลงทัณฑ์อาชญากรอย่างโหด+++ม กลายเป็นแรงกระตุ้นมรสุมแห่งความเกลียดชังและความไม่พอใจที่เริ่มพุ่งพวยและระเบิดในปลายรัชสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ และนำไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์ฉินในที่สุด

(ยังมีต่อ)
Silph
[ 25-03-2007 - 20:07:27 ]







ก่อนจะเล่าต่อไป ขอแทรกด้วยเรื่องย่อ เจาะเวลาหาจิ๋นซี ก่อนนะ ^-^

เรื่อง เจาะเวลาหาจิ๋นซี
ผู้แต่ง หวงอี้
ผู้แปล น.นพรัตน์

เนื้อเรื่องย่อ

ในอนาคตอันใกล้นี้ เซี่ยงเส้าหลงพระเอกของเรื่องซึ่งเป็นทหารในกองกำลังพิเศษของประเทศจีน ซึ่งมีความสามารถมากมายหลายด้านเพราะได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีได้ถูกส่งย้อนเวลากลับไปในอดีต

เนื่องจากการทดลองนี้ใด้เกิดผิดพลาดจึงไม่สามารถที่จะกลับมาในโลกปัจจุบันได้ ดังนั้นจึงคิดว่าจะไปช่วยจิ๋นซีฮ่องเต้ เพื่อที่จะได้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์

ในตอนแรก เซี่ยงเส้าหลงสามารถที่จะเอาชนะอันธพาลในท้องถิ่นได้จึงถูก เถาฟางจ้างให้ทำหน้าที่คุ้มครองกลับเมืองหานตาน ของรัฐจ้าวแต่ระหว่างทางได้ถูกโจรดักปล้นแต่ เซี่ยงเส้าหลงแก้ไขสถานะการณ์เอาไว้ได้ แต่ก็ได้พลัดหลงจากเถาฟาง

เซี่ยงเส้าหลงคิดว่าตัวเองนั้นเก่งมากแต่เมื่อไปเจอคนที่เป็นจอมยุทธกลับแพ้ ดั้งนั้นเซี่ยงเส้าหลงจึงได้ฝึกฝีมือให้เก่งขึ้นโดยได้รับคำชี้แนะจากเจ้าสำนักม่อจื้อ

หลังจากนั้นก็ได้หาทางกลับไปยังรัฐจ้าวเพื่อพบกับเถาฟาง เนื่องจากเซี่ยงเส้าหลงมีบุคลิกภาพที่ดีและหน้าตาหล่อเหลาจึงเป็นที่ชื่นชอบของหลายคนจึงมีสตรีมากมายมาชอบ เป็นเหตุให้ต้องต่อสู้อยู่บ่อยๆในการต่อสู้แต่ละครั้ง เซี่ยงเส้าหลงใช้กลวิธีในยุคปัจจุบันเข้ามาช่วยจึงทำให้ชนะ แต่ศัตรูในรัฐจ้าวคือ จ้าวมู่คอยที่ใส่ร้ายและคิดกำจัดเซี่ยงเส้าหลง เพราะเซี่ยงเส้าหลงนั้นมีผลงานในการทำงานที่ดี ต้าอ๋องแห่งรัฐจ้าวจึงชื่นชอบกว่า

แต่เซี่ยงเส้าหลงนั้นรู้ประวัติศาสตร์ว่า จิ๋นซีฮ่องเต้นั้นได้ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ในรัฐจ้าวจึงคิดช่วยเหลือและพาหลบหนีกลับรัฐฉิน

ในขณะที่อยู่ในรัฐจ้าวนั้นเซี่ยงเส้าหลงได้สูญเสียคนรักไปมากมาย เพราะจ้าวมู่ฆ่าแต่ในขณะช่วยเหลือจิ๋นซีฮ่องเต้นั้นเกิดการผิดพลาด จิ๋นซีตัวจริงตายเซี่ยงเส้าหลงจึงเอาเสี่ยวผ่านลูกศิษย์ของตัวเอง และเป็นลูกที่ติดมากับคนรักคนหนึ่งของตนเองสวมบทปลอมเป็นจิ๋นซีตัวจริง

แต่เมื่อไปถึงรัฐฉิน เซี่ยงเส้าหลงก็ต้องเจอกับการต่อสู้ชิงอำนาจของขุนนางต่างๆในรัฐฉิน แต่เซี่ยงเส้าหลงก็สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง และยังสามารถกลับไปแก้แค้นจ้าวมู่ที่รัฐจ้าวได้

เนื่องจากในยุคนั้นสตรีมีมากกว่าบุรุษดังนั้นเซี่ยงเส้าหลงจึงมีภรรยาหลายคนในบรรดาคนเหล่านั้น จี้เอียนหยานเป็นคนที่สวยที่สุด และเป็นที่หมายปองของหลายคน เซี่ยงเส้าหลงจึงต้องต่อสู้อีกมากมายจึงจะได้มาครอบครองและนางก็สามารถช่วยเหลือเซี่ยงเส้าหลงได้หลายอย่าง

หลังจากผลักดันให้เสี่ยวผ่านขึ้นครองบัลลังค์สำเร็จแต่ช่วงนั้นกลับต้องต่อสู้กับ หลี่ปู้เว่ยซึ่งเป็นคนที่ฉลาดและมีอำนาจมากในสมัยนั้น ทำให้เซี่ยงเส้าหลงสูญเสียคนที่ตนรักไปอีกมากมาย

และในช่วงที่อยู่ในรัฐฉินนั้น เซี่ยงเส้าหลงต้องเดินทางไปรัฐต่างๆ เพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะให้จิ๋นซีฮ่องเต้สามารถรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นเพราะในยุคนั้นแผ่นดินจีนแบ่งออกเป็นหลายรัฐ

หลังจากเสี่ยวผานได้เป็นฮ่องเต้นั้นได้ถูกสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้นิสัยเปลี่ยนไปและการที่กลัวว่าเซี่ยงเส้าหลงจะเปิดเผยฐานะที่แท้จริงของตนออกไปจึงคิดที่จะฆ่าปิดปาก เซี่ยงเส้าหลง

แต่เซี่ยงเส้าหลงสามารถหนีลอดออกมาได้โดยขุดอุโมงค์บริเวณสุสานหนีออกนอกเมืองไปอยู่ในชนบทเพื่อที่ต้องการใช้ชีวิตแบบธรรมดา แต่ในขณะที่หนีนั้นความจริงเสี่ยวผ่านสามารถที่จะติดตามและฆ่าเซี่ยงเส้าหลงได้ แต่เสี่ยวผ่านไม่ทำเพราะบังเอิญไปเห็นป้ายหลุมศพของแม่แท้ๆของตนเองและพี่สาวต่างมารดาที่เคยร่วมทุกร่วมสุขกันมาก่อนจึงสั่งยุติการติดตามปล่อยให้เส้าหลงหนีไปได้

และหลังจากนั้นก็สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนและสร้างกำแพงเมืองจีนได้สำเร็จ หลังจากสวรรคตแล้ว ลูกชายบุญธรรมของเซี่ยงเส้าหลงสามารถที่จะกลับมาเป็นฮ่องเต้ได้โดยมีชื่อว่า ฌ้อป๋าอ๋อง ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของจีนแต่ก็ตายเพราะการทำสงครามแย่งชิงอำนาจ

ในการย้อนอดีตนั้น เซี่ยงเส้าหลงมิได้บิดเบือนประวัติศาสตร์แม้แต่น้อยเพียงแต่เขาสามารถนำความรู้ในยุคที่เขาอยู่ไปใช้เป็นประโยชน์ และเขาก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคนั้นได้อย่างดี
Silph
[ 25-03-2007 - 21:01:22 ]







ต่อด้วยอีกเรื่อง ภาพยนตร์ทุนสร้างมหาศาล Hero ที่ระดมเอาซุปเปอร์สตาร์มาร่วมแสดงคับคั่ง

ชื่อเรื่อง Hero เป็นการตั้งชื่อให้สะท้อนให้เห็นความหมายแท้จริงของคำว่า "วีรบุรุษ"
.... การกระทำแบบใดจึงจะถือได้ว่า เป็นวีรบุรุษที่แท้ ....

ในยุคสมัยโจวตะวันออกหรือยุคสงครามระหว่างรัฐ ประเทศจีนถูกแบ่งออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ มากมาย เกิดสงครามต่อสู้ ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง

ช่วงปลายของยุคโจวตะวันออก คงเหลือเพียง 7 รัฐ ในจำนวนนี้ ร้ฐฉินแข็งแกร่งที่สุด ภายใต้การนำของกษัตริย์แห่งฉิน ผู้ซึ่งต่อมา คือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้โหด+++

เรื่อง Hero เป็นเรื่องของการพยายามวางแผนอุบายเพื่อเข้าลอบสังหารกษัตริย์แห่งฉิน ในเรื่อง ดาบหัก (เหลียงเฉาเหว่ย) เป็นผู้มองเห็นคุณประโยชน์ของกษัตริย์แห่งฉินที่แม้ว่า จะเต็มไปด้วยความโหด+++ม แต่ก็เป็นผู้ที่จะสามารถรวมชาติจีนให้เป็นปึกแผ่น ยุติยุคแห่งสงครามอันป่าเถื่อนนี้ลงได้

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ นิรนาม (หลี่เหลียงเจี๋ย) จะเข้าใจสิ่งที่ดาบหักแสดงให้ดูหรือไม่ เขาจะตัดสินใจเช่นไร ระหว่างทำการลอบสังหารกษัตริย์แห่งฉิน ซึ่งจะทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟต่อไป หรือ ถอนตัวจากไป แต่เขาจะถอนตัวได้หรือ เมื่อเขาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของกษัตริย์แห่งฉิน


เรื่อง Hero
ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เป็นช่วงปลายของยุคโจวตะวันออกจนถึงการก่อตั้งราชวงศ์ฉิน

ในยุคสงครามระหว่างรัฐ (ปี 475 - 221 ก่อนคริสตกาล) ประเทศจีนได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 อาณาเขต : ฉิน, เฉ่า, ฮั่น, เว่ย, หยาน, ชู และฉี เป็นเวลาหลายปีที่แคว้นต่างๆ ได้ต่อสู้อย่างบ้าคลั่ง เพื่อแก่งแย่งอำนาจ ยังผลให้ประชาชนจำนวนมาก ต้องล้มตายและทนทุกข์ทรมาณ นานนับทศวรรษ

ในบรรดาแคว้นทั้งเจ็ด รัฐฉินนั้นแข็งแกร่งที่สุด กษัตริย์แห่งฉิน (เฉินดาวหมิง) ปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะครอบครองจีนทั้งแผ่นดิน เพื่อขึ้นครองเป็นจักรพรรดิแห่งจีนพระองค์แรก พระองค์จึงตกเป็นเป้าสังหารของอีกทั้งหกแคว้น ในบรรดามือสังหารทั้งหลาย จะหาผู้ใดที่น่าสะพรึงกลัว เท่ากับสามจอมยุทธ ดาบหัก, หิมะเหิน และ เวหา นั้นมิมี

ผู้ใดก็ตามที่สามารถเอาชนะยอดฝีมือทั้งสามได้ กษัตริย์แห่งฉินจักพระราชทานยศศักดิ์, ทรัพย์สินเงินทองกองเท่าภูเขา และได้รับสิทธิพิเศษ ในการเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ แต่การเอาชนะจอมยุทธนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง กว่าสิบปีที่มิมีผู้ใดมีความสามารถพอ ที่จะได้เป็นเจ้าของรางวัล ดังนั้นเมื่อ นิรนาม (เจ็ต ลี) นายอำเภอผู้มีทีท่าน่าสงสัย มาขอเข้าเฝ้าพร้อมหลักฐาน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของมือสังหารทั้งสาม กษัตริย์จึงแทบคอยไม่ไหว ที่จะได้ฟังเรื่องจากปากเขา ขณะที่นั่งอยู่ในท้องพระโรง ห่างจากพระองค์เพียงสิบก้าว นิรนามจึงแถลงไข ถึงเรื่องราวอันโลดโผนของเขา...

เป็นระยะเวลาสิบปี ที่นิรนามได้ศึกษาเพลงดาบ และหนทางท้าประลองกับมือสังหารทั้งสาม ด้วยความลับแห่งวิชาเพลงกระบี่ของเขา นิรนามได้มีชัยชนะเหนือ เวหา (ดอนนี่ เหยิน) ด้วยการต่อสู้อันดุเดือด และหลังจากที่ได้ลิ้มรสหวานของชัยชนะครั้งแรก เขาจึงได้ทำลายคู่หูพิฆาต หิมะเหิน (จางม่านอี้) และ ดาบหัก (เหลียงเฉาเหว่ย) และครานี้ด้วยอาวุธอันร้ายกาจ ยิ่งไปเสียกว่ากระบี่ของเขา – โดยให้ต่างฝ่ายพิฆาตกันเอง ด้วยมิตรภาพที่แนบแน่น เกินกว่าธรรมดาของทั้งสอง

กษัตริย์ทรงครุ่นคิดถึงรายละเอียดทุกตอน ของเรื่องราวที่น่าสงสัยนี้ แต่แล้วบางอย่างที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น – เพราะทรงมีเรื่องเล่าที่แตกต่างออกไปว่า เหตุใด นิรนามจึงได้มานั่งอยู่ ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์!

เมื่อปรากฎว่าไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย นิรนาม - ทหารกล้า และกษัตริย์แห่งฉิน – ผู้ปกครองอาณาจักร ต่างตกอยู่ท่ามกลางเล่ห์เพทุบาย และระยะสิบก้าว ที่คั่นกลางระหว่างทั้งคู่นั้น - ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยตำนานแห่งความรัก ความจงรักภักดี และหน้าที่ เรื่องราวที่ดำเนินไป ไกลเกินกว่าจะได้รับการบันทึกไว้ ในหน้าประวัติศาสตร์ เรื่องราวแห่งความหมายของการเป็น วีรบุรุษ...

Silph
[ 25-03-2007 - 21:30:19 ]







เมื่อราชวงศ์ฉินล่มสลายลง ก็เข้าสู่ยุคของ

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

นิยายดังของยุคนี้เป็นเรื่องขุนศึกลำน้ำเลือด เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของเซี่ยงอี่ (ฌ้อปาอ๋อง) กับหลิวปัง ที่เริ่มการเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพื่อนร่วมรบ ไปสู่การเป็นศัตรูคู่แค้น

ที่น่าสนใจก็คือ หากเทียบความสามารถด้านการทหารและขุมกำลังของหลิวปังกับเซี่ยงอี่แล้ว หลิวปังนับว่าเทียบไม่ติดเลย แต่ท้ายที่สุด เขากลับได้เป็นผู้ชนะ ครอบครองแผ่นดิน เพราะหลิวปังสามารถซื้อใจผู้คนได้มากกว่า

ดังนั้น ผู้ปกครองที่ดีจำเป็นต้องมีความสามารถให้ผู้คนยอมรับด้วย มิใช่เพียงแต่ใช้กำลังขู่เข็ญบังคับ (บทเรียนที่ดี ก็คือ การล่มสลายของราชวงศ์ฉิน และการพ่ายแพ้ของเซี่ยงอี่ (ฌ้อปาอ๋องที่ท้ายสุด ฆ่าตัวตายหนีความจริงที่ริมแม่น้ำ เป็นที่มาของชื่อเรื่องขุนศึกลำน้ำเลือด)

หลิวปังผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นนั้น แต่เดิมเป็นเพียงชนชั้นขุนนางผู้น้อย จิ๋นซีฮ่องเต้ในราชวงศ์ฉินสิ้นพระชนม์ลง อำนาจของราชวงศ์ฉินคลอนแคลน มีการลุกฮือขึ้นก่อการจากกบฏชาวนาและบรรดาเชื้อสายเจ้าผู้ครองแคว้นเดิม มีการตั้งตัวเป็นใหญ่ในทุกหัวระแหง

หลิวปังก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เพาะสร้างอำนาจขึ้นจากขุมกำลังเล็ก ๆ ต่อมาได้กรีฑาทัพเข้านครเสียนหยางปิดฉากยุคสมัยของราชวงศ์ฉิน และส่งมอบนครเสียนหยางให้กับเซี่ยงอี่ว์ หรือฌ้อปาอ๋อง ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ในแคว้นฉู่(หรือฌ้อ นั่นเอง) และมีขุมกำลังเข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น หลิวปังจึงได้รับการอวยยศขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋อง

(ที่จริงตอนออกเดินทัพนั้นทั้งสองตกลงกันว่าใครเข้าเมืองได้ก่อน จะให้คนนั้นเป็นฮ่องเต้ เซี่ยงอี่ มั่นใจกำลังพล และฝีมือรบของตนจึงบุกตะลุยไปเรื่อย เลยต้องพบกับการต่อต้านตลอดทาง ส่วนเล่าปัง ทหารน้อย และเต็มไปด้วยชาวบ้านไม่เจนศึก จึงใช้วิธีพระเดช พระคุณ คือที่ไหนแข็งข้อก็โจมตี ที่ไหนพอจะเกลี้ยกล่อมได้ก็อภัย ประชาชนที่เกลียดการปกครองของฉินอยู่แล้วจึงมาเข้ากับเล่าปัง ดังนั้นกองทัพเล่า ปัง จึงถึงก่อน แต่แล้วเซี่ยง อี่ ตระบัตสัตย์ นำทัพใหญ่มาถึง แล้วไล่ให้ เล่าปัง ไปเป็นอ๋อง เมืองฮั่นจง ที่ห่างไกล)

หลังจากสะสมกำลังพลกล้าแกร่งขึ้น จึงเปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์กับเซี่ยงหวี่ การศึกครั้งนั้นได้รับการขนานนามว่า สงครามฉู่ฮั่น กินเวลานาน 4 ปี จนกระทั่งถึงปี 202 ก่อนคริสตศักราช หลิวปังได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์จักรพรรดิ์ สถาปนาราชวงศ์ฮั่น ที่นครฉางอาน(เตียงอั๋น ในสามก๊ก)


ระบบบริหารการปกครองของราชวงศ์ฮั่นโดยรวมแล้วยังคงยึดรูปแบบเช่นเดียวกับราชวงศ์ฉิน
แต่ฮั่นเกาจู่(หรือฮั่น โก โจ) ประกาศยกเลิกกฎหมายที่ทารุณโหดร้ายบางส่วน

อีกทั้งดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรต่อประชาชน เช่น
ลดการเก็บภาษีอากรและการเกณฑ์แรงงาน
ปลดปล่อยกำลังทหารและประชาชนสู่บ้านเกิดของตน
จัดสรรที่ดินทำกินให้กับบรรดาทหารที่ร่วมรบชนะศึกสงคราม
อีกทั้งพระราชทานรางวัลเป็นเสบียงอาหารและตำแหน่งทางราชการ

นอกจากนี้ ยังเข้าควบคุมพ่อค้าที่ร่ำรวย ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า
ผืนดินที่ทำการเพาะปลูกได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้ง

ทำให้สภาพสังคมได้มีเวลาในการฟื้นฟูและจัดระเบียบใหม่ และกลับสู่ความสงบสุขที่เคยเป็น

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกสิ้นสุดลง เพราะระบอบการปกครองล้มเหลว เกิดการขัดแย้งทางชนชั้นและการลุกฮือของกบฏชาวนา

Silph
[ 25-03-2007 - 21:40:08 ]







ต่อจากราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ก็เป็นราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

ในปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก หวังหมั่งถอดถอนหยูจื่ออิง ยุวกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ โดยจัดระเบียบการปกครองใหม่และก่อตั้งราชวงศ์ซิน ขึ้น

แต่ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง ที่นำโดยฝานฉง จากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว (เล่า สิ้ว ใน ตั้งฮั่น) จากหูเป่ย เป็นต้น

ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน

หลิวซิ่วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ครองดินแดนเหอเป่ย ภายใต้สมญานามว่า กวงอู่ตี้ ( พระเจ้า ฮั่น กอง บู๊) และใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นตามเดิม

โดยทางประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคนี้เป็นฮั่นตะวันออก เนื่องจากนครหลวงตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยัง(ลกเอี๋ยง)


ภารกิจแรกของกวงอู่ตี้คือการปราบกองกำลังคิ้วแดงที่กำลังปิดล้อมเมืองฉางอัน (เตียงอั๋น)

เมื่อถึงปีรัชสมัยที่ 12 ก็สามารถปราบก๊กของกงซุนซู่ในเสฉวนลงอย่างราบคาบ รวมประเทศจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง

จากนั้นตามมาด้วยประกาศปลดปล่อยแรงงานทาส ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยแรงงานการผลิตครั้งใหญ่

นอกจากนี้ ยังซ่อมสร้างการชลประทานทั่วประเทศ รื้อฟื้นภาคการเกษตรให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เมื่อถึงรัชสมัยหมิงตี้ ก็ยกเลิกการผูกขาดการค้าเกลือและเหล็กกล้า อีกทั้งธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจหลอมและหล่อทองแดง ธุรกิจผ้าไหมเป็นต้น

ทำให้บ้านเมืองและการค้าขายในยุคฮั่นตะวันออกเจริญรุ่งเรืองขึ้น เมืองลั่วหยังกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ

ส่วนศูนย์กลางทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองหยังโจว จิงโจว อี้โจว ก็มีความเจริญในด้านธุรกิจหัตถกรรม จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกสิ้นสุดลง เพราะความไม่พอใจต่อระบบการเมืองการปกครองในสมัยนั้น จนเกิดวิกฤตทางการเมือง

ขุนนางก็ยิ่งฮึกเหิมในอำนาจ มีการซึ้อขายตำแหน่งทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย

อำนาจบ้านเมืองล่มสลาย สังคมเต็มไปด้วยคนจรไร้ถิ่นฐาน เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

ท้ายสุด เมื่อถึงรัชสมัยหลิงตี้ เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือ เข้าล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

บรรดาเจ้าที่ดินที่มีกำลังกล้าแข็งต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ จนเข้าสู่ยุคแห่งความวุ่นวายในประวัติศาสตร์จีนอีกครั้งหนึ่ง ....... สามก๊ก
Silph
[ 25-03-2007 - 21:53:40 ]







ช่วงของสามก๊กนี่ จะขอข้ามไปเลยนะ เพราะคงรู้กันพอสมควรอยู่แล้วอ่ะนะ (หรือถ้าไม่รู้ก็คงหาอ่านได้ไม่ยาก)

มีทั้งหนังสือแบบยาว แบบสั้น หรือแบบวีซีดีก็ยังมี

จะขอข้ามไปสู่ราชวงศ์จิ้นตะวันตกเลยก็แล้วกัน สมัยสามก๊กสู้กันแทบตาย สุดท้าย ตระกูลสุมา (แปลว่า ม้า) ตระกูลขุนนางของรัฐวุ่ย (โจโฉ) ก็เข้ายึดอำนาจในรัฐวุ่ยก่อนแล้วตีอีก 2 ก๊กที่เหลือ รวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

เออ ... มีการ์ตูนเรื่องนึงน่าอ่านมาก เรื่อง หงสาจอมราชันย์ เขียนเล่าเรื่องราวสมัยสามก๊ก แต่แทนที่จะเน้นเรื่องของโจโฉ เล่าปี่ หรือซุนกวน

กลับให้ตัวเอกของเรื่องเป็นสุมาอี้ เสนาบดีคนสำคัญของโจโฉ คู่ปรับของขงเบ้งแทน สนุกมั่กๆ
Silph
[ 25-03-2007 - 22:12:51 ]







ราชวงศ์จิ้นตะวันตก

การเมืองยุคราชวงศ์นี้ มีความน่าสนใจอย่างมาก และนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ในเวลาต่อมา

ทำให้ประเทศจีนเข้าสู่ยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 3 ต่อจาก ยุคโจวตะวันออกหรือยุครัฐสงคราม (สิ้นสุดที่จิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดิน) และสามก๊ก (ที่ตระกูลสุมา ราชวงศ์จิ้นตะวันตกเป็นผู้รวบรวมแผ่นดินได้สำเร็จเองนั่นแหละ)

คือ ยุคจิ้นตะวันออก (จีนตอนใต้) และยุค 16 แคว้นห้าชนเผ่า (จีนตอนเหนือ)อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนะครับ อย่าสับสน


มากล่าวถึงการเมืองในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตกกันก่อน ยุคนี้เป็นยุคที่ตระกูลใหญ่ (ชนชั้นกลางเดิมในช่วงสามก๊ก) เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมาก

ตระกูลสุมาก็เป็นตระกูลขุนนาง (ชนชั้นกลาง) มาก่อน เมื่อก่อการสำเร็จก็เลยต้องมีการตอบแทน

ปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก ก็คือ เรื่องนี้นี่เอง ระบบนี้ทำให้เกิดการกีดกันและแบ่งแยกทางชนชั้น

ผู้ที่จะสามารถเข้ารับราชการมักจะเป็นผู้ที่เกิดมาในตระกูลใหญ่เท่านั้น ประชาชนคนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ ถึงแม้ว่าจะมีความรู้ความสามารถก็ตาม

เมื่อมีการแบ่งชั้นวรรณะ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างตระกูลใหญ่ด้วยกันเอง ความขัดแย้งระหว่างพวกตระกูลขุนนางกับประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

เกิดความวุ่นวายอย่างมาก ประกอบกับการถูกรุกรานจากชนเผ่าทางเหนือ ทำให้ตระกูลสุมา ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงหนีลงใต้ เข้าสู่ยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก
Silph
[ 25-03-2007 - 22:56:08 ]







ราชวงศ์จิ้นตะวันออกกับ 16 แคว้นห้าชนเผ่า ต่อด้วยยุคราชวงศ์เหนือใต้

นิยายเรื่องดังของประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ได้แก่ จอมคนแผ่นดินเดือด ที่เป็นเรื่องราวของ

ทัวปากุย ผู้นำเผ่าเซียนเปย ผู้รวบรวมแผ่นดินจีนตอนเหนือเป็นปึกแผ่น

หลิวอวี้ สามัญชนผู้กลายเป็นกษัตริย์แดนใต้ ผู้รวบรวมแผ่นดินจีนตอนใต้ได้สำเร็จ

เอี้ยนเฟย พระเอกของเรื่อง ผู้มีพ่อเป็นชาวฮั่น (เรื่องยังไม่จบ ยังไม่รู้ว่าพ่อของพระเอกเป็นใคร) แต่มีแม่เป็นชาวเซียนเปย เติบโตมาด้วยกันกับทัวปากุย และต่อมาหนีภัยมาอาศัยอยู่ที่เมืองเปียนฮวน (เมืองสมมติ อยู่ตรงกลางระหว่างทางเหนือกับทางใต้นับเป็นชัยภูมิสำคัญ) ทำให้ได้เป็นเพื่อนสนิทของหลิวอวี้ด้วย


ประวัติศาสตร์ช่วงนี้จะเป็น 2 ส่วน ได้แก่

จีนตอนใต้ คือ ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ซึ่งยังคงใช้ระบบการปกครองแบบเดิมต่อไป จนนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ในที่สุด

จีนตอนเหนือ คือ 16 แคว้นห้าชนเผ่า แบ่งได้เป็น 2 ยุคย่อย ได้แก่ ยุคต้น การสถาปนาชนเผ่า และยุคหลัง แดนมิคสัญญี

2 ยุคย่อยของ 16 แคว้นห้าชนเผ่านี้ แบ่งด้วยเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ยุทธการณ์รบที่แม่น้ำเฝยสุย ที่ฝ่ายราชวงศ์จิ้นตะวันออกเป็นฝ่ายชนะแคว้นเฉียนฉิน ที่นำโดยฝูเจียน โดยฝ่ายใต้มีเซี่ยอานเป็นผู้บัญชาการรบ (การรบครั้งนี้ฝ่ายใต้มีกำลังรบน้อยกว่ามาก แต่กลับรบชนะอย่างงดงาม)

หลังการพ่ายแพ้ กองกำลังต่างๆ ของฝ่ายเหนือที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถของฝูเจียน ภายหลังฝูเจียนถูกลอบสังหาร ฝ่ายเหนือจึงแตกเป็นเสี่ยงๆ อีกครั้ง

ทางด้านฝ่ายใต้ ซึ่งมีเซี่ยอานเป็นขุนนางที่มีความสามารถมาก ก็ถูกระแวงโดยทางราชวงศ์จิ้นตะวันออก ต่อมาไม่นานก็สิ้นชีวิตลง ทำให้ราชวงศ์จิ้นตะวันออกเข้าสู่การล่มสลายในเวลาต่อมา (หลิวอวี้ เริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยเข้ามาเป็นทหารชั้นผู้น้อย ในกองกำลังฝู่เป่ยของเซี่ยเสียน หลานชายของเซี่ยอาน เซี่ยเสียนเป็นแม่ทัพผู้มีความสามารถมาก แต่ล้มป่วยเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่ม)

กองกำลังฝู่เป่ยเป็นกองกำลังที่จัดตั้งขึ้นโดยเซี่ยอานและเซี่ยเสียน (ตระกูลเซี่ยนับเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งในยุคราชวงศ์จิ้น) รับสมัครบุคคลเข้ารับราชการทหาร โดยไม่คำนึงถึงชนชั้นวรรณะ แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของทั้ง 2 ท่านได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่คนดีมักอายุสั้น


ยุคนี้เป็นยุคแห่งความวุ่นวายและเต็มไปด้วยการทำสงครามชิงอำนาจ ท้ายที่สุด ประวัติศาสตร์จีนก็จะเข้าสู่ยุคต่อไป คือ ยุคราชวงศ์เหนือใต้

ยุคราชวงศ์เหนือใต้ ยังคงแบ่งการเล่าประวัติศาสตร์ออกเป็น 2 ส่วนต่อไป คือ ราชวงศ์ทางเหนือกับราชวงศ์ทางใต้ จนกระทั่งถึงการรวมแผ่นดินสำเร็จอีกครั้งของราชวงศ์สุย


Silph
[ 25-03-2007 - 23:29:23 ]







ราชวงศ์สุย

นิยายเรื่องดังในช่วงเวลานี้ คือ เรื่อง มังกรคู่สู้สิบทิศ ของหวงอี้ (อีกแล้ว) เป็นเรื่องราวของ 2 อันธพาลน้อย นักล้วงกระเป๋า โค่วจง กับ ฉีจื่อหลิง ที่จับพลัดจับผลูเข้าไปมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ช่วงการล่มสลายของราชวงศ์สุย จนถึงมีส่วนส่งเสริมให้หลี่ซื่อหมิน ก้าวขึ้นเป็น ถังไท่จงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ถัง หนึ่งในจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

สุยเหวินตี้ (581 – 600) สถาปนาราชวงศ์สุย โดยมีนครหลวงอยู่ที่เมืองต้าซิ่ง (ซีอันในปัจจุบัน)

สุยเหวินตี้ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุย นับเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถ ทำการรวมแผ่นดินได้สำเร็จ โดย

ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับชนเผ่าทูเจี๋ยว์ตะวันออก(พวกเติร์ก) ทางเหนือ (จะได้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง)

จากนั้นจัดกำลังบุกลงใต้ และเข้ายึดเมืองเจี้ยนคังนครหลวงของราชวงศ์เฉินได้ในปี 589 ยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมากว่า 270 ปีได้ในที่สุด

ภายหลังการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุย สภาพสังคมโดยรวมได้รับการฟื้นฟูจากภาวะสงคราม มีการเติบโตด้านการผลิต เกิดความสงบสุขระยะหนึ่ง

สุยเหวินตี้ ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยยุบรวมเขตปกครองในท้องถิ่น ลดขนาดองค์กรบริหาร รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง

ฮ่องเต้กุมอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางทหาร การปกครองและเศรษฐกิจ โดยมีขุนนางเป็นเพียงผู้ช่วยในการบริหาร ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการแก่งแย่งอำนาจและเป็นการลิดรอนอำนาจในส่วนท้องถิ่น อันเป็นสาเหตุของการแตกแยกที่ผ่านมา

ได้ริเริ่มระบบการสอบรับราชการขุนนางขึ้น (สอบจอหงวน) เพื่อคัดเลือกบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน และได้ช่วยให้เกิดเสถียรภาพในระบบรวมศูนย์อำนาจเป็นอย่างดี

สุยเหวินตี้ทรงนับถือพุทธศาสนา โปรดการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายประหยัด ตลอดรัชสมัยมีฮองเฮาเพียงพระองค์เดียว นับเป็นกษัตริย์ที่ดีพระองค์หนึ่ง

แต่ลูกชายทั้ง 2 คนกลับตรงกันข้าม รัชทายาทหยางหย่งกลับเลี้ยงดูสนม นางระบำไว้มากมาย ปี 600 สุยเหวินตี้ ทรงปลดรัชทายาทหยางหย่ง(มองแล้วไม่ได้ความ...ปลดซะ)

แต่งตั้งราชโอรสองค์รองหยางกว่าง ขึ้นแทน (ตามเรื่องเล่า หยางกว่างแสร้งทำตัวเรียบง่าย ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้ออยู่หลายปี จนพระบิดาหลงเชื่อแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาท พอได้รับการแต่งตั้งเท่านั้นแหละ ลายออกมาหมดเลย แย่กว่าคนพี่อีกแฮะ)

หยางกว่างร่วมมือกับอวี้เหวินซู่และหยางซู่ วางแผนแย่งชิงบัลลังก์( กรรม...หนักกว่าพี่มันอีก) ปี 604 สุยเหวินตี้ สิ้นพระชนม์กระทันหัน(คาดว่าถูกฆ่าโดยลูกตัวเอง) หยางกว่างสืบราชบัลลังก์ต่อมา มีพระนามว่า สุยหยางตี้


หยางกว่างเมื่อขึ้นครองราชย์ ก็ลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย

เกณฑ์แรงงานชาวบ้านนับล้านสร้างนครหลวงตะวันออกแห่งใหม่ที่ลั่วหยาง และอุทยานตะวันตกที่มีอาณาบริเวณกว่า 100 กิโลเมตร

ซ่อมสร้างกำแพงหมื่นลี้

ยกทัพบุกเกาหลี3ครั้ง(เกาหลีในยุคนี้ตรงกับสมัยอาณาจักรโบราณทั้งสามของเกาหลี ประกอบด้วย โคคูเรียว แพ็กเจ และชิลลลา ปกครองตลอดคาบสมุทรเกาหลี และแผ่นดินส่วนใหญ่ในแมนจูเรียด้วย) ผู้คนล้มตายนับไม่ถ้วน

นอกจากนี้ ยังขุดคลองต้าอวิ้นเหอเพื่อการท่องเที่ยวแดนเจียงหนัน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก

ชาวบ้านอดอยากได้ยาก มีประชาชนที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารและแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนจรไร้ที่อยู่ เป็นเหตุให้เกิดการลุกฮือขึ้นของกบฎชาวนา

ยังมีบรรดาข้าราชสำนักต่างทยอยติดอาวุธขึ้นตั้งตนเป็นใหญ่ ที่สำคัญได้แก่

1.หลัวอี้ ตั้งฐานที่มั่นในจั๋วจวิน (ปักกิ่งในปัจจุบัน)
2.เหลียงซือตู สถาปนาแคว้นเหลียงที่ซั่วฟาง(มองโกเลียใน)
3.หลิวอู่โจว ที่หม่าอี้(มณฑลซันซี)
4.เซียว์จี่ว์ ที่จินเฉิง (หลันโจวมณฑลกันซู่)
5.หลีกุ่ย สถาปนาแคว้นต้าเหลียงที่อู่เวย
6.หลี่ยวน สถาปนาราชวงศ์ถังที่กวนจง (ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง บิดาของหลี่ซื่อหมิน)
7.เซียวเสี่ยน ตั้งตนเป็นเหลียงตี้ที่ปาหลิง(เมืองเยว่หยางมณฑลหูหนัน)
8.เสินฝ่าซิง ตั้งตนเป็นเหลียงหวังที่เมืองอู๋ซิ่ง

ต่างฝ่ายเข้าร่วมในการช่วงชิงแผ่นดิน โดยถือเอากองกำลังที่ลุกฮือขึ้นเป็นกบฎที่ต้องปราบปราม (คล้ายๆสามก๊ก ตอนที่เหล่าขุนศึกตั้งตัวปราบโจรผ้าเหลืองนั่นแหละ)

ต่อมา กลุ่มกบฎชาวนาและกองกำลังที่ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นต่างทยอยถูกกองทัพราชวงศ์ถังกำจัดกวาดล้างไป ราชวงศ์ถังจึงสืบทอดการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุยต่อมา
Silph
[ 25-03-2007 - 23:34:34 ]







เฮ้อ เหนื่อยแล้วอ่ะ เอาไว้ค่อยต่อวันหลังนะ ^-^
Silph
[ 26-03-2007 - 08:40:12 ]







เอาล่ะ มาได้ประมาณครึ่งทางแล้ว ขอสรุปแบบสั้นอีกที ก่อนจะเล่าต่อนะ

ลำดับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์จีน เรียงตามลำดับ ดังนี้

1. ยุคจักรพรรดิเหลือง
สิ้นสุดเพราะการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง


2. ราชวงศ์เซี่ย
สิ้นสุดเพราะการแย่งชิงอำนาจภายใน


3. ราชวงศ์ซาง
สิ้นสุดเพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เอาแต่พวกพ้อง การขัดผลประโยชน์
และการดำเนินนโยบายทางการทหารผิดพลาด


4. ราชวงศ์โจว
สิ้นสุดเพราะการแข็งข้อของผู้ครองแคว้นต่างๆ


5. ราชวงศ์โจวตะวันออกหรือยุครัฐสงคราม
เป็นยุคแห่งความวุ่นวายครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน เต็มไปด้วยสงครามแย่งชิงอำนาจ
ผู้คนล้มตายราวใบไม้ร่วง


6. ราชวงศ์ฉิน เป็นยุคที่มีการรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นสำเร็จเป็นครั้งแรก
มีการริเริ่มโครงการหลายอย่างที่เป็นรากฐานสำคัญของจีนในเวลาต่อมา
สิ้นสุดเพราะการปกครองอย่างโหด+++ม และการกดขี่ข่มเหงประชาชน


7. ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองยุคหนึ่งของจีน เป็นที่มาของคำเรียกตนเองของคนจีนว่า "ชาวฮั่น"
สิ้นสุดเพราะระบอบการปกครองล้มเหลว เกิดการขัดแย้งทางชนชั้น
และการลุกฮือของกบฏชาวนา


8. ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ที่จริงเป็นการตั้งราชวงศ์ใหม่ แต่ยังคงใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นเหมือนเดิม
สิ้นสุดเพราะการเกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือ
และบรรดาเจ้าที่ดินที่มีกำลังกล้าแข็งต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่


9. สามก๊ก เป็นยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์จีน
ส่วนรายละเอียด พวกเราคงพอทราบกันอยู่แล้วล่ะนะ


10. ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ท้ายสุด ตระกูลสุมา เป็นผู้รวมแผ่นดินได้สำเร็จอีกครั้ง
สิ้นสุดเพราะการขัดแย้งทางชนชั้น และการกดขี่ข่มเหงประชาชน


11. ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (จีนตอนใต้) กับ 16 แคว้นห้าชนเผ่า (จีนตอนเหนือ)
ราชวงศ์จิ้นตะวันออก คือ ราชวงศ์จิ้นตะวันตกเดิมที่หนึลงมาทางใต้
16 แคว้นห้าชนเผ่า คือ กลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือที่มีกำลังเข้มแข็งขึ้น

ยุคนี้นับเป็นยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์จีน ช่วงนี้การเล่าประวัติศาสตร์จีน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทางตอนเหนือ และทางตอนใต้ ที่มีพัฒนาการแตกต่างกัน กล่าวคือ

ทางตอนเหนือ มีการรุกล้ำเข้ามาอาศัยของชนเผ่าต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญ เป็นผลต่อความเป็นเอกภาพของจีนในเวลาต่อมา

ทางตอนใต้ ยังคงมีการรักษาวัฒนธรรมชาวฮั่นไว้อย่างเหนียวแน่น ถือเป็นการรักษารากเหง้าของชนชาติจีนเอาไว้


12. ราชวงศ์เหนือใต้ ต่อมาได้มีการรวบรวมแผ่นดินทางตอนเหนือและใต้ได้สำเร็จ เกิดเป็นสภาพประจันหน้ากันอยู่เป็นเวลานาน

13. ราชวงศ์สุย สุยเหวินตี้ฮ่องเต้ทำการรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง แต่เสียดายที่มีบุตรไม่ดี ทำให้ราชวงศ์สุยสิ้นสุดเพียงรัชกาลที่ 2 เท่านั้น
สิ้นสุดเพราะกบฎชาวนา และบรรดาข้าราชสำนักต่างทยอยติดอาวุธขึ้นตั้งตนเป็นใหญ่


14. ราชวงศ์ถัง เดี๋ยวเอาไว้เล่าต่อนะ
Silph
[ 26-03-2007 - 08:56:10 ]







เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ

แม้ว่าสุยหยางตี้ฮ่องเต้จะเป็นหนึ่งในฮ่องเต้ทรราชในประวัติศาสตร์จีน แต่เขาก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนด้วย คือ

การขุดคลองต้าอวิ้นเหอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวแดนเจียงหนัน


คลองต้าอวิ้นเหอ นับเป็นคลองขุดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เชื่อมการคมนาคมระหว่างจีนทางตอนเหนือและใต้เข้าด้วยกัน ทำให้การคมนาคมในยุคต่อมาสะดวกสบายขึ้นอย่างมาก

แล้วมันส่งผลยังไงต่อประวัติศาสตร์จีนนะเหรอ

คือว่า แต่เดิมการคมนาคมขนส่งสินค้าต่างๆ ของจีนตอนเหนือและใต้ มีอุปสรรคจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องใช้การขนส่งทางทะเลเป็นสำคัญ

การที่ต้องขนส่งทางทะเลนี้ ทำให้จีนมีการพัฒนาการก่อสร้างเรืออย่างต่อเนื่อง (กล่าวว่า เรือในยุคนั้นของจีนเหนือกว่าเรือรบของทางยุโรปที่ยกมารุกรานจีนในหลายร้อยปีในหลังเสียอีก)


การขุดคลองดังกล่าว ทำให้ความสำคัญของการคมนาคมทางทะเลของจีนลดลง การพัฒนารูปแบบการก่อสร้างเรือของจีนหยุดชะงักลง จนถึงขั้นถดถอย

มาลองจินตนาการดูว่า หากไม่มีการขุดคลองดังกล่าว และจีนยังคงพัฒนาการต่อเรืออย่างต่อเนื่อง จีนอาจกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลไปแล้วก็ได้และประวัติศาสตร์โลกก็คงเปลี่ยนไปจากที่เราเคยรู้จัก
Silph
[ 26-03-2007 - 10:02:51 ]







มาต่อกันเลยครับ

ราชวงศ์ถัง

เป็นราชวงศ์ที่ปกครองจีนอย่างยาวนานมาก ประมาณ 300 ปี นับเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุดของจีนยูคหนึ่ง โดยเฉพาะในรัชสมัยของถังไท่จงฮ่องเต้

จักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของราชวงศ์นี้ ได้แก่ ถังไท่จงฮ่องเต้

ถังไท่จงฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของราชวงศ์ถัง เป็นผู้ที่มีความสามารถมาก มีการปฏิรูปหลายอย่างในยุคสมัยของพระองค์

แม้ว่าจะถูกครหาว่า ขึ้นครองราชย์โดยใช้ชีวิตของพี่น้องร่วมสายเลือดเป็นบันไดก็ตาม

ถังไท่จงฮ่องเต้

เป็นจักรพรรดิองค์แรกๆ ที่ยอมให้ขุนนางเสนอความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่อพระองค์ (เป็นสมัยก่อน ถูกตัดหัวตายไปแล้ว)

ยุคสมัยของพระองค์ยังเป็นยุคที่ยังมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติสูงมาก แต่พระองค์วางนโยบายปฏิบ้ติต่อทุกชนเผ่าอย่างเสมอภาค ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ

มีการเปิดรับความรู้ วิทยาการจากต่างชาติอย่างกว้างขวาง
(อันนี้สำคัญมาก เพราะเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการล่มสลายของระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชของจีนในเวลาต่อมา)


นอกจากถังไท่จงฮ่องเต้แล้วยังมีอีกคนที่ต้องกล่าวถึง คือ

พระจักรพรรดินีพระองค์แรกและพระองค์เดียวของจีน "บูเช็กเทียน"

ราชวงศ์ถังล่มสลายเพราะ "ขันทีครองเมือง"
Silph
[ 26-03-2007 - 10:30:52 ]







ต่อจากราชวงศ์ถัง ก็เป็นยุคแห่งความวุ่นวายครั้งที่ 4 ของจีน ต่อจาก

ครั้งที่ 1 ราชวงศ์โจวตะวันออก หรือ ยุครัฐสงคราม

ครั้งที่ 2 สามก๊ก

ครั้งที่ 3 ราชวงศ์จิ้นตะวันออก กับ 16 แคว้นห้าชนเผ่า ต่อด้วยยุคราชวงศ์เหนือใต้

ครั้งที่ 4 เรียกว่า ยุค 5 ราชวงศ์ 10 แคว้น กินเวลา 50 กว่าปี

จากนั้นก็เข้าสู่

ราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127)

การรวมแผ่นดินครั้งนี้ค่อนข้างแปลก เกิดจากซ่งไท่จู่จัด "งานเลี้ยงสุราปลดอาวุธ" เริ่มต้นการรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

จากนั้น ออกกฎระเบียบใหม่ ให้มีเพียงขุนนางระดับสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาราชกิจ โดยมีกษัตริย์เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ขุนนางเป็นเพียงผู้รับไปปฏิบัติ ไม่ได้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะข้อราชการดังเช่นแต่ก่อน

นับแต่นั้นมา อำนาจเด็ดขาดทั้งมวลจึงตกอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว (อีกครั้ง)

หมายเหตุ ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะช่วงที่ผ่านมา มีการกระจายอำนาจให้แก่ขุนนางมาก จนก่อให้เกิดความวุ่นวายอยู่บ่อยครั้ง

ต่อจากนั้น เริ่มทำการปราบปรามแว่นแคว้นต่างๆ สุดท้ายคงเหลือสภาพเผชิญหน้ากันระหว่างราชวงศ์เหลียว (ชนเผ่าคีตัน) กับราชวงศ์ซ่งเหนือ

ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า การรวมแผ่นดินของราชวงศ์ซ่งเหนือ ยังทำได้ไม่สำเร็จสมบูรณ์เหมือนครั้งราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์จิ้นตะวันตก และราชวงศ์สุย

เพราะยังเหลือราชวงศ์เหลียวเป็นหอกข้างแคร่อยู่

Silph
[ 26-03-2007 - 10:34:44 ]







นิยายเรื่องดังในช่วงเวลานี้ของประวัติศาสตร์ ได้แก่ เรื่อง 8 เทพอสูรมังกรฟ้า

เกิดขึ้นในช่วงการเผชิญหน้าระหว่างราชวงศ์เหลียว (ชนเผ่าคีตัน) กับราชวงศ์ซ่งเหนือ (ก่อนเรื่องมังกรหยกภาคแรกร้อยกว่าปี)

เฉียวฟง หรือ เซียวฟง นับว่าเป็นตัวละครที่โดดเด่นมากในเรื่องนี้ เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชังกันระหว่าง 2 ชนเผ่า

เฉียวฟง เป็นชาวคีตันที่เติบโตขึ้นมาในแผ่นดินซ่ง เข้าใจว่าตนเองเป็นชาวซ่ง แต่เมื่อความจริงเปิดเผย ทำให้เขาต้องลาออก (ถูกขับออก) จากตำแหน่งเจ้าสำนักพรรคกระยาจก ทั้งที่เป็นผู้นำพรรคกระยาจกที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

18 ฝ่ามือสยบมังกรของเฉียวฟงนับได้ว่า ฝึกฝนจนถึงขีดสุด แทบไร้ผู้ต่อต้าน

การลาออก (ถูกขับไล่จากสำนัก) ของเขาทำให้ต่อมา เคล็ดวิชา 18 ฝ่ามือสยบมังกรสูญหายเหลือเพียง 9 ท่าในยุคอั้งชิดกง ขอทานเหนือ ทำให้อั้งชิดกงต้องคิดค้นท่าใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่อานุภาพก็ลดลงไปมาก

ก๊วยเจ๋งเองก็ฝึกวิชาต่อจากอั้งชิดกง แต่ว่าเนื่องจากได้เรียนรู้วิชาจากคัมภีร์นพเก้าด้วย จึงทำให้สามารถพัฒนาวิชา 18 ฝ่ามือสยบมังกรจนเหนือล้ำกว่าผู้เป็นอาจารย์ (ระหว่างเฉียวฟงกับก๊วยเจ๋ง ใครจะเหนือกว่านั้นยากจะพิสูจน์ได้)


เฉียวฟงฆ่าตัวตายในตอนท้ายของเรื่อง จากความสับสนในใจที่ตัวเขาเข้ายับยั้งการยกทัพเข้าตีอาณาจักรซ่งเหนือของราชวงศ์เหลียว (ความขัดแย้งจากชาติกำเนิด, บุญคุณความแค้นจากเพื่อนพ้องชาวยุทธ, ความผูกพันที่มีต่อแผ่นดินที่เติบโตขึ้นมา และสุดท้ายความเจ็บปวดของการสูญเสียคนรัก)

เขาทำถูกหรือไม่ ไม่มีใครรู้ เขาทรยศต่อแผ่นดินเกิดหรือไม่ (ทหารเหลียวถูกเกณฑ์มารบ แท้จริงส่วนใหญ่ก็ไม่อยากทำสงคราม) ก็ยากที่จะหาคำตอบ

สิ่งที่เขาทำให้กับแผ่นดินซ่งเหนือ มันคุ้มค่ากับที่ชาวซ่งขับไล่เขาหรือไม่ แต่ที่แน่นอนที่สุด เขาได้ยับยั้งไม่ให้เกิดการฆ่าฟัน การสูญเสียชีวิตของประชาชนผู้ไร้ความผิดจำนวนมาก


เฉียวฟงนับเป็นตัวละครที่ผมชอบมากๆ เป็นการส่วนตัวครับ ^-^
Silph
[ 26-03-2007 - 10:51:02 ]







เพื่อความเข้าใจจะขออธิบายต่อนะครับ

ในตอนเริ่มแรกของราชวงศ์ซ่งเหนือ คงเหลือเพียงราชวงศ์เหลียว (ชนเผ่าคีตัน) เป็นศัตรูสำคัญ

ต่อมา ได้มีการปรากฎขึ้นอาณาจักรจิน (ต้นตระกูลของชาวแมนจู) ทำให้ราชวงศ์ซ่งเหนือ ซึ่งอ่อนแอลง ต้องหนีไปยังตอนใต้ของจีน เข้าสู่ยุคต่อมา ที่มีการเผชิญหน้ากันของ 3 อาณาจักร คือ

ราชวงศ์เหลียว อยู่ทางตอนเหนือของจีน

อาณาจักรจิน อยู่ตอนกลางของจีน

และราชวงศ์ซ่งใต้ อยู่ทางตอนใต้ของจีน


แต่แล้ว ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อผู้นำชนเผ่ามองโกลทางตอนเหนือเริ่มมีอำนาจเข้มแข็งขึ้น ราชวงศ์เหลียวถึงกาลล่มสลาย

อาณาจักรจิน และซ่งใต้ ต่อสู้กันจนเสียหายทั้ง 2 ฝ่าย

ท้ายที่สุด ถูกชนเผ่ามองโกลจากทางเหนือ นำโดย เจงกีสข่าน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่อีกผู้หนึ่งของจีน กรีฑาทัพลงมาปราบจนราบคาบ ก่อตั้งเป็นราชวงศ์หยวน นับเป็นการรวมแผ่นดินจีนสำเร็จเป็นครั้งที่ 4


ต่อจากราชวงศ์ฉิน (จิ๋นซีฮ่องเต้) ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ตระกูลสุมา ขุนนางสมัยสามก๊ก ลูกหลานของสุมาอี้ คู่ปรับของขงเบ้งนั่นเอง) และราชวงศ์สุย (สุยเหวินตี้ฮ่องเต้)
Silph
[ 26-03-2007 - 11:02:35 ]







นิยายดังในช่วงเวลานี้ของประวัติศาสตร์จีน คือ มังกรหยก ภาค 1 และภาค 2

ถ้าสังเกตให้ดี เนื้อหาของเรื่องนี้จะเน้นเรื่องการกู้ชาติเป็นอย่างมาก ชาวฮั่นถือว่า ชาวมองโกลเป็นชนเผ่าป่าเถื่อน ทำให้ไม่ยอมรับการปกครองจากชนต่างชาติ

หมายเหตุ

ช่วงนั้นในประวัติศาสตร์จีน การหลอมรวมทางวัฒนธรรมได้ทำให้ชนเผ่าเล็กๆ ต่างๆ ถูกกลืนเข้าไปในสังคมชาวฮั่นมากแล้ว

ความขัดแย้งทางเชื้อชาติภายในลดลงมาก คงเหลือชนเผ่าไม่กี่ชาติเชื้อที่ยังถูกมองว่า "เป็นคนนอก" และชาวมองโกลถือเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

การต่อต้านของชาวฮั่น ทำให้ราชวงศ์หยวนปกครองบ้านเมืองด้วยความยากลำบาก มีแต่ช่วงแรกของราชวงศ์ที่มีกษัตริย์ที่มีความสามารถมาก เช่น เจงกีสข่าน และ กุบไลข่าน เท่านั้นที่สร้างความยำเกรงต่อชาวฮั่นจนไม่สามารถก่อการใดๆ ได้

ท้ายสุด ราชวงศ์หยวนก็สิ้นสุดลง เพราะการต่อต้านของชาวฺฮั่น นำไปสู่ยุคถัดไป ... ราชวงศ์หมิง
Silph
[ 26-03-2007 - 11:15:57 ]







นิยายดังในช่วงรอยต่อระหว่างช่วงปลายราชวงศ์หยวน กับ ก่อนการก่อตั้งราชวงศ์หมิง คือ มังกรหยก ภาค 3 (กระบี่อิงฟ้า ดาบฆ่ามังกร) หรือ ดาบมังกรหยก

มังกรหยก ภาค 3 เป็นเรื่องหลังจาก 2 ภาคแรกถึงร้อยกว่าปี

กระบี่อิงฟ้า ดาบฆ่ามังกร เป็นก๊วยเจ๋งและอึ้งย้งจัดสร้างขึ้น เพื่อซุกซ่อนตำราพิชัยสงครามสำคัญ ทิ้งไว้ให้ลูกหลานใช้สำหรับกู้ชาติ

สำนักง๊อไบ๊ที่มีบทบาทมากในภาคนี้ ก๊วยเซียง ภูตบูรพาน้อย ลูกสาวคนเล็กของก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้งเป็นผู้ก่อตั้ง เมื่อออกบวช หลังจากผิดหวังจากความรัก (หลงรักเอี้ยก้วยข้างเดียว)


เรื่องนี้จบลงก่อนการก่อตั้งราชวงศ์หมิงเล็กน้อย

ในส่วนภาพยนตร์ / ละคร มักตัดตอนสุดท้ายของเรื่องออกไป เพราะทำให้พระเอก คือ เตียบ่อกี้ ดูด้อยลงไป

ในภาพยนตร์ / ละคร เรื่องจะจบตรงที่ เตียบ่อกี้สามารถนำความสงบคืนสู่ยุทธภพ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่มีอำนาจมาก เป็นความหวังของชาวฮั่นในการกู้ชาติต่อไป

แต่กิมย้งได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย จึงได้เขียนต่อในตอนสุดท้ายของเรื่องว่า

หลังจากนั้น เตียบ่อกี้ ได้ถูกลูกพรรคบางกลุ่มตั้งแง่ต่อต้าน เพราะคบหากับเจ้าหญิงชาวมองโกล จนถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

จากนั้น พรรคก็เข้าสู่ยุคเสื่อมและล่มสลายลง จึงไม่มีชื่อปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์จีน
Silph
[ 26-03-2007 - 11:23:03 ]







ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644)

หมิงไท่จู่ (จูหยวนจาง) ก่อตั้งนครหนานจิง(นานกิง) เป็นเมืองหลวง

และได้ปฏิรูประบอบการเมือง การทหาร และทุกๆด้านเป็นแบบครบวงจร ระบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางได้รับการพัฒนาถึงขีดสุด

ในช่วงต้นราชวงศ์นั้น หมิงไท่จู่ใช้นโยบายสงเคราะห์ประชาชน เนื่องจากได้ผ่านไฟสงครามมานานแล้ว

เศรษฐกิจของประเทศได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และเจริญกว่าสมัยก่อนๆทุกสมัย

เมื่อรวมกับผลงานกู้ชาติฮั่นจากชนต่างเผ่า หมิงไท่จู่จึงได้รับการสดุดีให้สูงส่งเสมอ ฮั่นกวงอู่ตี้(เล่าสิ้วผู้กู้ราชวงศ์ฮั่น) และถังไท่จง(หลี่ซื่อหมิงผู้ปรีชา)


ราชวงศ์หมิง สิ้นสุดเพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวงทั่วแผ่นดิน การเพิ่มการเก็บภาษี บวกกับเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายขาดลง เหล่าราษฎรและทหารรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยก่อจลาจลในหลายพื้นที่ กินเวลาหลายปี

เปิดโอกาสให้ชาวแมนจูเข้ารุกรานได้สำเร็จ ก่อตั้งเป็นราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน



ต้องสมัครเป็นสมาชิกและ login เข้าสู่ระบบก่อนถึงจะสามารถลงความเห็นได้

เว็บนี้มีการใช้งาน cookie
ยอมรับ
ไม่ยอมรับ