ประวัติศาสตร์จีน 2,000 ปี กับนิยายกำลังภายในเรื่องดัง

Silph
[ 24-03-2007 - 23:12:14 ]







ราชวงศ์ใต้ (ค.ศ. 420 – 589)

ค.ศ. 420 ราชวงศ์จิ้นตะวันออกล่มสลาย ทางภาคใต้ของจีนได้ปรากฏราชวงศ์ที่ก้าวขึ้นปกครองดินแดนทางตอนใต้ของจีน 4 ราชวงศ์ตามลำดับ ได้แก่ ซ่ง ฉี เหลียง และเฉิน โดยมีระยะเวลาในการปกครองค่อนข้างสั้นรวมแล้วเพียง 95 ปีเท่านั้น ในบางราชวงศ์ที่สั้นที่สุด มีเวลาเพียง 23 ปีเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่จีนมีอัตราการผลัดแผ่นดินสูงมาก

ซ่ง (ค.ศ. 420 – 479)

หลิวอี้ว์ ผู้สถาปนาราชวงศ์ซ่ง ซึ่งได้พัฒนาตัวเองจนเข้มแข็งขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก โดยหลิวอี้ว์ได้ชัยชนะจากการแก่งแย่งอำนาจของ 4 ตระกูลใหญ่ แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันออก ดังนั้น ในปีค.ศ. 420 หลิวอี้ว์ถอดถอนฮ่องเต้ราชวงศ์จิ้น สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยใช้ชื่อราชวงศ์ซ่ง เพื่อแยกแยะการเรียกหาออกจากราชวงศ์ซ่งในยุคหลัง ดังนั้นในยุคนี้ ประวัติศาสตร์จีนจึงเรียกว่า หลิวซ่ง

เนื่องจากหลิวอี้ว์ถือกำเนิดในชนชั้นยากไร้ อีกทั้งได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของจิ้นตะวันออก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการต่อสู้กันเองของกลุ่มตระกุลใหญ่กันเอง ดังนั้น หลังจากที่หลิวอี้ว์ขึ้นครองบัลลังก์ ก็ไม่ให้ความสำคัญกับบรรดากลุ่มตระกูลใหญ่อีก โดยหันมาคัดเลือกกำลังคนจากกลุ่มชนชั้นล่าง และอำนาจทางการทหารก็มอบให้กับบรรดาเชื้อพระวงศ์และบุตรหลานของตน เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับการแก่งแย่งของกลุ่มชนชั้นตระกูลใหญ่ ซ้ำรอยความผิดพลาดของจิ้นตะวันออกอีก แต่ทว่า เนื่องจากในบรรดาเชื้อพระวงศ์เองก็ยังมีการแก่งแย่งชิงอำนาจกันเอง สุดท้ายต่างประหัตประหารกันและกันอย่างอเนจอนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลิวอี้ว์เองก็คาดไม่ถึง

ก่อนปี 422 หลิวอี้ว์สิ้น ซ่งเส้าตี้ และเหวินตี้ ขึ้นครองราชย์โดยลำดับ หลิวอี้หลง หรือซ่งเหวินตี้ อยู่ในบัลลังก์ 30 กว่าปี เป็นยุคสมัยที่ราชวงศ์ซ่งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดช่วงเวลาหนึ่ง ขณะนั้น วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ของบ้านเมืองอยู่ในระหว่างขาขึ้น ระหว่างปี 430 – 451 ราชวงศ์ซ่งและเป่ยวุ่ยจากทางเหนือ เกิดสงครามเหนือใต้ สุดท้ายไม่มีผู้ชนะ ต่างต้องประสบกับความเสียหายใหญ่หลวง เป็นเหตุให้ระหว่างราชวงศ์เหนือใต้ ต่างอ่อนล้าลง ไม่มีกำลังเปิดศึกใหญ่อีก นับแต่นั้นมา ต่างฝ่ายก็คุมเชิงกันต่อมา

ปี 454 เมื่อเหวินตี้สิ้น เสี้ยวอู่ตี้- หมิงตี้ ขึ้นครองราชย์โดยลำดับ ทั้งสองถือเป็นกษัตริย์ทรราชที่ขึ้นชื่อลือเลื่องในประวัติศาสตร์จีน อีกทั้งกษัตริย์องค์ต่อมาล้วนกระทำการ+++มโหด มากระแวง ทำให้ลงมือเข่นฆ่าพี่น้องวงศ์วานอย่าง+++มโหด บ้านเมืองจึงตกอยู่ในสภาพความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ระหว่างนั้น แม่ทัพฝ่ายขวา เซียวเต้าเฉิง สังหารเฟ่ยตี้ ยกบัลลังก์ให้กับซุ่นตี้ ที่มีอายุเพียง 11 ขวบ(หุ่นอีกล่ะ) ฉวยโอกาสเข้ากุมอำนาจบริหารบ้านเมือง ต่อมาในปี 479 ล้มล้างซ่ง สถาปนาราชวงศ์ฉี ทรงพระนาม ฉีเกาตี้

ฉี (ค.ศ. 479 – 502)

ราชวงศ์ฉี เป็นราชวงศ์ที่มีอายุสั้นที่สุดในสี่ราชวงศ์ มีระยะเวลาการปกครองเพียง 23 ปีเท่านั้น ฉีเกาตี้หรือเซียวเต้าเฉิง ได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของราชวงศ์ซ่ง จึงดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากกว่า รณรงค์ให้มีการประหยัด เซียวเต้าเฉิงอยู่ในบัลลังก์ได้ 4 ปี ก่อนเสียชีวิต ได้ส่งมอบแนวทางการปกครองให้กับบุตรชาย อู่ตี้ ไม่ให้เข่นฆ่าพี่น้องกันเอง อู่ตี้เคารพและเชื่อฟังคำสอนนี้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะสุขสงบชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากอู่ตี้สิ้น ราชวงศ์ฉีก็กลับเดินตามรอยเท้าของราชวงศ์ซ่งที่ล่มสลาย บรรดาเชื้อพระวงศ์ต่างจับอาวุธขึ้นเข่นฆ่าล้างผลาญญาติพี่น้องกันเอง ผู้ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ก็มักเต็มไปด้วยความหวาดระแวง บรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักแทบว่าจะถูกประหารไปจนหมดสิ้น การเมืองภายในระส่ำระสายอย่างหนัก ในปีค.ศ. 501 เซียวเอี่ยน พ่อเมืองยงโจว ยกพลบุกนครหลวงเจี้ยนคัง เข้ายุติการเข่นฆ่ากันเองของราชวงศ์ฉี

เหลียง (ค.ศ. 502 – 557)

เซียวเอี่ยน สถาปนาราชวงศ์เหลียง ในปีค.ศ. 502 ตั้งตนเป็นเหลียงอู่ตี้ ครองราชย์ต่อมาอีก 48 ปี ทรงนับถือพุทธศาสนาและมีความเป็นอยู่อย่างสมถะ ด้านศิลปวัฒนธรรมมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่การทหารกลับอ่อนแอลง เมื่อถึงปลายรัชกาลระบบการปกครองล้มเหลว ขุนนางครองเมือง

จวบจนปีค.ศ. 548 ขุนพลโหวจิ่ง แห่งวุ่ยตะวันออกลี้ภัยการเมืองเข้ามาพึ่งพิงราชวงศ์เหลียง แต่ภายใต้ข้อเสนอแลกเปลี่ยนที่เย้ายวนใจ ราชสำนักเหลียงคิดจับกุมตัวโหวจิ่งเพื่อส่งกลับวุ่ยตะวันออก บีบคั้นให้โหวจิ่งลุกฮือขึ้นก่อกบฏ โดยร่วมมือกับบุตรชายของอู่ตี้นาม เซียวเจิ้งเต๋อ คอยเป็นไส้ศึกภายใน จนสามารถบุกเข้านครหลวงเจี้ยนคัง ปิดล้อมวังหลวงไว้ได้ สุดท้ายเหลียงอู่ตี้ถูกกักอยู่ภายในจนอดตายภายในเมือง จากนั้นโหวจิ่งกำจัดเซียวเจิ้งเต๋อ(สมน้ำหน้าบุตรทรพี) ตั้งฮ่องเต้หุ่นเชิดขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อมา โหวจิ่งยกทัพออกปล้นสะดมเมืองรอบข้าง

จนกระทั่งปีค.ศ. 551 เซียวอี้ โอรสอีกองค์หนึ่งของอู่ตี้ ส่งหวังเซิงเ+++ยน และเฉินป้าเซียน กรีฑาทัพเข้าต่อกรกับโหวจิ่งจนแตกพ่ายไป ระหว่างการหลบหนีโหวจิ่งถูกลอบสังหารเสียชีวิต(จุดจบจอมโฉด) เซียวอี้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา(ปี 552-554) แต่เนื่องจากภายในราชสำนักเกิดการแก่งแย่งทางการเมือง เป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสาย วุ่ยตะวันตกฉวยโอกาสบุกเข้ายึดเมืองเจียงหลิงสังหารเซียวอี้ ตั้งฮ่องเต้หุ่นเชิดของตนขึ้น เฉินป้าเซียนที่เมืองเจี้ยนคังจึงสังหารหวังเซิงเ+++ยน จากนั้นตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ สถาปนาราชวงศ์เฉิน ราชวงศ์เหลียงเป็นอันจบสิ้น

เฉิน (ปี 557 – 589)

เฉินป้าเซียน ตั้งตนเป็นฮ่องเต้นามว่าเฉินอู่ตี้ ช่วงเวลาดังกล่าว แผ่นดินภาคใต้ของจีนที่ต้องตกอยู่ในภาวะวุ่นวายยุ่งเหยิงมาเป็นเวลานาน สภาพเศรษฐกิจทรุดโทรมอย่างหนัก รากฐานบ้านเมืองที่ง่อนแง่น ย่อมไม่อาจคงอยู่ได้นานนัก รัชกาลต่อมายังวนเวียนกับการทำลายล้างฐานอำนาจของคู่แข่ง ทั้งยังต้องสู้ศึกกับกองกำลังจากภาคเหนือ แม้ว่าได้วางรากฐานการปกครองในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายเนื่องจากกำลังทางทหารอ่อนแอ ดังนั้นอาณาเขตการปกครองของราชวงศ์เหลียง จึงเพียงสามารถครอบคลุมถึงเขตทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซีเท่านั้น

เมื่อถึงปี 583 เฉินเซวียนตี้ สิ้น บุตรชายเฉินซู่เป่า ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ขณะนั้น ทางตอนเหนือของจีนมีราชวงศ์สุย ที่ผงาดขึ้นมารวมแผ่นดินทางตอนเหนือของจีนไว้ทั้งหมด จากนั้นเหลือเพียงเป้าหมายการรวมแผ่นดินทางตอนใต้เพื่อเป้าหมายการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ปีค.ศ. 589 สุยเหวินตี้ หยางเจียน กวาดล้างราชวงศ์เฉินที่เหลืออยู่ ยุติความแตกแยกของแผ่นดินที่มีมีมานานกว่า 300 ปีลงในที่สุด

ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างราชวงศ์ที่ปกครองดินแดนเหนือใต้ของจีนในยุคนี้คือ กลุ่มผู้ปกครองของราชวงศ์เหนือล้วนมาจากกลุ่มชนเผ่าทางเหนือ ไม่ใช่ชาวฮั่น ขณะที่ราชวงศ์ใต้สืบทอดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก เกิดจากการสถาปนาราชวงศ์ของชนเผ่าฮั่นสืบต่อกันมา แม้เป็นช่วงเวลาเพียงระยะสั้นๆ แต่ก็ทำให้วัฒนธรรมฮั่นยังคงได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อมา ไม่ต้องถึงกาลล่มสลายไปโดยชนกลุ่มน้อย ดังนั้น การคงอยู่ของราชวงศ์ใต้ โดยนัยทางประวัติศาสตร์ของจีนจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นหัวใจของการคงอยู่หรือล่มสลายของอารยธรรมจีนในดินแดนแถบนี้

ในช่วงยุคสมัยราชวงศ์เหนือใต้ เนื่องจากผู้ปกครองหันมานับถือและให้การสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนา มีการก่อสร้างวัดวาอารามและถ้ำผาสลักพระธรรมคำสอนและพระพุทธรูปมากมาย นอกจากนี้ ทางด้านวรรณกรรมก็มีความเจริญรุดหน้าอย่างมาก

นับแต่ราชวงศ์จิ้นตะวันออกล่มสลาย ราชวงศ์เหนือใต้ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่มีการแบ่งแยกการปกครองในจีน ถึงแม้ว่าความเจริญทางเศรษฐกิจมีการชะลอตัวบ้าง แต่เนื่องจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางของกลุ่มชนเผ่านอกด่าน ได้เกิดการหลอมรวมชนชาติในกลุ่มลุ่มแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลืองครั้งใหญ่ และเนื่องจากสาเหตุหรือปัจจัยนี้เอง ได้ทำให้กลุ่มผู้นำชนชาติทางตอนเหนือได้ถูกหลอมกลืนสู่วัฒนธรรมชาวฮั่น และเนื่องจากประโยชน์นี้เอง ที่ได้สร้างรากฐานความเป็นหนึ่งเดียวของชนชาติจีนในเวลาต่อมา ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความแตกแยกของราชวงศ์เหนือใต้ กลายเป็นคุณูปการสู่การรวมเป็นหนึ่งของชนชาติจีนและวัฒนธรรมจีนในเวลาต่อมา
Silph
[ 24-03-2007 - 23:17:48 ]







ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) นิยายเรื่องดังของช่วงนี้ ได้แก่ เรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศ เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงช่วงปลายราชวงศ์สุยจนถึงการสถาปนาราชวงศ์ถัง ตัวเอกของเรื่องเป็นตัวละครสมมติทั้งคู่ คือ โค่วจงกับฉีจื่อหลิง ในเรื่องทั้งสองคนมีส่วนให้หลี่ซื่อหมินก้าวขึ้นเป็นถังไท่จงฮ่องเต้ หนึ่งในจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของจีน

หยางเจียน ถือกำเนิดจากตระกูลขุนนางชั้นสูงในราชวงศ์เป่ยโจว ธิดาของหยางเจียนได้เป็นฮองเฮาในรัชสมัยโจวเซวียนตี้ เมื่อปี 580 โจวเซวียนตี้สิ้น มอบบัลลังก์ให้บุตรชายวัย 8 ขวบขึ้นเป็นโจวจิ้งตี้ โดยมีหยางเจียนเป็นมหาเสนาบดีช่วยให้การดูแล แต่แล้วในปี 581 หยงเจียนปลดโจวจิ้งตี้ ตั้งตนเป็นสุยเหวินตี้ (581 – 600) สถาปนาราชวงศ์สุย โดยมีนครหลวงอยู่ที่เมืองต้าซิ่ง (ซีอันในปัจจุบัน) จากนั้นดำเนินนโยบายผูกมิตรกับชนเผ่าทูเจี๋ยว์ตะวันออก(พวกเติร์ก) ทางเหนือ จากนั้นจัดกำลังบุกลงใต้ และเข้ายึดเมืองเจี้ยนคังนครหลวงของราชวงศ์เฉินได้ในปี 589 ยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมากว่า 270 ปีได้ในที่สุด

ภายหลังการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุย สภาพสังคมโดยรวมได้รับการฟื้นฟูจากภาวะสงคราม มีการเติบโตด้านการผลิต เกิดความสงบสุขระยะหนึ่ง สุยเหวินตี้ ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยยุบรวมเขตปกครองในท้องถิ่น ลดขนาดองค์กรบริหาร รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฮ่องเต้กุมอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางทหาร การปกครองและเศรษฐกิจ โดยมีขุนนางเป็นเพียงผู้ช่วยในการบริหาร ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการแก่งแย่งอำนาจและเป็นการลิดรอนอำนาจในส่วนท้องถิ่น อันเป็นสาเหตุของการแตกแยกที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นยังได้ริเริ่มระบบการสอบรับราชการขุนนางขึ้น (สอบจอหงวน) เพื่อคัดเลือกบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน และได้ช่วยให้เกิดเสถียรภาพในระบบรวมศูนย์อำนาจเป็นอย่างดี

สุยเหวินตี้ทรงนับถือพุทธศาสนา โปรดการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายประหยัด ตลอดรัชสมัยมีฮองเฮาเพียงพระองค์เดียว ขณะที่รัชทายาทหยางหย่งกลับเลี้ยงดูสนม นางระบำไว้มากมาย ปี 600 สุยเหวินตี้ ทรงปลดรัชทายาทหยางหย่ง(มองแล้วไม่ได้ความ...ปลดซะ) แต่งตั้งราชโอรสองค์รองหยางกว่าง ขึ้นแทน หยางกว่างร่วมมือกับอวี้เหวินซู่และหยางซู่ วางแผนแย่งชิงบัลลังก์( กรรม...หนักกว่าพี่มันอีก) ปี 604 สุยเหวินตี้ สิ้นพระชนม์กระทันหัน(คาดว่าถูกฆ่าโดยลูกตัวเอง) หยางกว่างสืบราชบัลลังก์ต่อมา มีพระนามว่า สุยหยางตี้

หยางกว่างเมื่อขึ้นครองราชย์ (เริ่มเรื่อง มังกรคู่ฯ) ก็ลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เกณฑ์แรงงานชาวบ้านนับล้านสร้างนครหลวงตะวันออกแห่งใหม่ที่ลั่วหยาง และอุทยานตะวันตกที่มีอาณาบริเวณกว่า 100 กิโลเมตร ซ่อมสร้างกำแพงหมื่นลี้ ยกทัพบุกเกาหลี3ครั้ง(เกาหลีในยุคนี้ตรงกับสมัยอาณาจักรโบราณทั้งสามของเกาหลี ประกอบด้วย โคคูเรียว แพ็กเจ และชิลลลา ปกครองตลอดคาบสมุทรเกาหลี และแผ่นดินส่วนใหญ่ในแมนจูเรียด้วย) ผู้คนล้มตายนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ ยังขุดคลองต้าอวิ้นเหอเพื่อการท่องเที่ยวแดนเจียงหนัน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ชาวบ้านอดอยากได้ยาก มีประชาชนที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารและแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนจรไร้ที่อยู่

ปี 611 หยางกว่างเร่งระดมกำลังพลทางภาคอีสานเพื่อบุกเกาหลี สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่ลำบากยากแค้นอยู่แต่เดิม เป็นเหตุให้เกิดการลุกฮือขึ้นของกบฎชาวนา นำโดยหวังป๋อ จากนั้นก็มีกบฏชาวนาจากท้องที่ต่างๆ พากันลุกฮือขึ้นไม่ขาดสาย ปี 613 ขณะที่สุยหยางตี้ยกทัพบุกเกาหลีครั้งที่ 2 หยางเสวียนกั่นที่เป็นบุตรหลานตระกูลใหญ่ซ่องสุมกำลังพลคิดล้มล้างราชวงศ์สุย โดยมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อสุยหยางตี้ทราบข่าว ก็รีบถอยทัพกลับทันที การปราบปรามครั้งนี้มีผู้คนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก

กบฏชาวนาที่ลุกฮือขึ้นปะทะกับทหารสุย บ้างแตกพ่าย บ้างรวมกลุ่มกัน กลุ่มก้อนที่เข้มแข็งมี 3 กลุ่ม ได้แก่ กองกำลังหวากั่ง เหอเป่ย และเจียงหวย อีกทั้งยังมีบรรดาข้าราชสำนักต่างทยอยติดอาวุธขึ้นตั้งตนเป็นใหญ่ ที่สำคัญได้แก่ 1.หลัวอี้ ตั้งฐานที่มั่นในจั๋วจวิน (ปักกิ่งในปัจจุบัน) 2.เหลียงซือตู สถาปนาแคว้นเหลียงที่ซั่วฟาง(มองโกเลียใน) 3.หลิวอู่โจว ที่หม่าอี้(มณฑลซันซี) 4.เซียว์จี่ว์ ที่จินเฉิง (หลันโจวมณฑลกันซู่) 5.หลีกุ่ย สถาปนาแคว้นต้าเหลียงที่อู่เวย 6.หลี่ยวน สถาปนาราชวงศ์ถังที่กวนจง 7.เซียวเสี่ยน ตั้งตนเป็นเหลียงตี้ที่ปาหลิง(เมืองเยว่หยางมณฑลหูหนัน) 8.เสินฝ่าซิง ตั้งตนเป็นเหลียงหวังที่เมืองอู๋ซิ่ง ต่างฝ่ายเข้าร่วมในการช่วงชิงแผ่นดิน โดยถือเอากองกำลังที่ลุกฮือขึ้นเป็นกบฎที่ต้องปราบปราม (คล้ายๆสามก๊ก ตอนที่เหล่าขุนศึกตั้งตัวปราบโจรผ้าเหลืองนั่นแหละ)
กองกำลังหวากั่ง

ในปี 611 ไจ๋ยั่งนำกำลังลุกฮือขึ้นก่อการที่หวากั่งไจ(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนัน) จากนั้นผู้มีความสามารถจากซันตงและเหอหนันต่างพากันเดินทางมาเข้าร่วมด้วย ที่สำคัญคือ หลี่มี่ ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทในกองกำลังหวากั่งอย่างสูง ในปี 617 กองกำลังหวากั่งเข้าประชิดลั่วหยาง บุกปล้นคลังเสบียงรอบข้าง นำออกแจกจ่ายราษฎร ทำให้มีคนมาเข้าร่วมด้วยมากขึ้น กลายเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในเหอหนัน ขณะเดียวกันรากฐานภายใน กลับเกิดการแตกแยกขึ้น หลี่มี่ที่เดิมถือกำเนิดจากครอบครัวขุนนางชั้นสูง หลังจากกบฏหยางเสียนกั่นประสบความล้มเหลว ก็เข้าร่วมกับกองกำลังหวากั่ง ซ่องสุมกองกำลังฝ่ายตนขึ้น จากนั้นแย่งชิงตำแหน่งผู้นำ มาเป็นเหตุให้กองกำลังหวากั่งอ่อนแอลง เมื่อถึงปี 618 สุยหยางตี้สิ้นพระชนม์ที่เจียงตู หลี่มี่นำกำลังสวามิภักดิ์หยางต้งจากราชสำนักสุย หยางต้งมอบหมายให้หลี่มี่นำกำลังปราบอวี้เหวินฮั่วจี๋ แม้จะได้ชัยชนะแต่กองกำลังหลี่มี่ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนัก แต่แล้วถูกกองทัพของหวังซื่อชงตลบหลังโจมตีซ้ำจนแตกพ่ายไป หลี่มี่หลบหนีไปสวามิภักดิ์กับหลี่ยวน ที่สถาปนาราชวงศ์ถังในแดนไท่หยวน สุดท้ายคิดลุกฮือขึ้นก่อการทางทหารแต่ไม่สำเร็จถูกสังหารไป

กองกำลังเหอเป่ย

นำโดยโต้วเจี้ยนเต๋อ แต่เดิมเข้าร่วมก่อการในกลุ่มของเกาซื่อต๋า ในปี 611 ภายหลังเมื่อเกาซื่อต๋าเสียชีวิตในการสู้รบ โต้วเจี้ยนเต๋อจึงกลายเป็นผู้นำต่อมา ในปี 617 โจมตีทัพสุยแตกพ่าย สร้างเกียรติภูมิในการรบครั้งใหญ่ ตั้งตัวเป็นฉางเล่อหวัง ครองดินแดนเหอเป่ยทางภาคเหนือ มีผู้มาเข้าร่วมแสนกว่าคน ต่อมาในปี 618 ราชวงศ์สุยล่มสลาย จึงสถาปนาแคว้นเซี่ย ตั้งตนเป็นเซี่ยหวัง เมืองหลวงอยู่ที่หมิงโจว (อำเภอหย่งผิงในมณฑลเหอเป่ย) จวบจนปี 621 พ่ายแพ้ให้กับหลี่ซื่อหมิน ถูกจับเป็นตัวประกัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ปีถัดมา หลี่ซื่อหมินยกทัพปราบหลิวเฮยท่าขุนพลเอกของโต้วเจี้ยนเต๋อและกองกำลังที่เหลือจนสิ้น
กองกำลังเจียงหวย

ปี 613 ตู้ฝูเวย และฝู่กงซือ เริ่มก่อการในแถบซันตง จากนั้นเคลื่อนกองกำลังลงใต้ ครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำหวยเหอ ทางตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 617 ราชสำนักสุยได้ส่งกำลังมาปราบ แต่ถูกตีโต้กลับไป เมื่อสุยหยางตี้สิ้น ตู้ฝูเวยยอมโอนอ่อนต่อหยางต้งเชื้อพระวงศ์ในลั่วหยาง ได้รับการอวยยศ ต่อมาเมื่อราชวงศ์ถังเข้มแข็งขึ้น ก็สวามิภักดิ์ต่อหลี่ยวนที่ฉางอันในปี 622 ปีถัดมา ฝู่กงซือลุกฮือขึ้นต่อกรราชวงศ์ถัง โดยยึดครองพื้นที่ละแวกมณฑลเจียงซูและอันฮุยไว้ได้ แต่สุดท้ายพ่ายแพ้ในปี 624
Silph
[ 24-03-2007 - 23:18:57 ]







การสิ้นสุดของราชวงศ์สุย

ปี 617 กองกำลังหวากั่งเข้าประชิดนครหลวงตะวันออกลั่วหยาง ขณะนั้น สุยหยางตี้เสด็จประพาสเจียงหนัน เหลือเพียงกองกำลังของหยางต้ง ที่เป็นเชื้อพระวงศ์เฝ้าเมืองลั่วหยางไว้ สุยหยางตี้เรียกระดมพลของหวังซื่อชง ซึ่งประจำอยู่ที่เจียงตู มาช่วยรักษาเมืองลั่วหยางโดยรอบ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับกองกำลังหวากั่ง ราชสำนักสุยถูกเหล่ากองกำลังที่ลุกฮือขึ้นบุกโจมตีจนสูญเสียพื้นที่โดยรอบไป หลี่ยวนที่เฝ้ารักษาเมืองไท่หยวนในซันซีก็ฉวยโอกาสรุกเข้าฉางอัน ตั้งตนเป็นใหญ่ที่แดนไท่หยวน

ระหว่างนั้น อวี่เหวินฮั่วจี๋ สมคบกับซือหม่าเต๋อคัน แม่ทัพกองกำลังรักษาพระองค์และทหารองครักษ์ลุกฮือขึ้นก่อการที่เมืองเจียงตู(เมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู) สังหารสุยหยางตี้ ในปี 618 หลี่ยวนเมื่อทราบข่าวก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ สถาปนาราชวงศ์ถัง บรรดานายทัพที่คุมกองกำลังต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระ แม้ว่าหวังซื่อชงจะยอมยกให้หยางต้งในลั่วหยางขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่ในเวลาไม่นานก็ใช้กำลังบุกเข้าลั่วหยางยึดเป็นฐานที่มั่นของตน แผ่นดินกลายเป็นสนามรบของการช่วงชิงอำนาจอีกครั้ง จากนั้น กลุ่มกบฎชาวนาและกองกำลังที่ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นต่างทยอยถูกกองทัพราชวงศ์ถังกำจัดกวาดล้างไป ราชวงศ์ถังจึงสืบทอดการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุยต่อมา
Silph
[ 24-03-2007 - 23:21:30 ]







ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) นิยายจีนในประวัติศาสตร์ช่วงนี้มักเป็นเรื่องราวการสรรเสริญพระปรีชาสามารถของหลี่ซื่อหมิน (ถังไท่จงฮ่องเต้) เป็นส่วนใหญ่ครับ

ราชวงศ์ถังเป็นช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่มีสถานะความสำคัญเป็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงต้นราชวงศ์ ประสบความสำเร็จในการสร้างกลไกการปกครองที่มีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพอย่างทั่วถึงในราชอาณาจักร บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ วรรณคดี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฯลฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของศักดินาและเป็นยุคทองของวรรณคดี อาณาจักรกว้างใหญ่เป็นปึกแผ่น มั่งคั่งร่ำรวยและทรงอานุภาพที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งโรจน์ที่สุดของจีน นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อแนวคิดการสร้างชาติของชนชาติจีน ด้วยเกิดการรวมตัวของกลุ่มชนเผ่าที่หลากหลาย นับตั้งแต่วุ่ย จิ้น ราชวงศ์เหนือ-ใต้ จวบจนราชวงศ์ถัง ได้หลอมรวมวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียว ด้วยแนวคิดการรวมประเทศอย่างมั่นคงสืบต่อมา

หลี่ยวน ถือกำเนิดในเชื้อสายชนชั้นสูงจากราชวงศ์เหนือ มีความเกี่ยวดองสายเครือญาติกับปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุยอย่างใกล้ชิด ครั้นถึงปลายราชวงศ์สุย แผ่นดินอยู่ในสภาพระส่ำระสายจากกลุ่มกองกำลังต่างๆที่ลุกฮือขึ้น ปี 617 หลี่ยวนที่รักษาแดนไท่หยวน ตกอยู่ในภาวะล่อแหลม เนื่องจากไท่หยวนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กลุ่มกองกำลังต่างต้องการแย่งชิง ขณะเดียวกันก็ทราบว่าสุยหยางตี้ทรงระแวงว่าหลี่ยวนจะแปรพักตร์ จึงประกาศตัวเป็นอิสระจากราชสำนัก

เวลานั้น กองกำลังหว่ากัง และเหอเป่ย เข้าปะทะกับกองทัพสุย เป็นเหตุให้กำลังป้องกันของเมืองฉางอันอ่อนโทรมลง หลี่ยวนได้โอกาสบุกเข้ายึดเมืองฉางอันไว้ได้ จากนั้นตั้งหยางโย่ว เป็นฮ่องเต้หุ่น ปีถัดมา สุยหยางตี้ถูกลอบปลงพระชนม์ที่เมืองเจียงตู หลี่ยวนจึงปลดหยางโย่ว ประกาศตั้งตนเป็นกษัตริย์ สถาปนาราชวงศ์ถัง โดยมีนครหลวงอยู่ที่เมืองฉางอัน พร้อมกับแต่งตั้งโอรสองค์โตหลี่เจี้ยนเฉิง เป็นรัชทายาท หลี่ซื่อหมิน โอรสองค์รองเป็นฉินหวัง และหลี่หยวนจี๋ โอรสองค์เล็กเป็นฉีหวัง

ภายหลังสถาปนาราชวงศ์ถัง แผ่นดินยังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองกำลังต่างๆ อาทิ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีเซียว์จี่ว์ ทางเหนือมีหลิวอู่โจว หวังซื่อชง สถาปนาแคว้นเจิ้ง ที่เมืองลั่วหยาง โต้วเจี้ยนเต๋อ ตั้งตนเป็นเซี่ยหวัง ที่เหอเป่ย (ทางภาคอีสานของจีน)

ปลายปี 618 เซียว์จี่ว์เสียชีวิตกะทันหัน เซียว์เหยินเก่า บุตรชายสืบทอดต่อมา หลี่ซื่อหมินเห็นเป็นโอกาสรุกทางทหาร ยึดได้ดินแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ปี 619 กลุ่มกองกำลังของหลี่กุ่ย เกิดการแย่งชิงอำนาจ จึงเป็นโอกาสให้ราชวงศ์ถังเข้าครอบครองแดนเหอซี ปี 620 กวาดล้างกลุ่มกองกำลังของหลิวอู่โจว ปลายปีเดียวกัน หลี่ซื่อหมินยกทัพใหญ่เข้าปิดล้อมหวังซื่อชงที่ลั่วหยาง โต้วเจี้ยนเต๋อยกกำลังมาช่วย แต่ถูกหลี่ซื่อหมินโจมตีแตกพ่ายไป โต้วเจี้ยนเต๋อถูกจับ ภายหลังเสียชีวิตที่ฉางอัน หวังซื่อชงได้ข่าวการพ่ายแพ้ของโต้วเจี้ยนเต๋อจึงยอมจำนนต่อราชวงศ์ถัง ปี 622 ทัพถังกวาดล้างกองกำลังเหอเป่ยที่หลงเหลือ จากนั้นกองกำลังต่างๆบ้างยอมสวามิภักดิ์ บ้างถูกปราบปรามจนราบคาบ ภารกิจเบื้องต้นในการรวมแผ่นดินถือได้ว่าสำเร็จลง

หลี่ซื่อหมิน ที่นำทัพปราบไปทั่วแผ่นดิน นับว่าสร้างผลงานความชอบที่โดดเด่น เป็นที่ริษยาของพี่น้อง ประกอบกับระหว่างการกวาดล้างกองกำลังน้อยใหญ่นั้นได้เพาะสร้างขุมกำลังทางทหาร และยังชุบเลี้ยงผู้มีความสามารถไว้ข้างกายจำนวนมาก อันส่งผลคุกคามต่อรัชทายาทหลี่เจี้ยนเฉิง เป็นเหตุให้รัชทายาทเจี้ยนเฉิงร่วมมือกับฉีหวังหลี่หยวนจี๋เพื่อจัดการกับหลี่ซื่อหมิน ปัญหาข้อขัดแย้งดังกล่าวทำให้สองฝ่ายยิ่งทวีความเป็นปรปักษ์มากขึ้น

จวบจนกระทั่งปี 626 หลี่ซื่อหมินชิงลงมือก่อน โดยกราบทูลเรื่องราวต่อถังเกาจู่ ถังเกาจู่จึงเรียกทุกคนให้เข้าเฝ้าในเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่ขบวนของหลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนจี๋ผ่านเข้าประตูเซวียนอู่นั้น (ประตูใหญ่ทางทิศเหนือของวังหลวง) หลี่ซื่อหมินก็นำกำลังเข้าจู่โจมสังหารรัชทายาท และฉีหวัง

ภายหลังเหตุการณ์ สองเดือนต่อมาก็ทรงสละราชย์ ให้หลี่ซื่อหมินขึ้นครองบัลลังก์(โมโหที่อำมหิตฆ่าพี่น้อง...ภายหลังหลี่ซื่อหมิง ตั้งหลี่ยวน เป็นตำแหน่งพระชนก...ตลกดี) ทรงพระนามว่า ถังไท่จง และประกาศให้เป็นศักราชเจินกวน (ปี 627 – 649)

ต้นศักราชเจินกวน บ้านเมืองยังอยู่ในสภาพทรุดโทรมเสียหายจากสงครามกลางเมือง ประชาชนต้องระเหเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย ถังไท่จงได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของราชวงศ์สุย อันเป็นที่มาของคำกล่าวว่า “กษัตริย์เปรียบเสมือนเรือ ส่วนประชาชนคือน้ำ น้ำสามารถหนุนส่งเรือให้ลอย และสามารถจมเรือได้เช่นกัน” ทราบว่า การรีดเลือดกับปู ถ้าราษฎรอยู่ไม่ได้ ผู้ปกครองก็ไม่อาจดำรงอยู่เช่นกัน ดังนั้นจึงตั้งอกตั้งใจในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มกำลัง ทรงดำเนินนโยบายที่เปิดกว้าง ผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษี ลดการลงทัณฑ์ที่รุนแรง แต่เน้นความถูกต้องยุติธรรมมากกว่า เร่งพัฒนากำลังการผลิต จัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรได้กลับคืนสู่ไร่นาและดำเนินวิถีชีวิตตามปกติ

ช่วงเวลาดังกล่าว มีการตรากฎหมายเพิ่มขึ้น เปิดการสอบคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการจากบุคคลทั่วไป ไม่เลือกยากดีมีจน ไม่จำกัดอยู่แต่ชนชั้นขุนนางดังแต่ก่อน ทั้งมีการตรวจตราการทำงานของบรรดาขุนนางท้องถิ่นอย่างเข้มงวด เลือกใช้คนดีมีปัญญา ถอดถอนคนเลว นอกจากนี้ ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นและคำทักท้วงจากขุนนางรอบข้าง เพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อผิดพลาดในการบริหารแผ่นดินได้อย่างทันการณ์ รอบข้างจึงเต็มไปด้วยอัจฉริยะบุคคลที่ตั้งอกตั้งใจทำงาน อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศักราชเจินกวนมีการบริหารการปกครองที่โปร่งใสและมีเสถียรภาพ

ในด้านแนวคิดการศึกษา ถังไท่จงให้ความสำคัญต่อการรวบรวมและจัดเก็บตำรับตำราความรู้วิทยาการและประวัติศาสตร์เป็นหมวดหมู่ ทั้งยังเปิดกว้างในการนับถือและเผยแพร่แนวคิดในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่น พุทธศาสนา เต๋า หยู(ลัทธิขงจื้อ) รวมทั้งศาสนาบูชาไฟของเปอร์เซีย ศาสนาแมนนี และคริสตศาสนา

เหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อการเผยแพร่พุทธศาสนา ได้แก่ หลวงจีนเซวียนจั้ง(พระถังซำจั๋ง) ได้เดินทางไปยังประเทศอินเดียอันไกลโพ้น เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมา แปลเป็นภาษาจีนและเผยแพร่ออกไป ทำให้พุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์ถังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ถังไท่จงยังส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการจัดแบบแผนการศึกษา มีการสร้างสถานศึกษาสำหรับบรรดาลูกหลานผู้นำ เรียกว่า สำนักศึกษาหงเหวินก่วน เปิดสอนศาสตร์สาขาต่างๆในการเป็นผู้นำ อาทิ การบริหารการปกครอง กฎหมาย วรรณคดี อักษรศาสตร์ การคำนวณ ฯลฯ เพื่ออบรมบ่มเพาะบรรดาลูกหลานที่เป็นทายาทเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และชนชั้นสูง ทั้งยังจัดตั้งสำนักศึกษาในศาสตร์สาขาต่างๆทั่วราชอาณาจักร บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นรอบนอกจึงนิยมส่งบุตรหลานของตนเข้ามาศึกษายังนครฉางอัน ทำให้ในเวลานั้นจีนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิทยาการต่างๆในแถบภูมิภาคนี้

ในรัชสมัยนี้ ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อป้องกันการก่อหวอดของผู้มีกำลังทหารอยู่ในมือดังที่ผ่านมา ข้าราชการท้องถิ่นไม่มีสิทธิเคลื่อนพล ในภาวะสงคราม ส่วนกลางจะเป็นผู้สั่งระดมพลจากที่ต่างๆ จากนั้นจัดส่งนายทัพไปบัญชาการรบ ภายหลังเสร็จศึก ทหารกลับสู่กรมกอง แม่ทัพกลับคืนสู่ราชสำนัก

การขยายแสนยานุภาพของราชอาณาจักร ถังไท่จงได้ดำเนินการทั้งด้านการทหารและการทูตไปพร้อมกัน อาทิ ในปี 630 ทัพถัง นำโดยแม่ทัพหลี่จิ้งและหลี่จี ปราบทูเจี๋ยว์ตะวันออก ขยายพรมแดนทางเหนือขึ้นไป (ปัจจุบันคือ มองโกเลียใน) ภายหลังทูเจี๋ยว์ตะวันออกล่มสลาย ถังไท่จงดำเนินนโยบายเปิดกว้างให้อิสระแก่ชนเผ่าฯในการดำรงชีวิต มีชนเผ่าทูเจี๋ยว์บางส่วนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในฉางอัน ทั้งมีไม่น้อยที่เข้ารับราชการทหาร หลอมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมภาคกลางไป

ซงจั้นกั้นปู้หรือพระเจ้าสรองตาสันคัมโป แห่งแคว้นถู่ฟาน(ทิเบตในปัจจุบัน) ที่รวบรวมแว่นแคว้นทางตะวันตกเฉียงใต้ไว้ได้ มีกำลังรุ่งเรืองขึ้น ได้จัดส่งราชฑูตมาสู่ขอราชธิดาในถังไท่จงหลายครั้ง ในที่สุดปี 641 ถังไท่จงตัดสินใจส่งองค์หญิงเหวินเฉิง ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ความสามารถในศาสตร์ศิลป์เดินทางไปเป็นทูตไมตรีครั้งนี้ องค์หญิงเหวินเฉิงได้นำเอาศิลปะความรู้วิทยาการต่างๆ ของจีนอาทิ อักษรศาสตร์ การดนตรี การเพาะปลูก ทอผ้า การทำกระดาษและหมึก ฯลฯ ไปเผยแพร่ยังดินแดนอันห่างไกลนี้ แคว้นถู่ฟานและราชวงศ์ถังจึงรักษาไมตรีอันดีสืบมา (แม้ว่าภายหลังแคว้นถู่ฟานได้เกิดข้อขัดแย้งกับราชสำนักถังในรัชสมัยต่อมา แต่องค์หญิงเหวินเฉิงยังคงได้รับการเคารพเทิดทูนอย่างสูงในหมู่ชนชาวทิเบตจวบจนปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ปลายรัชสมัยถังไท่จง เกิดปัญหาสำคัญคือ การคัดสรรรัชทายาทที่เหมาะสม เนื่องจากในปี 643 รัชทายาทหลี่เฉิงเฉียน กับวุ่ยหวังหลี่ไท่ แก่งแย่งอำนาจกัน เมื่อถังไท่จงทราบเรื่องจึงสั่งปลดรัชทายาทและวุ่ยหวังเป็นสามัญชน แต่งตั้งหลี่จื้อ โอรสองค์ที่เก้าขึ้นเป็นรัชทายาทแทน ต่อมาในปี 649 ถังไท่จงสวรรคต หลี่จื้อจึงขึ้นเสวยราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่าถังเกาจง
Silph
[ 24-03-2007 - 23:23:51 ]







ราชวงศ์ถัง (ภาค บูเช็กเทียน) นิยายในช่วงนี้จะเป็นเรื่องราวพระราชประวัติของจักรพรรดินีพระองค์แรกและพระองค์เดียวของจีน "บูเช็กเทียน"

อู่เจ๋อเทียนหรือบูเช็กเทียน เป็นฮองเฮาในถังเกาจงหลี่จื้อ มีชื่อว่า ‘เจ้า’ บิดาเป็นพ่อค้าไม้ ปลายราชวงศ์สุยได้มีการติดต่อกับหลี่ยวน ต่อมาเมื่อหลี่ยวนสถาปนาราชวงศ์ถัง ก็ติดตามมาตั้งรกรากที่นครฉางอัน เข้ารับราชการต่อมา เมื่อบูเช็กเทียนอายุได้ 14 ปี ถูกเรียกตัวเข้าวังเป็นนางสนมรุ่นเยาว์ในรัชกาลถังไท่จงหลี่ซื่อหมิน เมื่อถังไท่จงสวรรคต จึงต้องออกบวชเป็นชีตามโบราณราชประเพณี

หลังจากถังเกาจงหลี่จื้อขึ้นครองราชย์ก็รับตัวบูเช็กเทียนเข้าวังมา ด้วยการสนับสนุนจากหวังฮองเฮาที่กำลังขัดแย้งกับสนมเซียว และต่างฝ่ายต่างคอยให้ร้ายกัน ต่อมาในปี 655 ถังเกาจงคิดจะปลดหวังฮองเฮา และตั้งบูเช็กเทียนขึ้นแทน แต่เสนาบดีเก่าแก่ ฉางซุนอู๋จี้ และฉู่ซุ่ยเหลียง แสดงท่าทีคัดค้าน ส่วนหลี่อี้ฝู่ และสี่ว์จิ้งจง แสดงความเห็นคล้อยตาม ต่อมาเมื่อถังเกาจงปลดหวังฮองเฮา แต่งตั้งบูเช็กเทียนขึ้นเป็นฮองเฮาแทน ฉางซุนอู๋จี้ ฉู่ซุ่ยเหลียงและกลุ่มที่คัดค้านต่างทยอยถูกปลดจากตำแหน่ง บ้างถูกบีบคั้นให้ฆ่าตัวตาย ส่วนหวังฮองเฮาและสนมเซียวก็ไม่อาจรอดพ้นชะตากรรมได้(เสร็จตาอยู่...โสน้าหน้า) ภายหลัง ถังเกาจงร่างกายอ่อนแอ ล้มป่วยด้วยโรครุมเร้า ไม่อาจดูแลราชกิจได้ บูฮองเฮาเข้าช่วยบริหารราชการแผ่นดิน จึงเริ่มกุมอำนาจในราชสำนัก สุดท้ายสามารถรวบอำนาจไว้ทั้งหมด

ปี 683 ถังเกาจงหลี่จื้อ สิ้น รัชทายาท หลี่เสี่ยน โอรสองค์ที่สามของบูฮองเฮาขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่าถังจงจง ปีถัดมา บูเช็กเทียนปลดถังจงจงแล้วตั้งเป็นหลูหลิงหวัง จากนั้นตั้งหลี่ตั้น ราชโอรสองค์ที่สี่ขึ้นครองราชย์แทน พระนามว่าถังรุ่ยจง แต่ไม่นานก็ปลดจากบัลลังก์เช่นกัน (เป็นหญิงที่+++มหาญมาก รักตระกูลตัวมากกว่าลูกแท้ๆ)

ระหว่างนี้ กลุ่มเชื้อพระวงศ์ตระกูลหลี่และขุนนางเก่าที่ออกมาต่อต้านอำนาจของตระกูลบูล้วนถูกกำจัดกวาดล้างอย่าง+++มโหด ฐานอำนาจของกลุ่มตระกูลหลี่อ่อนโทรมลงอย่างมาก กระทั่งปี 690 บูเช็กเทียนประกาศเปลี่ยนราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์โจว หรือในประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า ราชวงศ์อู่โจว มีนครหลวงที่ลั่วหยาง ตั้งตนเป็นจักรพรรดินี ทรงอำนาจสูงสุด ด้วยวัย 67 ปี ถือเป็นจักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน

แม้ว่าการเข่นฆ่ากวาดล้างศัตรูทางการเมืองขนานใหญ่ ส่งผลให้บรรยากาศบ้านเมืองขณะนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและความกลัว แต่โดยทั่วไปแล้ว สภาพเศรษฐกิจและสังคมยังมีความเจริญรุ่งเรือง บูเช็กเทียนได้ปรับปรุงระบบโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการและทหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถมากมาย ซึ่งส่งผลให้ในรัชกาลถังเสวียนจงในเวลาต่อมา แวดล้อมด้วยเสนาอำมาตย์ที่ทรงภูมิความรู้และคุณวุฒิเป็นผู้ช่วยเหลือ

เมื่อถึงปี 705 ขณะที่พระนางบูเช็กเทียนวัย 82 ปี ล้มป่วยลงด้วยชราภาพ เหล่าเสนาบดีที่นำโดยจางเจี่ยนจือก็ร่วมมือกันก่อการ โดยบีบให้บูเช็กเทียนสละราชย์ให้กับโอรสของพระองค์ ถังจงจงหลี่เสี่ยน ทั้งรื้อฟื้นราชวงศ์ถังกลับคืนมา ภายหลังเหตุการณ์ไม่นาน บูเช็กเทียนสิ้น
Silph
[ 24-03-2007 - 23:25:48 ]







ราชวงศ์ถัง (ภาคอวสาน) ช่วงนี้เท่าที่ทราบ ไม่มีนิยายที่เกี่ยวข้องเลย

ภายหลังรัชกาลของบูเช็กเทียน สภาพการเมืองภายในราชสำนักปั่นป่วนวุ่นวาย เนื่องจากถังจงจงอ่อนแอ อำนาจทั้งมวลตกอยู่ในมือของเหวยฮองเฮา ที่คิดจะยิ่งใหญ่ได้เช่นเดียวกับบูเช็กเทียน(หญิงแถวหน้ามาอีกแว้ว..) เหวยฮองเฮาหาเหตุประหารรัชทายาท จากนั้นในปี 710 วางยาพิษสังหารถังจงจง โอรสองค์ที่สามของถังรุ่ยจง นามหลี่หลงจี ภายใต้การสนับสนุนขององค์หญิงไท่ผิง ชิงนำกำลังทหารบุกเข้าวังหลวงสังหารเหวยฮองเฮาและพวก ภายหลังเหตุการณ์องค์หญิงไท่ผิงหนุนถังรุ่ยจงขึ้นครองราชย์ แต่งตั้งหลี่หลงจีเป็นรัชทายาท แต่แล้วองค์หญิงไท่ผิงพยายามเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ(อีกแล้วครับท่าน) แต่เกิดขัดแย้งกับรัชทายาทหลี่หลงจี ปี 712 ถังรุ่ยจงสละราชย์ให้กับโอรส หลี่หลงจีเมื่อขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า ถังเสวียนจง สิ่งแรกที่กระทำคือกวาดล้างขุมกำลังขององค์หญิงไท่ผิง นำพาสันติสุขกลับคืนมาอีกครั้ง

ต้นรัชกาลถังเสวียนจงบริหารบ้านเมืองอย่างจริงจัง รอบข้างแวดล้อมด้วยขุนนางผู้ทรงความรู้ความสามารถมากมาย มีการปฏิรูปการบริหารการปกครองครั้งใหญ่ ตัดทอนรายจ่ายฟุ้งเฟ้อที่เคยมีในรัชกาลก่อน ลดขนาดหน่วยงานราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ กวาดล้างขุนนางฉ้อราษฎร์ที่มาจากการซื้อขายตำแหน่ง จัดระเบียบและรวบรวมผลงานวรรณกรรมและวิทยาการต่างๆ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด

แต่แล้วในปลายรัชสมัย เนื่องจากบ้านเมืองสงบสุขเป็นเวลานาน ถังเสวียนจงค่อยวางมือจากราชกิจ ปี 744 นับแต่รับตัวหยางอวี้หวนเป็นสนมกุ้ยเฟยไว้ข้างกาย ก็ลุ่มหลงกับการเสพสุขในบั้นปลาย ทอดทิ้งภารกิจบริหารราชการแผ่นดิน จนเป็นโอกาสให้เสนาบดีหลี่หลินฝู่ เข้ากุมอำนาจ แสวงหาอำนาจส่วนตน คอยกีดกันขุนนางและนายทัพที่มีความดีความชอบ ริดรอนขุมกำลังจากส่วนกลางในที่ไม่ใช่พรรคพวกตน ขณะที่ให้การสนับสนุนแม่ทัพชายแดนที่มาจากกลุ่มชนเผ่าภายนอก เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดภาวะตึงเครียดตามแนวชายแดนกับทิเบต ทูเจี๋ยว์ เกาหลี และน่านเจ้าทางภาคใต้ กำลังทหารรับจ้างที่ต้องประจำอยู่ตามแนวพรมแดนมีจำนวนมากขึ้น แม่ทัพชายแดนจึงกุมอำนาจเด็ดขาดทางทหารไว้ได้

หลังจากหลี่หลินฝู่เสียชีวิต หยางกั๋วจง ญาติผู้พี่ของสนมหยางกุ้ยเฟยได้ขึ้นเป็นเสนาบดีแทน แต่กลับเลวร้ายยิ่งกว่า ด้วยถืออำนาจบาตรใหญ่ ฉ้อราษฎร์บังหลวง การโกงกินของขุนนางทำให้ระบบการจัดสรรที่นาและการเกณฑ์ทหารล้มเหลว กำลังทหารอ่อนโทรมลง ช่วงเวลาดังกล่าว เกิดเหตุขัดแย้งจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างหยางกั๋วจงเสนาบดีคนใหม่กับอันลู่ซัน แม่ทัพชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเหตุให้อันลู่ซันหาเหตุยกกำลังบุกเข้านครฉางอัน

ถังเซวียนจงและหยางกุ้ยเฟยหลบหนีลงใต้ ระหว่างทางบรรดานายทหารที่โกรธแค้นพากันจับตัวหยางกั๋วจงสังหารเสีย จากนั้นบีบบังคับให้ถังเซวียนจงประหารหยางกุ้ยเฟย จากนั้นเดินทัพต่อไปถึงแดนเสฉวน ขณะเดียวกัน รัชทายาทหลี่เฮิง หลบหนีไปถึงหลิงอู่(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลหนิงเซี่ย) ก็ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่า ถังซู่จง

ฝ่ายกองกำลังกบฏเมื่อได้ชัย ก็เข้าปล้นชิงทรัพย์สินราษฎร ปี 757 เกิดการแตกแยกภายใน อันลู่ซันถูกชิ่งซี่ว์บุตรชายสังหาร(ปิตุฆาต) ทัพถังได้โอกาสยกกำลังบุกยึดนครฉางอันและลั่วหยางกลับคืนมา แต่แล้วในปี758 สื่อซือหมิง ขุนพลเก่าของอันลู่ซันก่อการอีกครั้ง ที่เมืองฟั่นหยาง(ปักกิ่ง) สังหารอันชิ่งซี่ว์ จากนั้นบุกยึดนครลั่วหยางได้อีกครั้ง ปี 761 ระหว่างยกกำลังบุกฉางอันถูกเฉาอี้ บุตรชายสังหารเช่นกัน(ปิตุฆาตอีกแล้ว) เป็นเหตุให้กองกำลังระส่ำระสาย ทัพถังได้โอกาสร่วมกับกองกำลังของชนเผ่าหุยเหอ ตีโต้กลับคืน เฉาอี้พ่ายแพ้ฆ่าตัวตาย เหตุวิกฤตจากกบฏอันลู่ซันและสื่อซือหมิง ตั้งแต่ปี 755 – 763 จึงกล่าวได้ว่าสงบราบคาบลง

ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการกบฏครั้งนี้ เป็นเหตุให้ยุคทองของราชวงศ์ถังดับวูบลง อย่างไม่อาจฟื้นคืนกลับคืนมาเช่นเมื่อครั้งก่อนเก่าได้อีก ระหว่างเกิดกบฏอันลู่ซัน สภาพเศรษฐกิจและสังคมในเขตเมืองที่กบฏอันลู่ซันเข้าปล้นสะดมได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง กองทัพถังถูกเรียกระดมกลับเข้าสู่ส่วนกลางเป็นจำนวนมาก ป้อมรักษาการณ์เขตชายแดนว่างเปล่า เป็นเหตุให้อาณาจักรรอบนอก อาทิ ถู่ฟานหรือทิเบตทางภาคตะวันตก และอาณาจักรน่านเจ้าทางทิศใต้ต่างแยกตัวเป็นอิสระ ทั้งยังรุกรานเข้ามาเป็นครั้งคราว ช่วงปลายวิกฤตในปี 762 เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงในราชสำนักถังโดยขันทีหลี่ฝู่กั๋ว สังหารจางฮองเฮา ถังซู่จงสิ้น ขันทีหลี่ฝู่กั๋วจึงยกรัชทายาทหลี่อวี้ขึ้นครองราชย์ พระนามว่าไต้จง

ภายหลังกบฎอันลู่ซัน ภาพลักษณ์ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของอาณาจักรสั่นคลอนครั้งใหญ่ บรรดาแม่ทัพรักษาชายแดนต่างสะสมกองกำลังของตนเอง แม้ว่าในนามแล้วยังรับฟังคำสั่งจากราชสำนัก แต่ไม่จัดเก็บภาษีเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งสืบทอดตำแหน่งแม่ทัพโดยผ่านทางสายเลือด ไม่ยอมรับการแต่งตั้งจากส่วนกลางอีก ขอบเขตอำนาจจากส่วนกลางหดแคบลง เหลือเพียงดินแดนแถบเสฉวน ส่านซีและซันซี สภาพบ้านเมืองเสื่อมทรุด ภายนอกเป็นสงครามแก่งแย่งของเหล่าขุนศึก ภายในยังมีการช่วงชิงในราชสำนัก

ต้นราชวงศ์ถัง ปริมาณขันทีมีไม่มากนัก สถานภาพทางสังคมยังต่ำต้อย ไม่มีสิทธิข้องเกี่ยวทางการทหาร แต่เมื่อถึงรัชสมัยถังเสวียนจง ปริมาณขันทีเพิ่มมากขึ้น โดยหัวหน้าขันทีเกาลี่ซื่อ ได้รับความไว้วางพระทัยอย่างสูง ช่วงปลายรัชกาลถังเสวียนจงละเลยราชกิจ หนังสือถวายรายงานทั้งหลาย ล้วนต้องผ่านเกาลี่ซื่อก่อน ทั้งมีอำนาจจัดการตัดสินชี้ขาดต่างพระเนตรพระกรรณ ขันทีผู้ใหญ่ยังเข้ารับหน้าที่สำคัญๆ อย่างการออกตรวจพล และเป็นราชทูต ตัวแทนพระองค์ฯลฯ เมื่อถึงรัชกาลถังซู่จง ขันทีหลี่ฝู่กั๋ว ที่หนุนพระองค์ขึ้นครองบัลลังก์ ระหว่างลี้ภัยกบฏอันลู่ซันก็ยิ่งได้รับความไว้วางพระทัย จนสามารถกุมอำนาจสั่งการทหารองครักษ์ในวังหลวงทั้งหมด

หลังจากรัชสมัยถังไต้จง (762 – 779) ขันทีมีหน้าที่เป็นตัวแทนพระองค์ออกตรวจกำลังพล ประกาศราชโองการ ตรวจตราหนังสือกราบทูล ดูแลหน่วยข่าวกรองและสืบราชการลับ และองค์รักษ์วังหลวงทั้งหมด ทั้งสามารถแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าการทหารท้องถิ่น มีอิทธิพลล้นฟ้า อำนาจในราชสำนักจึงตกอยู่ในมือของเหล่าขันที กษัตริย์ราชวงศ์ถังในรัชกาลต่อมา บ้างสิ้นพระชนม์ด้วยมือขันที และบ้างขึ้นสู่ราชบัลลังก์ด้วยมือของขันที

ยุคขันทีครองเมืองนี้ ได้นำพาสังคมสู่ภัยพิบัติ เนื่องจากขันทีไม่ได้มีฐานอำนาจจากขุนนางอยู่แต่เดิม มือเท้าที่คอยทำงานให้ก็เป็นกลุ่มพ่อค้าและอันธพาลร้านถิ่น สภาพสังคมวุ่นวายสับสน ต่างแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและอำนาจส่วนตน ทั้งกษัตริย์ ขุนนางที่ไม่ยินยอมตกอยู่ภายใต้คำบงการของกลุ่มขันทีได้แต่กล้ำกลืนฝืนทน ดังนั้น จึงมักเกิดเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นต่อต้านเป็นระยะ

ภายหลังกบฏอันลู่ซัน เศรษฐกิจสังคมเสียหายหนัก มีราษฎรสูญเสียทรัพย์สินและที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการโกงกินของข้าราชการขุนนาง ทำให้ระบบการปกครองล้มเหลว ประชาชนไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ตามปกติสุข สุดท้ายต้องลุกฮือขึ้นก่อการ

เริ่มจากปี 875 กลุ่มพ่อค้าเกลือเถื่อนหวังเซียนจือ ลุกฮือขึ้นก่อการ จากนั้นเป็นกบฏหวงเฉา ลุกฮือขึ้นหนุนเสริม ภายหลังหวังเซียนจือเสียชีวิตในการต่อสู้ หวงเฉาจึงกลายเป็นผู้นำต่อมา โดยยึดได้ดินแดนทางตอนใต้เกือบทั้งหมด จากนั้นมุ่งตะวันออกอย่างรวดเร็ว กบฏหวงเฉาสยายปีกขึ้นเหนือ ยึดได้ฉางอัน สถาปนาแคว้นต้าฉี ในปี 880 บีบให้ถังซีจง(873 – 887)หลบหนีไปยังแดนเสฉวน ภายหลัง แม้ว่ากบฏหวงเฉาถูกปราบราบคาบลง แต่ครั้งนี้ ราชสำนักได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไม่อาจฟื้นตัวได้อีก ได้แต่รอวันดับสูญอย่างช้าๆ

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกบฏหวงเฉาคนหนึ่งคือ จูเฉวียนจง แต่เดิมชื่อจูเวิน เคยเป็นขุนพลใต้ร่มธงของหวงเฉา แต่ภายหลังหันมาสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ถัง(ทรยศนายเก่านั่นเอง) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าหน่วยปราบปรามในแดนเหอตง และได้รับพระราชทานนามว่าเฉวียนจง (แปลว่าซื่อสัตย์จงรักภักดี...แหวะ) ปีถัดมาได้เลื่อนเป็นแม่ทัพรักษาดินแดนหน่วยเซวียนอู่ พอถึงปี 884 จูเฉวียนจงร่วมมือกับหลี่เคอย่ง ชนเผ่าซาถัว เข้าปราบกองกำลังของหวงเฉา ภายหลังเหตุการณ์ กองกำลังที่นำโดย จูเฉวียนจง หลี่เคอย่อและหลี่เม่าเจิน ถือเป็นกองกำลังที่ทรงอำนาจที่สุดในขณะนั้น

กบฏหวงเฉาจบสิ้นไปแล้ว แต่การแก่งแย่งในราชสำนักยังไม่จบสิ้น ทั้งที่ความจริงอำนาจราชสำนักเหลือเพียงแต่เปลือก หลังจากถังเจาจง (888 – 904)ขึ้นครองราชย์ ก็ร่วมมือกับกลุ่มเสนาบดีชุยยิ่น เพื่อกำจัดอำนาจขันทีในวัง จึงนัดหมายกับจูเฉวียนจงให้เป็นกำลังสนับสนุนจากภายนอก ปี 903 หลังจากจูเฉวียนจงโจมตีกองกำลังของหลี่เม่าเจินที่ให้การสนับสนุนฝ่ายขันทีแตกพ่ายไป ก็นำกำลังทหารบุกเข้าฉางอัน กวาดล้างเข่นฆ่าขันทีในวังครั้งใหญ่ เป็นอันสิ้นสุดยุคขันทีครองเมือง

จูเฉวียนจงได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบจากการกวาดล้างขันที ให้เป็นเหลียงหวัง กุมอำนาจบริหารแผ่นดินอย่างเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียว แต่แล้วในปี 904 จูเฉวียนจงสังหารเสนาบดีชุยยิ่นและถังเจาจง แต่งตั้งถังอัยตี้วัย 13 ขวบขึ้นเป็นฮ่องเต้หุ่นเชิดแทน(เป็นไง นี่แหละสันดารคนทรยศ)

จากนั้นในปี 907 จูเฉวียนจงปลดถังอัยตี้ ตั้งตนเป็นใหญ่ สถาปนาแคว้นเหลียง ขึ้น โดยมีนครหลวงที่เมือง เ+++ยนโจว (ปัจจุบันคือเมืองไคฟง) ราชวงศ์ถังจึงถึงกาลอวสาน
Silph
[ 24-03-2007 - 23:27:00 ]







ห้าราชวงศ์สิบแคว้น (ค.ศ. 907 – 960) ช่วงนี้ก็ไม่มีเหมือนกัน

หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย แผ่นดินตกอยู่ในสภาพกลียุค แผ่นดินภาคกลางแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหต่อมาอีก 54 ปี ได้มีการผลัดแผ่นดินของห้าราชวงศ์ได้แก่ โฮ่วเหลียงโฮ่วถัง โฮ่วจิ้นโฮ่วฮั่นโฮ่วโจวขณะเดียวกัน บรรดาขุนศึกที่ครองเขตปกครองลุ่มน้ำฉางเจียงหรือแยงซี ภาคใต้และเขตชายฝั่งทะเล ต่างแยกตัวเป็นแว่นแคว้นอิสระถึงสิบแคว้น นักประวัติศาสตร์จีนจึงรวมเรียกยุคสมัยนี้ว่า สมัยห้าราชวงศ์สิบแคว้น"

ปลายราชวงศ์ถัง บ้านเมืองอยู่ในสภาพระส่ำระสาย บรรดาแม่ทัพนายกองที่ถูกส่งไปประจำท้องถิ่น ต่างพากันก่อหวอด เกิดศึกสงครามไม่ว่างเว้น หลังผ่านศึกตะลุมบอนหมู่มาหลายปี ในที่สุดหลงเหลือเพียงกลุ่มกองกำลังที่เข้มแข็ง ขณะที่ขุนศึกทางภาคใต้ต่างปักหลักยึดครองดินแดนของตน หันมาทำการค้าขาย ทางภาคเหนือมีจูเวินตั้งมั่นที่เ+++ยนโจวหรือไคเฟิง เผชิญหน้ากับหลี่เคอย่งที่มีศูนย์กลางในแดนไท่หยวน จวบจนปี 907 จูเวินล้มล้างราชวงศ์ถัง สถาปนาแคว้นเหลียง ซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนขนานนามว่าโฮ่วเหลียงขึ้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคห้าราชวงศ์
หลังจากสถาปนาโฮ่วเหลียง (ปี 907 – 923) จูเวินยังคงทำสงครามขยายดินแดนต่อไปจนสามารถครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนกลางและล่างไว้ได้ แต่ภายหลังถูกบุตรชายตัวเองลอบสังหาร การแก่งแย่งในราชสำนักโฮ่วเหลียง ทำให้ราชสำนักอ่อนแอลง
กองกำลังของหลี่ฉุนซี่ว์บุตรชายของหลี่เคอย่งคู่ปรับเก่าฉวยโอกาสจากความวุ่นวายนี้ เข้ายึดแดนเหอเป่ย สถาปนาโฮ่วถัง (ปี 923 – 936) จากนั้นบุกเข้ายึดเมืองไคเฟิงได้ในปีเดียวกัน โฮ่วเหลียงล่มสลาย

หลังจากโฮ่วถังรวบรวมดินแดนภาคเหนือไว้ได้ จึงย้ายเมืองหลวงไปยังนครลั่วหยาง ปี 925 ยกทัพลงใต้กวาดล้างแคว้นเฉียนสู ถังจวงจงหลี่ฉุนซี่ว์แม้จะเชี่ยวชาญการศึก แต่ไม่ใช่นักปกครองที่ดี ปลายรัชกาลหลงเชื่อขุนนางฉ้อราษฎร์ เป็นเหตุให้เกิดจราจลขึ้น ท่ามกลางความวุ่นวาย ถังจวงจงถูกสังหาร หลี่ซื่อหยวนบุตรบุญธรรมของหลี่เคอย่งขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่าถังหมิงจงทรงหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการผลิตภายใน ละเว้นการสงคราม ทำให้บ้านเมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นในระดับหนึ่ง ปี 933 หมิงจงสิ้น เกิดการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะความวุ่นวายอีกครั้ง

สือจิ้งถังราชบุตรเขยในถังหมิงจงดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาแดนเหอตง ฉวยโอกาสนี้ สวามิภักดิ์ต่อชนเผ่าชี่ตันถึงกับยอมเรียกหัวหน้าเผ่าชี่ตันเยลี่ว์เต๋อกวงเป็นบิดา ทั้งสัญญาจะยกดินแดนแถบเหอเป่ย ซันซีและมองโกเลียใน 16 เมือง พร้อมผ้าไหมแพรพรรณ ม้าศึกชั้นดีเป็นบรรณาการ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางทหารในการขึ้นสู่อำนาจ ปี 936 เยลี่ว์เต๋อกวงสนับสนุนสือจิ้งถังขึ้นเป็นใหญ่ที่แดนไท่หยวน สถาปนาโฮ่วจิ้น (ปี 936 – 947) จากนั้นยกทัพบุกลั่วหยาง โฮ่วถังสิ้น

ปี 937 โฮ่วจิ้นย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองไคเฟิง เนื่องจากต้องแบกรับภาระส่งบรรณาการให้กับชี่ตันเป็นจำนวนมหาศาล ราษฎรต้องทุกข์ยากแสนเข็ญ ปี 942 สือจิ้งถังสิ้น สือฉงกุ้ยผู้หลานขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ต้องการปลดพันธนาการดังกล่าว ชี่ตันจึงหาเหตุยกทัพลงใต้บุกโฮ่วจิ้น หลังจากการศึกโรมรันกว่า 5 ปี ในที่สุดปลายปี 946 กองทัพของชี่ตันบุกเข้าเมืองไคเฟิง โฮ่วจิ้นล่มสลาย

เยลี่ว์เต๋อกวงสถาปนาแคว้นเหลียวขึ้นที่เมืองไคเฟิง ออกปล้นสะดมทรัพย์สินเข่นฆ่าราษฎรทั่วไป เป็นเหตุให้ราษฎรลุกฮือขึ้นต่อต้าน ทหารเหลียวจำต้องล่าถอยกลับขึ้นเหนือไป ดินแดนภาคกลางเกิดสุญญากาศทางอำนาจขึ้น หลิวจือหย่วนที่เป็นแม่ทัพรักษาแดนเหอตง จึงเข้ายึดครองแทนที่ ในปี 947 ประกาศตัวขึ้นเป็นใหญ่ที่แดนไท่หยวน สถาปนาโฮ่วฮั่น (ปี 947 – 950) จากนั้นย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองไคเฟิง ปีถัดมาหลิวจือหย่วนสิ้น ฮั่นอิ่นตี้บุตรชายขึ้นครองราชย์ต่อมา ในเวลานั้นบ้านเมืองทรุดโทรมเสียหายจากการปล้นชิงเข่นฆ่าของชี่ตันไม่น้อย จึงเกิดการก่อหวอดขึ้นในท้องที่ต่างๆ ปี 950 ฮั่นอิ่นตี้ทรงระแวงว่าแม่ทัพนายกองจะแปรพักตร์จึงวางแผนกำจัด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ กัวเวยที่กุมอำนาจทางทหารอยู่แดนเหอเป่ย แต่แผนการไม่สำเร็จ กัวเวยจึงนำทัพบุกไคเฟิง อิ่นตี้ถูกสังหาร โฮ่วฮั่นสิ้น
ปี 951 กัวเวยขึ้นครองราชย์ สถาปนาโฮ่วโจว (ปี 951 – 960) ที่เมืองไคเฟิง ดำเนินการปฏิรูปการปกครอง ผ่อนปรนการเก็บภาษี ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะผู้มีปัญญา ขจัดการโกงกินของขุนนางชั่ว กระตุ้นให้มีการเพิ่มผลผลิต สภาพเศรษฐกิจและสังคมได้รับการฟื้นฟูในระดับหนึ่ง จวบจนปี 954 กัวเวยล้มป่วยเสียชีวิตลง บุตรบุญธรรมไฉหรงขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่า โจวซื่อจงถือเป็นนักปกครองที่มีบทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์จีน ทรงสืบทอดแนวทางปฏิรูปการเมืองการปกครองของรัชกาลก่อน ตระเตรียมกำลังพล พร้อมเปิดศึกรวมแผ่นดินอีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญต่อการรวมแผ่นดินของราชวงศ์ซ่งในเวลาต่อมา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ปณิธานยังไม่ทันสัมฤทธิผลก็ทรงประชวรสิ้นพระชนม์เสียก่อนในปี 959 ทิ้งให้บุตรชายวัย 7 ขวบขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา เป็นโจวก้งตี้

ปีถัดมา ขณะเจ้าควงอิ้นนำทัพบุกขึ้นเหนือ เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงที่เฉินเฉียวบรรดานายทัพพร้อมใจกันสนับสนุนเจ้าควงอิ้นขึ้นสู่บัลลังก์มังกร เป็นเหตุให้ต้องนำทัพกลับเข้านครหลวง ราชวงศ์โฮ่วโจวสิ้น ยุคห้าราชวงศ์ที่เต็มไปด้วยสงครามแย่งชิงบัลลังก์จึงสิ้นสุดลง
Silph
[ 24-03-2007 - 23:28:23 ]







สิบแคว้น ประกอบด้วย

ปลายราชวงศ์ถัง เนื่องจากเกิดศึกสงครามทางภาคเหนือ เป็นเหตุให้ราษฎรละทิ้งที่ดินทำกิน ประชากรเบาบางลง ขณะที่เงื่อนไขทางสังคมทางภาคใต้ค่อนข้างสงบมั่นคงกว่า เศรษฐกิจก็ได้รับการพัฒนารุ่งเรืองขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยห้าราชวงศ์ ได้เกิดการโอนถ่ายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจากแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง ลงสู่เขตลุ่มแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซี
กลุ่มเมืองสำคัญทางตอนใต้ขยายตัวเติบโตขึ้น กลุ่มแรงงานฝีมืออาทิ การต่อเรือ หล่อโลหะ การพิมพ์ ทอผ้าเป็นต้น ที่ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตทวีความสำคัญขึ้น การค้าขายระหว่างท้องถิ่นกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของแว่นแคว้นทางตอนใต้ แดนเจียงหนันกลายเป็นแหล่งชุมนุมของปราชญ์กวีที่มีความสามารถ

แคว้นอู๋และหนันถัง (ปี 902 – 975)

หยางสิงมี่ผู้สถาปนาแคว้นอู๋ เดิมเป็นแม่ทัพรักษาแดนหวยหนัน (ในมณฑลอันฮุย) แห่งราชวงศ์ถัง ปี 902 ราชสำนักถังแต่งตั้งให้เป็นอู๋หวัง พื้นที่ในปกครองได้แก่ เจียงซู อันฮุย เหอหนัน บางส่วนของหูเป่ยและเจียงซี โดยมีศูนย์กลางที่เมืองหยางโจว ภายหลังสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดต่อต่อมา แต่เกิดแย่งชิงอำนาจกันภายใน เป็นเหตุให้เสนาบดีสีว์เวินโอกาสแทรกตัวเข้ามายึดอำนาจทางทหารไว้ จากนั้นยกบุตรคนรองของหยางสิงมี่หยางเว่ยขึ้นครองบัลลังก์ โดยตระกูลสีว์กุมอำนาจทั้งมวลไว้

จวบจนปี 937 สีว์เวินสิ้น สีว์จือเก้าบุตรบุญธรรมของสีว์เวินขึ้นสู่อำนาจแทน เจ้าแคว้นอู๋ ‘สละราชบัลลังก์’ สีว์จือเก้าจึงกลับมาใช้แซ่หลี่ สถาปนาแคว้นหนันถัง โดยมีนครหลวงที่เมืองจินหลิง (เมืองหนันจิงในปัจจุบัน) สีว์จือเก้าดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับแว่นแคว้นรอบข้าง ทำให้บ้านเมืองปลอดภัยสงคราม สภาพสังคมเศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้น ปี 943 สีว์จือเก้าสิ้น บุตรชายหลี่จิ่งครองราชย์สืบต่อมา เป็นช่วงเวลาที่หนันถังรุ่งเรืองขึ้นมา เริ่มทำสงครามขยายอาณาเขต กลายเป็นแคว้นมหาอำนาจทางตอนใต้ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ภายในราชสำนักฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม บ้านเมืองเสื่อมทรุดลง ปี 958 หนันถังยอมสวามิภักดิ์กับราชวงศ์โฮ่วโจวพร้อมกับยอมยกดินแดนบางส่วนให้ ปี 961 หลี่จิ่งสิ้น หลี่อี้ว์ขึ้นครองราชย์ต่อมา จวบจนปี 975 ราชวงศ์ซ่งกรีฑาทัพลงใต้ หนันถังล่มสลาย

เฉียนสู(ปี 907 – 925)และโฮ่วสู (ปี 934 – 965)

หวังเจี้ยนพ่อเมือง+++โจว มีฐานอำนาจในแดนเสฉวนและฮั่นจงตั้งแต่ปี 894 หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย ก็ตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองเฉิงตู สถาปนาแคว้นเฉียนสู ดินแดนในปกครองได้แก่ เสฉวน กันซู่ ส่านซีและหูเป่ย(บางส่วน) หวังเจี้ยนดำเนินนโยบายเชิงรับ ไม่เน้นการใช้กำลังทหารกับภายนอกหากไม่จำเป็น จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดินแดนแถบนี้ยังคงความสงบสุขและพัฒนาขึ้น
แต่เนื่องจากในช่วงปลายรัชกาลหวาดระแวงขุนศึกเก่าแก่ข้างกาย จึงกำจัดเสียมากมาย ภายในราชสำนักเริ่มฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ปี 918 หวังเจี้ยนสิ้น เกิดการแก่งแย่งช่วงชิงในราชสำนัก สุดท้ายแม้ว่าหวังเหยี่ยนขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ไม่สนใจราชกิจเพียงคิดหาความสำราญ ปี 925 กองทัพของราชวงศ์โฮ่วถังบุกเข้าสู่นครหลวงเฉิงตู แคว้นเฉียนสูล่มสลาย
เมิ่งจือเสียงเป็นหลานเขยของหลี่เคอย่ง ในรัชกาลถังจวงจงแห่งโฮ่วถัง เป็นที่โปรดปรานยิ่ง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ตรวจการแดนเจี้ยนหนัน(เสฉวนตะวันตก) ต่อมาเกิดเหตุวุ่นวายในราชสำนัก ถังจวงจงสิ้น ถังหมิงจงขึ้นครองราชย์ เมิ่งจือเสียงทราบว่าราชสำนักโฮ่วถังอ่อนแอลง จึงคิดตั้งตนเป็นอิสระ ไม่รับฟังคำสั่งจากส่วนกลางอีก ปี 930 เมิ่งจือเสียงชักชวนต่งจางแม่ทัพรักษาแดนเสฉวนตะวันออกลุกฮือขึ้นก่อการ แต่ภายหลังเกิดขัดแย้งกันเอง ต่งจางพ่ายแพ้ถูกสังหาร เมิ่งจือเสียงจึงสามารถยึดครองดินแดนเสฉวนทั้งหมด ฝ่ายราชสำนักโฮ่วถังได้แต่ส่งหนังสือแต่งตั้งเมิ่งจือเสียงเป็นสูหวัง (เจ้าแคว้นสู)

ปี 934 เมิ่งจือเสียงสถาปนาแคว้นโฮ่วสู ครองราชย์ได้ครึ่งปีก็สิ้น บุตรชายเมิ่งฉั่งรับสืบทอดอำนาจต่อมา มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบการปกครอง พัฒนาการผลิต ก่อตั้งสถานศึกษา สังคมเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นเขตที่มีเศรษฐกิจและวัฒนธรรมรุ่งเรืองเคียงคู่กันมากับแคว้นหนันถัง ปี 965 ถูกราชวงศ์ซ่งล้มล้างไป

แคว้นอู๋เยี่ยว์ (ปี 907 – 978)

ปลายราชวงศ์ถัง เฉียนหลิวเดิมเป็นพ่อค้าเกลือเถื่อน ต่อมาสมัครเป็นทหารรับจ้าง ไต่เต้าจนกระทั่งได้เป็นแม่ทัพรักษาดินแดนชายฝั่งทะเลตะวันออก กุมอำนาจในดินแดนแถบเจียงหนันไว้ได้ (มณฑลเจ้อเจียงและเจียงซู) ปี 902 ถังเจาจงตั้งให้เป็นเยี่ยว์หวัง ปี 904 ตั้งให้เป็นอู๋หวัง ภายหลังเมื่อจูเวินสถาปนาโฮ่วเหลียง ตั้งให้เป็นอู๋เยี่ยว์หวัง มีนครหลวงที่เมืองหังโจว
แคว้นอู๋เยี่ยว์แม้มีพื้นที่แคบเล็ก แต่อุดมสมบูรณ์ และถึงแม้จะมีกำลังทหารไม่มากนัก แต่แคว้นอู๋เยี่ยว์มีท่าทีอ่อนน้อมต่อราชสำนักในภาคกลาง จึงสามารถป้องกันการรุกรานจากแว่นแคว้นที่เข้มแข็งรอบข้าง สภาพเศรษฐกิจรุ่งเรือง สังคมสงบร่มเย็น จวบจนปี 978 เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรซ่ง นับเป็นแคว้นที่มีเวลาปกครองยาวนานที่สุดในยุคนี้

แคว้นฉู่ (ปีค.ศ. 897 – 951)

ปลายราชวงศ์ถัง หม่าอินตั้งตัวเป็นใหญ่ที่หูหนัน หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย โฮ่วเหลียงแต่งตั้งเป็นฉู่หวัง มีศูนย์กลางที่เมืองถานโจว(เมืองฉางซาในปัจจุบัน) หลังหม่าอินสิ้น เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในวุ่นวาย ปี 951 จึงถูกหนันถังล้มล้างไป

แคว้นหมิ่น (ปีค.ศ. 909 – 945)

ปลายราชวงศ์ถัง หวังเฉาและหวังเสิ่นจือ สองพี่น้องต่อสู้ยึดครองดินแดนฝูเจี้ยน ถังเจาจงแต่งตั้งหวังเฉาเป็นแม่ทัพรักษาดินแดน ภายหลังหวังเสิ่นจือสืบทอดตำแหน่งต่อมา ปี 909 โฮ่วเหลียงตั้งเป็นหมิ่นหวัง สภาพโดยรวมสงบมั่นคงดี แต่หลังจากหวังเสิ่นจือสิ้น การเมืองภายในปั่นป่วนวุ่นวาย ผู้สืบทอดล้วนแต่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ทั้ง+++มโหดมากระแวง จนกระทั่งปี 945 ถูกแคว้นหนันถังกวาดล้างไป

หนันฮั่น (ปีค.ศ. 917 -971)

ปลายราชวงศ์ถัง หลิวอิ่นดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพรักษาแดนหลิ่งหนัน (มณฑลกว่างตงและกว่างซี) ปี 917 หลิวเหยียนน้องชายได้รับสืบทอดตำแหน่งต่อมา สถาปนาแคว้นเยี่ยว์ มีนครหลวงที่เมืองกว่างโจว ปีถัดมาเปลี่ยนชื่อเป็นฮั่น ประวัติศาสตร์ขนานนามว่า หนันฮั่น ปี 971 ถูกราชวงศ์ซ่งล้มล้างไป

หนันผิง (ปีค.ศ. 907 – 963)

ปี 907 โฮ่วเหลียงแต่งตั้งเกาจี้ซิง เป็นแม่ทัพรักษาแดนจิงหนัน(มณฑลหูเป่ย) ปี 924 โฮ่วถังแต่งตั้งเป็นหนันผิงหวัง มีศูนย์กลางที่เมืองเจียงหลิง ถือเป็นแคว้นที่มีกำลังอ่อนด้อยที่สุดในบรรดาสิบแคว้น ปี 963 ถูกราชวงศ์ซ่งล้มล้างไป

เป่ยฮั่น (ปีค.ศ.951 – 979)

ในบรรดาสิบแคว้น มีแว่นแคว้นหนึ่งเดียวที่อยู่ทางเหนือ คือเป่ยฮั่น ผู้ก่อตั้งคือหลิวฉงน้องชายของหลิวจือหย่วนแห่งราชวงศ์โฮ่วฮั่น ปี 951 เมื่อกัวเวยสถาปนาโฮ่วโจวขึ้นแทนที่โฮ่วฮั่น หลิวฉงก็เข้ายึดครองแดนไท่หยวนไว้ ตั้งตนเป็นกษัตริย์ และยังคงใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นสืบต่อมา ประวัติศาสตร์จีนขนานนามว่า เป่ยฮั่น(ฮั่นเหนือ)
เป่ยฮั่นเป็นแดนทุรกันดาร ราษฎรอดอยากยากจน แต่เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าชี่ตัน จึงยังคงรักษาดินแดนไว้ได้ สภาพสังคมเต็มไปด้วยข้อพิพาทขัดแย้ง ปี 979 ราชวงศ์ซ่งกรีฑาทัพเข้าสู่ไท่หยวน เป่ยฮั่นสิ้นสุดลง

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ บริเวณพื้นที่รอบนอกเขตแดนต่อแดนของอาณาจักรจีน ยังมีกลุ่มชนเผ่าที่ตั้งตนเป็นอำนาจรัฐอิสระขึ้น ที่สำคัญได้แก่ หลิวโส่วกวงสถาปนารัฐเอี้ยนที่แดนเหอเป่ย (ปี 895 – 913) บริเวณชิงไห่และทิเบตมีถู่ฟานแถบหยุนหนันจากแคว้นน่านเจ้าเดิม กลายเป็นต้าฉางเหอ(902-928) ต้าเทียงซิ่ง(928-929) ต้าอี้หนิง(929- 937) ภายหลังเป็นต้าหลี่หรือตาลีฟู(937- 1254) ภาคอีสานมีแคว้นป๋อไห่ (713-926) แถบมองโกเลียในมีชนเผ่าชี่ตัน นำโดยเยลี่ว์อาเป่าจีที่มีกำลังกล้าแข็งขึ้น ปี 916 สถาปนาแคว้นชี่ตัน จากนั้นกวาดรวมแคว้นป๋อไห่เข้าด้วยกัน นำกองกำลังรุกเข้าสู่ภาคกลาง จวบจนปี 947 เปลี่ยนชื่อแคว้นเป็นเหลียวกลายเป็นขุมกำลังที่ตั้งประจันกับราชวงศ์ซ่งเหนือในเวลาต่อมา
Silph
[ 24-03-2007 - 23:29:34 ]







ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) ใกล้ถึงนิยายดัง มังกรหยกแล้ว

แผ่นดินภาคกลาง ภายหลังโจวซื่อจง แห่งราชวงศ์โฮ่วโจวสิ้น ภายในราชสำนักอยู่ในภาวะตึงเครียด ภายนอกเผชิญภัยคุกคามจากทัพเหลียว ปี 960 เจ้าควงอิ้น ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาวังหลวง บัญชาการกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้น ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทัพใต้ร่มธง บีบให้โจวก้งตี้ วัย7ขวบสละราชย์ จากนั้นสถาปนาราชวงศ์ซ่งขึ้นแทนที่โฮ่วโจว

ซ่งไท่จู่ เจ้าควงอิ้นขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็จัด “งานเลี้ยงสุราปลดอาวุธ” สลายกำลังของนายทหารกลุ่มต่างๆที่สนับสนุนตนขึ้นสู่บัลลังก์โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ขึ้นได้อีก ทั้งเล็งเห็นว่าการที่นายทัพคุมกำลังทหารไว้ ย่อมจะมีอำนาจพลิกฟ้าอยู่ในมือ ซ่งไท่จู่จึงใช้วิธีการเดียวกันในการโอนถ่ายอำนาจทางทหารของแม่ทัพรักษาชายแดนเข้าสู่ส่วนกลาง นอกจากนี้ เพื่อลิดรอนอำนาจขุนนางที่อาจส่งผลคุกคามต่อราชบัลลังก์ในภายภาคหน้า จึงออกกฎระเบียบใหม่ ให้มีเพียงขุนนางระดับสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาราชกิจ โดยมีกษัตริย์เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ขุนนางเป็นเพียงผู้รับไปปฏิบัติ ไม่ได้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะข้อราชการดังเช่นแต่ก่อน นับแต่นั้นมา อำนาจเด็ดขาดทั้งมวลจึงตกอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว

เวลานั้น รอบข้างยังประกอบด้วยแว่นแคว้นต่างๆได้แก่ โฮ่วสู หนันฮั่น หนันถัง อู๋เยว่ และเป่ยฮั่น ดังนั้นภารกิจสำคัญของเจ้าควงอิ้นคือ การเปิดศึกรวมแผ่นดิน ทัพซ่งมุ่งลงใต้ ทยอยรวบรวมดินแดนภาคใต้กลับมาอีกครั้ง หลังจากปราบแคว้นหนันถังอันเข้มแข็งได้สำเร็จในปี 974 แว่นแคว้นที่เหลือต่างทยอยเข้าสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ซ่ง ปลายรัชกาล เจ้าควงอิ้นหันทัพมุ่งขึ้นเหนือ หวังรวมแคว้นเป่ยฮั่นที่หลงเหลือเพียงหนึ่งเดียว แต่แล้วสิ้นพระชนม์ลงระหว่างการศึกภาคเหนือในปี 976

ซ่งไท่จง เจ้ากวงอี้ (ปี 976 – 997) ที่เป็นน้องชายขึ้นสืบราชบัลลังก์ สานต่อปณิธานรวมแผ่นดิน โดยรวมแคว้นเป่ยฮั่นสำเร็จในปี 979 จากนั้นพยายามติดตามทวงคืนดินแดนที่เคยเสียให้กับเหลียว (ปักกิ่งและต้าถง) กองทัพซ่งเหนือเปิดศึกกับเหลียวหลายครั้ง ขณะที่แคว้นเหลียวก็หาโอกาสรุกลงใต้ กลายเป็นสภาพการเผชิญหน้ากัน จวบกระทั่งปี 1004 ล่วงเข้ารัชกาลซ่งเจินจง ซ่งเหนือกับเหลียวบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ฉาน สงครามอันยาวนานจึงยุติลง

ปลายรัชกาลซ่งไท่จงเจ้ากวงอี้ ชนเผ่าตั่งเซี่ยง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือเริ่มมีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น หันไปสวามิภักดิ์กับแคว้นเหลียว ราชสำนักซ่งจึงสั่งปิดชายแดนตัดขาดการติดต่อค้าขายระหว่างกัน ทำให้เกิดธุรกิจค้าเกลือเถื่อน และการปล้นสะดมสินค้าในบริเวณใกล้เคียง สองฝ่ายปะทะกันหลายครั้งแต่ไม่อาจเอาชนะกันได้ ต่อเมื่อ ปี 1006 ภายหลังซ่งทำสัญญาสงบศึกกับเหลียว ตั่งเซี่ยจึงหันมาผูกมิตรกับซ่งเหนือ เปิดการค้าชายแดนตามปกติ

จวบกระทั่งปี 1038 หลี่หยวนเฮ่า ผู้นำคนใหม่ในเวลานั้น สถาปนาแคว้นซี่เซี่ย ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ที่เมืองซิ่งโจว (ปัจจุบันคือเมืองอิ๋นชวน มณฑลหนิงเซี่ย) ซีเซี่ยฉีกสัญญาพันธมิตรที่มีมากว่า 30 ปี เริ่มรุกรานเข้าดินแดนภาคตะวันตกของซ่งเหนือ ขณะที่กองทัพซ่งเหนือพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามเรียกร้องให้มีการเจรจากสงบศึกแต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม เมื่อทำศึกเป็นเวลานาน การค้าที่เคยมีต้องประสบกับความเสียหาย ซีเซี่ยกลับเป็นฝ่ายเดือดร้อนเพราะขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น สุดท้าย ซีเซี่ยจึงยอมเจรจาสงบศึก โดยซี่เซี่ยยอม “สวามิภักดิ์”กับราชสำนักซ่ง ขณะที่ซ่ง “พระราชทาน” ผ้าไหมแพรพรรณ เงินทองและชาให้กับซีเซี่ย (ตกลงใครชนะหว่า 555) สองฝ่ายต่างรื้อฟื้นเส้นทางค้าขายระหว่างกันดังเดิม

เจ้าควงอิ้นและเจ้ากวงอี้สองพี่น้องที่ได้ผ่านพบความวุ่นวุ่นวายแตกแยกของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนศึก อีกทั้งประสบการณ์ความพลิกผันทางการเมืองของตน ทราบว่า เป็นเพราะเหล่าขุนศึกมีทั้งกำลังทหารและกำลังทรัพย์อยู่ในมือ ทั้งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อเป็นการลิดรอนอำนาจของเหล่าแม่ทัพรักษาชายแดน ราชสำนักได้จัดส่งขุนนางฝ่ายบุ๋นออกไปทำหน้าที่ปกครองในส่วนท้องถิ่นโดยตรง มีการคัดเลือกทหารฝีมือดีจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อทำหน้าที่กองกำลังรักษาวังหลวง ทั้งให้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งประจำการทุกสามปี ส่วนด้านการเงิน ก็กำหนดให้รายรับรายจ่ายของท้องถิ่น(ภาษี เงินปี เบี้ยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ) ต้องจัดรวบรวมและแจกจ่ายจากส่วนกลาง

การปฏิรูปดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองส่วนกลางให้เข้มแข็งขึ้นอย่างไม่มียุคใดเทียบได้ พร้อมกับได้สลายขุมกำลังท้องถิ่นลงอย่างราบคาบ ตลอดราชวงศ์ไม่มีขุมกำลังอื่นใดในแผ่นดินสามารถท้าทายราชอำนาจของกษัตริย์ได้อีก อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวส่งผลให้กองทัพอ่อนแอลง ทำให้ราชสำนักซ่งต้องตกเป็นฝ่าย “ตั้งรับ” ในยุคสมัยที่รอบข้างเต็มไปด้วยชนเผ่านักรบจากนอกด่านที่ทวีความแข็งกล้าขึ้น ดูจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก

ภายหลังสัญญาสงบศึกที่ฉานหยวน ซ่งเหลียวยุติศึกสงครามอันยาวนานนับสิบปี เมื่อปลอดภัยสงคราม การค้า การผลิต ศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของสองฝ่ายต่างเจริญรุ่งเรืองขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของหน่วยงานราชการส่วนกลาง ที่ประสิทธิภาพนับวันจะถดถอยลงคลอง ทหารขาดการซ้อมรบและศึกษายุทธวิธีในการศึก กองทัพอ่อนแอ อันเป็นสาเหตุแห่งความแพ้พ่ายครั้งแล้วครั้งเล่าของทัพซ่ง

นอกจากนี้ หน่วยงานข้าราชการขุนนางก็มีขนาดใหญ่โตเทอะทะขึ้นทุกวัน ทั้งที่ยังมีบุคคลากรที่ผ่านการสอบคัดเลือกแต่ไม่มีตำแหน่งการงานรองรับอีกมากมายนับไม่ถ้วน กล่าวกันว่า มีอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้ตำแหน่งงานถึงหนึ่งต่อสิบทีเดียว

ภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสการอนุรักษ์อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเกรงว่าจะต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อันจะกระทบกระเทือนตำแหน่งของตน ในเวลาเดียวกัน บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน กวาดเก็บทรัพย์สินเข้าพกเข้าห่อ ไม่สนใจถึงผลกระทบต่อส่วนรวม บรรยากาศดังกล่าวปกคลุมไปทั่วราชสำนักซ่ง

การขยายตัวของหน่วยงานราชการ ทำให้ราชสำนักซ่งต้องเผชิญกับวิกฤตค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จากบันทึกค่าใช้จ่ายสมัยซ่ง พบว่า เมื่อถึงรัชสมัยซ่งอิงจง (1063 – 1067)ท้องพระคลังที่ว่างเปล่ากลับมีรายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นจำนวนมหาศาล บ่งชี้ถึงฐานะทางการเงินอันคลอนแคลนของราชสำนัก
Silph
[ 24-03-2007 - 23:30:36 ]







ซ่งเหนือ (ต่อ)

ปี 1022 ซ่งเจินจง ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ ซ่งเหยินจง (1022 – 1063) ราชโอรสขึ้นครองราชย์ด้วยวัยเพียง 13 ปี ดังนั้นจึงมีหลิวไทเฮาคอยดูแลให้คำปรึกษาราชกิจ ต่อเมื่อ หลิวไทเฮาสิ้นพระชนม์ในปี 1033 ซ่งเหยินจงจึงเริ่มบริหารราชกิจด้วยตนเอง จากนั้นไม่นาน ราชสำนักซ่งเปิดศึกกับซีเซี่ยอีกครั้ง แต่ทัพซ่งก็ต้องแพ้พ่ายเสียหายกลับมา เป็นเหตุให้ซ่งเหยินจงมีดำริที่จะปรับปรุงกองทัพและการคลังครั้งใหญ่

ปี 1043 ทรงแต่งตั้งฟ่านจ้งเยียน และคณะให้ดำเนินการปฏิรูประบบการปกครองภายใน แต่นโยบายปฏิรูปของฟ่านจ้งเยียนทำให้บรรดาขุนนางและกลุ่มตระกูลสูงศักดิ์เสียผลประโยชน์ เป็นเหตุให้เกิดเสียงคัดค้านมากมาย สุดท้าย การปฏิรูปดังกล่าวดำเนินการไปได้เพียงปีเศษก็ต้องล้มเลิกไป คณะทำงานปฏิรูปของฟ่านจ้งเยียนต่างทยอยถูกปลดจากตำแหน่ง

ปลายรัชกาลซ่งเหยินจง หวังอันสือ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งทางราชการไม่นาน ได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปแบบใหม่ โดยเสนอให้เร่งสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ปรับปรุงระเบียบข้อกำหนดกฎหมาย และจัดการบริหารการคลังเสียใหม่ เป็นต้น แนวคิดของหวังอันสือแม้ว่าจะเป็นที่ชื่นชมอย่างมากในหมู่ปัญญาชน แต่ซ่งเหยินจงไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

จวบจนปี 1963 ซ่งเหยินจง ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลง ซ่งอิงจง สืบราชบัลลังก์ต่อมาได้เพียง 4 ปี ก็สิ้น โอรสของซ่งอิงจงขึ้นครองราชย์ต่อมาพระนามว่า ซ่งเสินจง โดยมีบทบาทสำคัญในการให้การสนับหนุนแนวคิดการปฏิรูปกฎหมายของหวังอันสือ

ในเวลานั้น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมและวิกฤตทางการเงินยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หน่วยงานราชการของราชสำนักซ่งมีขนาดใหญ่โตขึ้นกว่าเมื่อครั้งต้นราชวงศ์ถึงกว่าสิบเท่า เพียงค่าใช้จ่ายแต่ละปีของกองทัพก็ครอบคลุมรายได้กว่าครึ่งจากท้องพระคลัง ดังนั้น ซ่งเสินจงขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานก็ทรงแต่งตั้งให้หวังอันสือเป็น ผู้นำคณะปฏิรูปกฎหมายการปกครองใหม่

ระเบียบกฎหมายใหม่ของหวังอันสือมุ่งเน้นการเก็บกวาดรายได้จากบรรดาพ่อค้า ข้าราชการ และเจ้าที่ดินเข้าสู่ท้องพระคลัง ลดการผูกขาดอำนาจและอภิสิทธิ์ของกลุ่มตระกูลขุนนางชั้นสูง ขณะที่กลุ่มชาวนาและราษฎรทั่วไปลดภาระในการแบกรับภาษีและการเกณฑ์แรงงาน อีกทั้งมีการปรับปรุงระบบชลประทาน ทำให้กำลังการผลิตของสังคมโดยรวมพัฒนาขึ้นในระดับหนึ่ง มีเงินเข้าท้องพระคลังเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระเบียบกฎหมายใหม่ยังต้องเผชิญกับกระแสการคัดค้านจากผู้เสียผลประโยชน์ ภายหลังซ่งเสินจงสิ้นในปี 1085 โอรสวัยสิบขวบขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่า ซ่งเจ๋อจง มีเกาไทเฮาเป็นที่ปรึกษาราชกิจ ซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มแนวคิดอนุรักษ์แบบเก่านำโดยซือหม่ากวง ไม่นานนัก กลุ่มปฏิรูปของหวังอันสือก็ถูกขับไล่ออกจากศูนย์กลางอำนาจ ระเบียบกฎหมายใหม่ถูกยกเลิกไป การปฏิรูปของหวังอันสือจึงจบสิ้นลงพร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของซ่งเสินจง

ต่อเมื่อเกาไทเฮาสิ้นในปี 1093 ซ่งเจ๋อจงก็หันมาให้การสนับสนุนฝ่ายนำการปฏิรูปอีกครั้ง แต่ภายในกลุ่มปฏิรูปเองเกิดแตกความคิดเห็นเป็นหลายฝ่าย กลายเป็นการแก่งแย่งช่วงชิงคานอำนาจกันเอง จวบจนซ่งเจ๋อจงสิ้นในปี 1100 ซ่งฮุยจง ขึ้นครองราชย์ต่อมา ให้การสนับสนุนกลุ่มขุนนางไช่จิง และพวก ที่แอบอ้างการผลักดันกฎหมายใหม่ มาใช้ในการโกงกินและขยายอำนาจในหมู่พรรคพวกเดียวกัน อันนำมาซึ่งยุคแห่งความมืดมนฟอนเฟะของราชวงศ์ซ่ง

ระบบราชการที่ล้มเหลว เป็นเหตุให้ราษฎรทยอยลุกฮือขึ้นก่อการต่อต้านราชสำนัก อาทิ กบฏฟางล่า (1120) กบฏซ่งเจียง (1118) อันเป็นที่มาของเรื่องราวในตำนาน “วีรบุรุษเขาเหลียงซาน” (จอมโจรเขาเหลียงซาน)แต่สุดท้ายยังคงต้องพ่ายแพ้แก่ราชสำนักซ่งในที่สุด

ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์ทางภาคเหนือก็วุ่นวายไม่ต่างกัน ราชสำนักเหลียวเกิดการแตกแยกภายใน ระบบการปกครองล้มเหลว บ้านเมืองอ่อนแอลง กลุ่มชนเผ่าทางเหนือที่เคยถูกกดขี่บีบคั้นต่างลุกฮือขึ้นก่อหวอด ชนเผ่าหนี่ว์เจิน ทางภาคอีสานเริ่มมีกำลังแกร่งกล้าขึ้น

ปี 1115 อากู่ต่า ผู้นำชนเผ่าหนี่ว์เจิน สถาปนาแคว้นต้าจินหรือกิม ที่ฮุ่ยหนิง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียง) ทรงพระนาม จินไท่จู่ จากนั้นกรีฑาทัพบุกแคว้นเหลียว

ฝ่ายซ่งเหนือ เห็นเป็นโอกาสที่จะยึดดินแดน 16 เมืองที่เคยเสียไปกลับคืนมา จึงทำสัญญาร่วมมือกับแคว้นจินบุกเหลียว โดยซ่งจะส่งบรรณาการที่เคยให้กับเหลียวมามอบให้แคว้นจินแทน เพื่อแลกกับดินแดน 16 เมือง(ปักกิ่ง ต้าถง)ที่สูญเสียไปกลับคืนมา

ซ่งกับจินทำสัญญาร่วมมือกันบุกเหลียว ซ่งรับหน้าที่บุกเมืองเยียนจิง(ปักกิ่ง)และต้าถง ขณะที่จินนำทัพรุกคืบกลืนดินแดนเหลียวที่เหลือ ถงก้วน นำทัพซ่งบุกเมืองเยียนจิงสองครั้งแต่ต้องพ่ายแพ้กลับมาทั้งสองหน สุดท้ายปล่อยให้ทัพจินเป็นฝ่ายบุกเข้ายึดเมืองไว้ได้โดยง่าย ราชสำนักซ่งต้องรับปาก“ไถ่เมืองคืน” ด้วยภาษีรายปีที่เก็บได้จากท้องถิ่นเป็นเงินก้อนโต สถานการณ์คราวนี้เป็นเหตุให้ทัพจินเล็งเห็นถึงความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพของกองกำลังฝ่ายซ่ง ดังนั้น เมื่อทัพจินล้มล้างเหลียวเป็นผลสำเร็จ ก็เบนเข็มมุ่งมายังซ่งเหนือเป็นลำดับต่อไป

ปี 1125 หลังจากหวันเหยียนเซิ่น ขึ้นครองราชย์เป็นจินไท่จง สืบต่อจากจินไท่จู่ผู้พี่ชายแล้ว ก็นำทัพกวาดล้างแคว้นเหลียวเป็นผลสำเร็จ ทัพจินอ้างเหตุรุกไล่ติดตามตัวนายทัพเหลียว นำทัพล่วงเข้ามาในแดนซ่ง แยกย้ายบุกแดนไท่หยวนและเยียนจิง(ปักกิ่ง) แม่ทัพรักษาเมืองเยียนจิงยอมสวามิภักดิ์ทัพจิน นำทางเคลื่อนทัพรุกประชิดเมืองหลวงไคเฟิง

ซ่งฮุยจงเมื่อได้ทราบข่าวทัพจินเคลื่อนลงใต้ รีบสละบัลลังก์ให้กับรัชทายาทส่วนตัวเองหลบหนีลงใต้(อ้าว..กรรม) ซ่งชินจง เมื่อขึ้นครองราชย์ ก็เรียกประชุมเสนาบดีคิดหาหนทางแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ กลุ่มขุนนางใหญ่สนับสนุนให้ย้ายเมืองหลวงเพื่อลี้ภัย ทว่าหลี่กัง อาสาทำหน้าที่รักษาเมืองอย่างแข็งขัน หัวเมืองรอบนอกเมื่อทราบข่าวทัพจินก็รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังต่อต้านการรุกรานจากภายนอก ทัพจินเมื่อไม่สามารถเอาชัยได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็เริ่มขาดแคลนเสบียง

ในเวลาเดียวกัน ซ่งชินจงแอบทำสัญญาสงบศึกกับทัพจิน โดยยินยอมจ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล อีกทั้งส่งมอบดินแดนสามเมืองให้เป็นการชดเชย ฝ่ายจินจึงยอมถอนทัพกลับภาคเหนือ ภายหลังวิกฤตหลี่กังถูกปลดจากตำแหน่ง

ราชสำนักซ่งแม้ว่ารับปากส่งมอบเมืองไท่หยวน จงซานและเหอเจียนให้กับแคว้นจิน แต่ราษฎรในท้องถิ่นต่างพากันต่อต้านทัพจินอย่างไม่คิดชีวิต ทัพจินไม่อาจเข้าครอบครองทั้งสามเมืองได้ จึงส่งกองกำลังบุกลงใต้มาอีกครั้ง แต่คราวนี้ ชาวเมืองไท่หยวนที่ยืนหยัดต่อสู้เป็นเวลานาน เกิดขาดแคลนเสบียง จึงต้องเสียเมืองในที่สุด ทัพจินรุกประชิดเมืองไคเฟิงอีกครั้ง ราชสำนักซ่งจัดส่งราชทูตไปเจรจาสงบศึกแต่ไม่เป็นผล ทัพจินบุกเข้าเมืองไคเฟิงกวาดต้อน ซ่งเวยจง ซ่งชินจง และเชื้อพระวงศ์ ไปเป็นเชลย อีกทั้งปล้นสะดมทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมดสิ้น ราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย

ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ แม้มีการศึกสงครามประปรายเป็นระยะ แต่เนื่องจากพื้นที่บางส่วนยังมีความสงบสุขอยู่บ้าง ดังนั้น วิทยาการความรู้ การผลิต ยังคงมีความก้าวหน้าอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการพิมพ์ ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นในยุคนี้ นอกจากนี้ ความจำเป็นของการศึกสงคราม ราชสำนักซ่งยังได้มีการผลิตดินปืนขึ้นเพื่อใช้ในการรบเป็นครั้งแรก

ช่วงคาบเกี่ยวก่อนราชวงศ์ซ่ง ยังมีเหลียวเกิดขึ้น และล่มสลายไปพร้อมกับราชวงศ์ซ่ง
Silph
[ 24-03-2007 - 23:32:30 ]







ราชวงศ์เหลียว (ค.ศ. 916 – 1125) เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับราชวงศ์ซ่งครับ

สถาปนาขึ้นโดยชนเผ่าชี่ตัน เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเหลียวในมณฑลเหลียวหนิงและมองโกเลียใน ต่อมารุ่งเรืองขึ้นจนสามารถครอบครองดินแดนทางภาคเหนือของจีนเป็นเวลานานกว่าสองศตวรรษ โดยถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับยุคห้าราชวงศ์ และสิ้นสุดไปพร้อมกับราชวงศ์ซ่งเหนือ

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ราชวงศ์เหลียวได้เปิดศึกสู้รบกับชาวฮั่นในดินแดนภาคกลางเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ในด้านวัฒนธรรม การบริหารการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ ล้วนได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่นอย่างลึกซึ้ง

ปลายราชวงศ์ถัง เยลี่ว์อาเป่าจีรวบรวมชนเผ่าชี่ตันเป็นหนึ่งเดียว สถาปนาแคว้นชี่ตันขึ้นในปี 916 จากนั้นปรับปรุงบ้านเมืองขนานใหญ่ คิดประดิษฐ์ตัวอักษรชี่ตัน สร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองหวงตู (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นซ่างจิง ปัจจุบันอยู่ในเขตปาหลินจั่วฉีของมองโกเลียใน ปี 926 ผนวกแคว้นป๋อไห่(ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของมณฑลเหลียวหนิง เฮยหลงเจียงและเกาหลีเหนือ) รวมแผ่นดินภาคเหนือเข้าด้วยกัน

ปี 926 เยลี่ว์อาเป่าจีสิ้น เดิมอาเป่าจีแต่งตั้งเยลี่ว์ทูอี้ว์บุตรชายคนโตเป็นรัชทายาท แต่ฮองเฮาสู้ลี่ว์และข้าราชสำนักต่างให้การสนับสนุนเยลี่ว์เต๋อกวงบุตรชายรองที่มีความสามารถด้านการทหารขึ้นครองบัลลังก์แทน บีบคั้นให้เยลี่ว์ทูอี้ว์ต้องลี้ภัยยังราชสำนักโฮ่วถัง

เยลี่ว์เต๋อกวง(ปี 926 – 947) สานต่อแนวนโยบายของบิดา โดยใช้หลักการปกครองตาม ‘ประเพณีท้องถิ่นนิยม’ โดยจัดแบ่งข้าราชสำนักออกเป็นฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือเป็นข้าราชการชี่ตันปกครองดูแลชนเผ่าชี่ตันและชนเผ่าปศุสัตว์อื่นๆ โดยใช้ระเบียบปกครองของชนเผ่า ส่วนฝ่ายใต้มีทั้งข้าราชการชาวฮั่นและชี่ตัน ปกครองดูแลชาวฮั่นและป๋อไห่ ที่โดยมากทำการเกษตรอยู่ทางตอนใต้และตะวันออกของแคว้น โดยใช้ระเบียบการปกครองตามแบบอย่างราชวงศ์ถัง
นอกจากนี้ เยลี่ว์เต๋อกวงยังศึกษาทางด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวฮั่น ทั้งให้ความสนใจต่อการพัฒนาด้านการเกษตร ทำให้สภาพเศรษฐกิจและขุมกำลังของชี่ตันเจริญรุดหน้าเข้มแข็งขึ้น
ไม่นาน เยลี่ว์เต๋อกวงก็สบโอกาสขยายอิทธิพลเข้าสู่ภาคกลาง ปี 936 ชี่ตันยื่นมือเข้าช่วยเหลือสือจิ้งถังล้มล้างราชวงศ์โฮ่วถัง(หนึ่งในห้าราชวงศ์) สถาปนาโฮ่วจิ้นโดยได้รับมอบดินแดนแถบเหอเป่ยและซันซี 16 เมือง(ปัจจุบันได้แก่ ปักกิ่งและต้าถง) อีกทั้งบรรณาการประจำปีเป็นการตอบแทน แต่เมื่อสือจิ้งถังสิ้น ผู้สืบบัลลังก์ของสือจิ้งถังต้องการแยกตัวเป็นอิสระ กองทัพชี่ตันก็บุกเข้านครหลวงไคเฟิง ล้มล้างราชวงศ์โฮ่วจิ้นเป็นผลสำเร็จ แต่เนื่องจากกองทัพชี่ตันไม่ได้จัดกองเสบียงสนับสนุน ทหารจึงต้องออกปล้นสะดมแย่งชิงเสบียงราษฎรตลอดเส้นทางที่ผ่าน เป็นเหตุให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านอย่างรุนแรง กองทัพชี่ตันได้แต่ล่าถอยกลับภาคเหนือ

ปี 947 ระหว่างการถอนกำลังกลับภาคเหนือ เยลี่ว์เต๋อกวงสิ้นกะทันหันในแดนเหอเป่ย ขณะที่กองทัพไม่อาจขาดผู้นำได้ ดังนั้นบรรดานายทัพจึงสนับสนุนให้เยลี่ว์หร่วนบุตรชายของเยลี่ว์ทูอี้ว์รัชทายาทองค์ก่อน ซึ่งร่วมรบอยู่ในกองทัพด้วยกันขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ ทรงพระนามว่าเหลียวซื่อจง (ปี 947 – 951)

ทว่า ภายในราชสำนักเหลียว ซู่ลี่ว์ไทเฮาที่สนับสนุนหลี่หูน้องชายของเยลี่ว์เต๋อกวงเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ เมื่อทราบข่าวก็ส่งหลี่หูนำทัพมาแย่งชิงอำนาจกลับคืน แต่หลี่หูพ่ายแพ้ สองฝ่ายจึงต้องหันมาเจรจากัน

สุดท้ายแม้ว่าทั้งสองฝ่ายตกลงให้ทายาทของทั้งสองสายสลับกันขึ้นเป็นผู้นำ โดยซู่ลี่ว์ไทเฮายอมรับให้ ‘หลานชาย’เหลียวซื่อจงครองราชย์ต่อไป แต่กระแสการแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนักเหลียวยังไม่หมดสิ้นไป เหลียวซื่อจงใช้มาตรการรุนแรงในการกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ทั้งให้การสนับสนุนชาวฮั่นอย่างมาก สร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นสูงของชนเผ่า เป็นเหตุให้มีผู้คิดก่อการโค่นล้มราชบัลลังก์หลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกปราบราบคาบลง

จนกระทั่งปี 951 ราชวงศ์โฮ่วโจวแทนที่โฮ่วฮั่น หลิวฉงทายาทราชวงศ์โฮ่วฮั่นแยกตัวออกมาสถาปนาแคว้นเป่ยฮั่น จากนั้นหันมาสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์เหลียว เพื่อขอให้เหลียวส่งกำลังคุ้มครอง เหลียวซื่อจงคิดฉวยโอกาสนี้รุกเข้าภาคกลางอีกครั้ง จึงนำทัพลงใต้มา แต่แล้วระหว่างทางเกิดเหตุกบฏขึ้น เหลียวซื่อจงถูกสังหาร หลังจากปราบกบฏลงได้ นายทัพทั้งหลายต่างยกให้เยลี่ว์จิ่งบุตรชายของเยลี่ว์เต๋อกวงขึ้นเป็น เหลียวมู่จงกษัตริย์องค์ต่อไป

เหลียวมู่จง(ปี 951 – 969) แม้ขึ้นครองราชย์ แต่ภายในยังมีการแย่งชิงระหว่างพี่น้อง มีการก่อหวอดและกวาดล้างทางการเมืองหลายครั้ง การปกครองภายในล้มเหลว บ้านเมืองอ่อนแอลง ในเวลาเดียวกัน ภาคกลางเกิดการผลัดแผ่นดิน ราชวงศ์ซ่งเข้าแทนที่ราชวงศ์โฮ่วโจว ซ่งไท่จู่เจ้าควงอิ้นเห็นเป็นโอกาสรวมแผ่นดินทางภาคใต้ก่อน ต่อเมื่อหันกลับมาอีกครั้ง สถานการณ์ทางภาคเหนือก็เปลี่ยนไปแล้ว

ปี 969 เหลียวมู่จงถูกลอบสังหาร เยลี่ว์เสียนบุตรชายของเหลียวซื่อจงจากสายรัชทายาทองค์โตขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่า เหลียวจิ่งจง (ปี 969 – 982) จากนี้ไป จนถึงรัชกาลเหลียวเซิ่งจง (983 – 1031) เมื่อผ่านการปฏิรูปครั้งใหญ่ เปลี่ยนผ่านสังคมสู่วัฒนธรรมแบบฮั่น ก็เข้าสู่ยุคทองของราชวงศ์เหลียว

ตลอดรัชกาลเหลียวจิ่งจงมีสุขภาพอ่อนแอ เซียวฮองเฮาจึงเข้าดูแลราชกิจแทนทั้งหมด ปี 979 ซ่งไท่จงแห่งราชวงศ์ซ่งผนวกแคว้นเป่ยฮั่นเข้ากับภาคกลางเป็นผลสำเร็จ ต่อมาไม่นาน เหลียวจิ่งจงสิ้น โอรสวัย 12 ขวบเยลี่ว์หลงซี่ว์ ขึ้นครองราชย์ต่อมา เป็นเหลียวเซิ่งจง ภายใต้การดูแลของเซียวไทเฮา (953 – 1009) ระหว่างนี้ ราชวงศ์ซ่งและเหลียวต่างเปิดศึกปะทะกันหลายครั้ง แต่ไม่อาจเอาชนะกันได้ การศึกในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจากตำนานวีรกรรมอันลือลั่นของขุนศึกตระกูลหยาง

ปี 990 ดินแดนทางภาคตะวันตก (มณฑลซ่านซีในปัจจุบัน) เกิดอาณาจักรใหม่สถาปนาขึ้นในนาม ซีเซี่ย โดย หลี่จี้เชียน(963 – 1004) ** ผูกมิตรกับราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์ซ่งต้องเผชิญกับการคุกคามจากศึกทั้งสองด้าน เมื่อถึงปี 1004 หลังจากสู้ศึกครั้งแล้วครั้งเล่า ราชวงศ์ซ่งเหนือกับเหลียวก็บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ฉานหยวน(ปัจจุบันคือเมืองผูหยางมณฑลเหอหนัน) โดยซ่งเหนือยินยอมจัดส่งบรรณาการให้เหลียวทุกปี เพื่อแลกกับข้อตกลงไม่ให้เหลียวยกกองกำลังมาปล้นสะดมราษฎรแถบชายแดนภาคเหนืออีก ขณะที่ซ่งเหนือก็ต้องยอมละทิ้งความต้องการที่จะช่วงชิงเมืองปักกิ่งและต้าถงที่เคยเสียไปกลับคืนมา ข้อตกลงดังกล่าวแลกมาซึ่งความสงบสุขของดินแดนภาคเหนือเป็นเวลาร้อยกว่าปี ทั้งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการผสมผสานวัฒนธรรมชนเผ่ากับดินแดนภาคกลางในเวลาต่อมา

ปี 1009 หลังจากเซียวไทเฮาปล่อยวางภารกิจทั้งมวล โดยส่งมอบอำนาจให้กับเหลียวเซิ่งจง จากนั้นไม่นานก็สิ้น เหลียวเซิ่งจงปกครองเหลียวต่อมาถึงปี 1031 สิ้น ถือเป็นยุคที่ราชวงศ์เหลียวเจริญรุ่งเรืองถึงสูงสุด สภาพสังคมเจริญรอยตามอารยธรรมของชาวฮั่นอย่างสมบูรณ์ รัชสมัยเหลียวซิ่งจงและเหลียวเต้าจงในยุคต่อมา เกิดการแย่งชิงอำนาจในราชสำนักเหลียวเป็นระลอก

เมื่อถึงปี 1075 ภายหลังการก่อการของเยลี่ว์อี่ซินกับจางเสี้ยวเจี๋ยรัชทายาทถูกสังหาร เกิดการกวาดล้างทางการเมืองขนานใหญ่ บ้านเมืองอยู่ในสภาพคลอนแคลนอย่างหนัก กลุ่มชนเผ่าทางเหนือพากันลุกฮือขึ้นก่อหวอดเป็นระยะ ทรัพย์สินในท้องพระคลังและกำลังทหารสูญสิ้นไปกับการปราบปรามกลุ่มกบฏ

จวบจนปี 1101 เหลียวเต้าจงล้มป่วยเสียชีวิต เทียนจั้วตี้ ขึ้นครองราชย์ต่อมา ขณะที่กองกำลังของชนเผ่าหนี่ว์เจินที่อยู่ตามแถบชายแดนเหลียว ภายใต้การนำของหวันเหยียนอากู่ต่ามีกำลังแข็งกล้าขึ้น เกิดการลุกฮือขึ้นที่แดนป๋อไห่ทางตะวันออกของเหลียว หลังจากเอาชนะกองทัพเหลียวที่ส่งมาปราบลงได้แล้ว อากู่ต่าก็สถาปนาแคว้นจินหรือกิมขึ้นในปี 1115 จากนั้นบุกยึดแดนเหลียวตงฝั่งตะวันออก และเมืองสำคัญของเหลียวจนหมดสิ้น (รวมทั้งปักกิ่งและต้าถง) เทียนจั้วตี้ได้แต่หลบนีไปทางตะวันตก แต่ถูกจับได้ในที่สุด ราชวงศ์เหลียวล่มสลาย
Silph
[ 24-03-2007 - 23:37:28 ]







อาณาจักรจิน (ค.ศ.1115 – ค.ศ.1234) เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับราชวงศ์ซ่งใต้ (ช่วงนั้น จีนแบ่งได้เป็น 3 อาณาจักรใหญ่ๆ คือ จิน (บรรพบุรุษของชาวแมนจู) อยู่ตรงกลาง, มองโกล (อยู่ตอนเหนือ) และซ่งใต้ (อยู่ตอนใต้สมชื่อล่ะครับ) นิยายเรื่องดังในช่วงเวลานี้ ได้แก่ เรื่องมังกรหยกภาค 1 และภาค 2

อาณาจักรจินสร้างขึ้นโดยชนเผ่าหนี่ว์เจิน บรรพบุรุษของชาวแมนจู มีหวันเหยียน อากู๋ต่า หรือชื่อที่รู้จักกันว่า ‘จินไท่จู่’ ผู้ครองอาณาจักรคนแรก เริ่มแรกสร้างเมืองหลวงอยู่ที่ฮุ่ยหนิง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอไป๋เฉิง ทางตอนใต้ของเมืองอาเฉิง ในมณฑลเฮยหลงเจียง ) ต่อมาย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองเยียนจิง (ชื่อเดิมของปักกิ่ง) และย้ายเมืองหลวงอีกครั้งมาที่ เ+++ยนจิง (ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิงในมณฑลเหอหนัน)

นานมาแล้วบรรพบุรุษของชนเผ่าหนี่ว์เจินอาศัยอยู่อาณาบริเวณเทือกเขาฉางไป๋ซันและลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียง เรื่องราวของชนเผ่าหนี่ว์เจินยังไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์จนกระทั่งในสมัยห้าราชวงศ์ที่กล่าวว่า เป็นชนเผ่าที่อยู่ในการปกครองของชนเผ่าชี่ตัน แห่งอาณาจักรเหลียว

ปี ค.ศ.1114 อากู๋ต่า หัวหน้าเผ่าหนี่ว์เจินนำกำลังเข้าต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากพวกชี่ตันที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ที่ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำลาหลินเหอ เขตชายแดนมณฑลเฮยหลงเจียงติดกับจี๋หลิน หลังชัยชนะเหนือพวกชี่ตันสามารถล้มราชวงศ์เหลียวได้แล้ว อากู๋ต่าก็รวบรวมชนเผ่าหนี่ว์เจินที่แยกเป็นกลุ่มๆทั้งหลายเข้าเป็นปึกแผ่นและสร้างต้าจิน (แปลว่า อาณาจักรทอง) ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในปีถัดมา แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์นามว่า ‘ไท่จู่’ ตั้งแต่นั้น อาณาจักรจินของชนเผ่าหนี่ว์เจินก็เจริญเติบโตเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความยิ่งใหญ่

อาณาจักรจินที่เข้มแข็งโดยการปกครองของกษัตริย์ ไท่จู่อากู๋ต่าเริ่มแผ่อำนาจและขยายอิทธิพลไปยังอาณาจักรต่างๆ โดยเข้ารุกรานเมืองสำคัญๆของอาณาจักรเหลียวที่ขณะนั้นกำลังอ่อนแอ ได้แก่ เมือง ตงจิง (ปัจจุบันคือ เหลียวหยังในมณฑลเหลียวหนิง) ซ่างจิง (อยู่ในมองโกเลียใน) จงจิง (เมืองในมองโกเลียใน) ซีจิง (ต้าถงในมณฑลซันซี) หนันจิง (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) เมื่อเมืองทั้ง 5 แตก ราชวงศ์เหลียวก็ถึงกาลอวสาน หลังจากนั้นอาณาจักรจินที่กล้าแข็งได้ค่อยๆรุกรานต่อไปยังอาณาจักรซ่งเหนือ จนในที่สุดกองทัพแห่งอาณาจักรจินก็ล้มล้างอาณาจักรซ่งเหนือได้สำเร็จในปีค.ศ.1127 ต่อมาก็ยังมีการรบพุ่งกับกองทัพแห่งอาณาจักรซ่งใต้อยู่หลายครั้ง แต่กำลังและอำนาจของทั้งสองฝ่ายก็ยังสูสีกัน

ในขณะที่อาณาจักรจินและซ่งใต้มีอิทธิพลเคียงบ่าเคียงไหล่กันได้มีการเจรจาเพื่อสันติภาพ ด้านหนึ่งอาณาจักรจินก็ยึดซีเซี่ยมาเป็นรัฐสำคัญใต้การปกครองของตน อย่างไรก็ตาม การก่อตัวขึ้นของกองทัพมองโกลอดีตศัตรูเก่าก็เริ่มเป็นภัยคุกคามของอาณาจักรจินในเวลาต่อมา

มีผู้วิเคราะห์ว่า อาณาจักรจินที่ตั้งอยู่ในวงล้อมของอาณาจักรมองโกลทางเหนือ ซีเซี่ยทางตะวันตก และซ่งใต้ทางตอนใต้ หนทางที่น่าจะเป็นคือ อาณาจักรจินจำต้องดำเนินยุทธศาสตร์เป็นมิตรกับซีเซี่ยและซ่งใต้เพื่อต่อต้านมองโกล

กล่าวคือ การมีมิตรที่แน่นแฟ้นเช่นซ่งใต้ทำให้เป็นหลักประกันความปลอดภัยจากดินแดนทางใต้ และการเป็นพันธมิตรกับซีเซี่ยก็เท่ากับช่วยสกัดกั้นการเดินทัพลงใต้ของพวกมองโกล เช่นนี้แล้วอาณาจักรจินก็ไม่จำเป็นต้องพะวงต่อศึกด้านอื่น สามารถมุ่งความสนใจไปที่การเผชิญหน้ากับพวกมองโกลฝ่ายเดียว

ทว่า อาณาจักรจินผู้มั่งคั่งและโอหังกลับโดดเดี่ยวตัวเอง ละทิ้งซีเซี่ย และมาทำศึกกับอาณาจักรซ่งใต้พร้อมๆกับงัดข้อกับพวกมองโกลในเวลาเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างศัตรู 3 ด้านอย่างช่วยไม่ได้ ภายหลังเมื่อมองโกลบุกเข้าตีเมืองซีเซี่ย ซีเซี่ยได้ขอความช่วยเหลือไปยังอาณาจักรจินแต่กลับได้รับการปฏิเสธ ซีเซี่ยจึงจำต้องยอมศิโรราบให้กับพวกมองโกล เมื่อทั้ง 2 อาณาจักรรวมกำลังกันเข้าก็เดินทางมาบุกอาณาจักรจิน นั่นก็ทำให้ผู้ครองอาณาจักรจินถูกต้อนจนมุมเสียแล้ว

เพื่อผ่องถ่ายความวุ่นวายจากการถูกโจมตีจากทางตะวันตกและภาคเหนือ อาณาจักรจินได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เ+++ยนจิง และพยายามที่จะเอาชนะศึกทางใต้เพื่อชดเชยการสูญเสียจากศึกทางเหนือ ในการนี้ทำให้อาณาจักรจินได้เปิดช่องให้กับพวกมองโกลเข้าพิชิตชายแดนทางเหนือและเริ่มโจมตีอาณาจักรซ่งใต้ อย่างไรก็ตามผลสำเร็จแทบไม่ได้ให้อะไรเลย การโอบล้อมจากทัพมองโกลและซ่งใต้ต่อมาค่อยๆทำให้อาณาจักรจินเสื่อมอำนาจลงและปราชัยให้กับข้าศึกในที่สุด

อาณาจักรจินล่มสลายในปีค.ศ.1234 ในปีที่ 2 แห่งรัชกาลเทียนซิง โดยการรุกรานของกองทัพพันธมิตรแห่งอาณาจักรมองโกลและซ่งใต้
Silph
[ 24-03-2007 - 23:42:07 ]







จิน กับ ซ่งใต้ นิยายดังช่วงนี้เป็นโศกนาฏกรรมของวีรบุรุษ งักฮุย ที่ต้องเสียชีวิต เพราะการเมืองระหว่างจิน กับ ซ่งใต้ ซึ่งต่อมาเป็นผลให้มองโกลเข้มแข็งขึ้นจนรวบรวมจีนได้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

ประวัติราชวงศ์ จิน เกิดจากชนเผ่า หนิ่นจิน (หนึ่งจิง) หรือที่นักประวัติศาสตร์สากลรู้จักกันในนามว่า ชนชาติ ยุรเชน เมื่อสมัยยุค อู่ต้าย (โหงวต่อ) ค.ศ. 907 - ค.ศ. 960 ชนเผ่า หนิ่นจิน แบ่งแยกกันออกเป็น 2 พวก พวกที่อยู่ทางตอนใต้ของภาคอิสานของประเทศจีน เรียกว่าพวก ซู่หนิ่นจิน (เส็กหนึ่งจิง) อยู่ในความปกครองของราชวงศ์ เหลียว ส่วนอีกพวกหนึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไปอีกทางภาคอิสานของจีน เรียกว่า เซินหนิ่นจิน (แชหนึ่งจิง) พวกนี้เป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของใคร ชนเผ่านี้ มีเผ่าที่เข้มเข็งที่สุดคือ เผ่า หยวนเหยียน (อ่วงง้วง) นำโดย หยวนเหยียนอากู้ต้า (อ่วงง้วงอากุ๊กต่า) อากู้ต้า ได้นำกองกำลังมาล้มล้างราชวงศ์ เหลียว ดังนั้น ในศักราช เจินเหอ (เจ่งฮั้ว) ปีที่ 5 ในรัชสมัยของพระเจ้า ซ่งเฟยจง ค.ศ. 1115 เมื่อทางพระราชสำนัก ซ่ง เห็นราชวงศ์เหลียวอ่อนแอลง จึ่งได้ส่งราชทูตไปทำสัมพันธ์ไมตรีกับราชวงศ์ จิน เมื่อศักราชเจิ้นเหอปีที่ 7 ในรัชสมัยของพระเจ้า ซ่งเฟยจง พ.ศ. 1117 ได้ตกลงทำสัญญากันว่า ราชวงศ์ ซ่ง และราชวงศ์ จิน จะร่วมมือกันโจมตีราชอาณาจักร เหลียว โดยราชวงศ์ จิน จะโจมตีจากทางทิศเหนือของกำแพงเมืองจีนลงมา ณ นครหลวงของราชอาณาจักร เหลียว นคร จงจิน หรือ ต้าติ้น (ไต่เตี่ย) ส่วนราชวงศ์ ซ่ง โจมตีจากทางใต้ขึ้นไป ณ นคร เยี่ยนจิน (อี่เกีย) ซึ่งก็คือกรุ ปักกิ่ง ในปัจจุบัน ที่ราชอาณาจักร เหลียว ครอบครองอยู่ เมื่อราชวงศ์ เหลียว ล่มจมลง ราชวงศ์ ซ่ง ก็ได้หัวเมืองตามชายแดนกลับคืนมาหลายเมือง แต่ราชวงศ์ จิน ได้ครอบครองราชอาณาจัก เหลียว ทั้งหมด นอกจากนี้ ราชบรรณาการที่ราชวงศ์ ซ่ง เคยส่งส่วยให้กับราชวงศ์ เหลียว กลับต้องมาส่งส่วยให้แก่ราชวงศ์ จิน แทน แต่ราชวงศ์ จิน ยังหาได้พอใจกับผลที่ได้รับเช่นนี้ไม่ จึ่งได้มุ่งเข็มลงมาทางใต้ เพื่อรังควาญราชวงศ์ ซ่ง ซึ่งกำลังอ่อนแอ ดังนั้น ในศักราช ซวนเหอ (ซวงฮั้ว) ปีที่ 7 ในรัชสมัยของพระเจ้า ซ่งเฟยจง ค.ศ. 1125 ราชวงศ์ จิน ได้ใช้ขุนศึกของราชวงศ์ ซ่ง ที่สวามิภักดิ์กับราชวงศ์ จิน คือ จางเค่อ (เตียขัก) ยกทัพแบ่งแยกกันเป็น 2 ทาง มาโจมตีราชอาณาจัก ซ่ง เมื่อกองทัพของราชวงศ์ จิน ยกทัพลงมาใกล้นคร เ+++ยนจิน (เบี่ยงเกีย..หรือนคร ไคฟง) อย่างรวดเร็ว พระเจ้า ซ่งเฟยจง ทรงตกพระทัยทรงจับแขนของขุนนาง ไฉซิว (ฉั่วฮิว) เขย่า ทรงตรัสว่า
“ข้านึกไม่ถึงว่า ชาว จิน จะยกทัพรุกลงมาอย่างรวดเร็วเช่นนี้”

แล้วพระองค์ก็ทรงตกพระทัยสิ้นสติสมฤดีอยู่บนพระแท่นบรรทม เมื่อทรงฟื้นคืนพระสติขึ้นมา ก็ทรงมีพระราชโองการลาออกจากตำแหน่ง ฮ่องเต้ ทรงแต่งตั้งพระราชโอรส จ้าวหวน (เตียวฮ้วง) ขึ้นเป็น ฮ่องเต้ แทนพระองค์ ทรงพระนามว่าพระเจ้า ซ่งจินจง (ซ้องคิมจง) บริหารประเทศ ส่วนพระองค์เองทรงไม่รับรู้เรื่องการศึกการเมืองทั้งปวง ทรงแต่งตั้งพระองค์เองเป็นพระเจ้า ไท่ซ่านหวาง (ไท้เซี่ยงด้วง) ทรงเสพสุขไปวัน ๆ
ส่วนพระเจ้า ซ่งจินจง แม้นมีพระชนมายุได้ 25 พรรษา แต่พระองค์ทรงถูกเลี้ยงดูเจริญพระวัยแต่ในวัง ทรงมิประสีประสาในการบริหารบ้านเมือง พระองค์ทรงอาศัยขุนนางอำมาตย์เก่าแก่ เช่น ไฉจิน (ฉั่วเกีย), ถงก่วน (ท่งก้วง), เหนียนซือ (เนี่ยซือ), และ หลี่ปันหยาน (ลี่ปังหงีง), ซึ่งล้วนแต่เป็นขุนนางที่รักตัวกลัวตาย อาศัยการเจรจาสงบศึก ยอมเชือดเฉือนแผ่นดิน ซ่ง ให้แก่ราชวงศ์ จิน ไป วัน ๆ แต่กองทัพทหารราชวงศ์ จิน หาได้หยุดยั้งไม่ จนกระทั่งเมื่อศักราช ชินคัน (เช็งคัง) ปีที่ 2 ในรัชสมัยของพระเจ้า ซ่งจินจง พ.ศ. 1127 กองทัพของราชวงศ์ จิน นำโดยแม่ทัพ ซานฮาน ก็สามารถล้อมนคร เ+++ยนจิน เมืองหลวงของราชวงศ์ ซ่ง ไว้ได้ ราชวงศ์ ซ่ง ยอมแพ้ แม่ทัพ ซานฮาน จึงได้ควบคุมตัวพระเจ้า ซ่งเฟยจง, พระเจ้า ซ่งจินจง, พระมเหสี, พระสนมนางใน, เจ้าชาย, เจ้าหญิง, และเหล่าพระประยูรญาติ, ประมาณ 3,000 กว่าคน กวาดต้อนไปทางเหนือ ไปเป็นข้าทาสบาทบริจาริกาของ ฮ่องเต้ และขุนศึกของราชวงศ์ จิน เพราะฉะนั้น ราชวงศ์ ซ่ง ที่ถูกสถาปนาโดยพระเจ้า ซ่งไท่จู่ (ซ้องไท้โจ้ว) จ้าวคันย่าน (เตียวคังเอี๊ยง) จึงถึงแก่กาลอวสาน มีอายุราชวงศ์ได้ 167 ปี ค.ศ. 960 - ค.ศ. 1127 มี ฮ่องเต้ รวม 9 พระองค์ นักประวัติศาสตร์จีน เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า กรณีภัยพิบัติ ชินคัน ส่วนทางด้านทิศใต้ของประเทศต่ำลงมา ยังคงอุดมสมบูรณ์ บรรดาเหล่าขุนนางอำมาตย์ซึ่งสามารถหลบหนีจากการกวาดต้อนจับคร่ากุมของทหารราชวงศ์ จิน หนีลงมาทางใต้ได้ ต่างพากันยกย่องสถาปนาพระโอรสองค์ที่ 9 ของพระเจ้า ซ่งเฟยจง พระอนุชาต่างมารดาของพระเจ้า ซ่งจินจง คือเจ้า คันหวาง (คังอ๊วง) จ้าวเกา (เตียวเกา) เป็น ฮ่องเต้ ของราชวงศ์ ซ่ง สืบต่อไป ทรงพระนามว่าพระเจ้า ซ่งเกาจง (ซ้องเกาจง) แต่พระเจ้า ซ่งเกาจง แทนที่จะทำนุบำรุงกองทัพเพื่อยกทัพทำศึกกับราชวงศ์ จิน กู้คืนประเทศกลับมา พระองค์กลับทรงห่วงใยในตำแหน่ง ฮ่องเต้ ของพระองค์ เกรงว่า เมื่อช่วยพระบิดาและพระเชษฐากลับมาแล้ว พระองค์ก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่ง ฮ่องเต้ ต่อไป พระองค์ทรงมิยินยอมทำศึกกับราชวงศ์ จิน แก้แค้นให้แก่ประเทศชาติ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็ทรงมีขุนศึกนายทัพที่มีความสามารถ ยกทัพไปโจมตีราชวงศ์ จิน จนเกือบสยบราชวงศ์ จิน ได้อยู่ ดั่งเช่น ขุนพล เย่ว์เฟย (งักฮุย), ขุนพล หันซื่จง (ฮั่งสี่ตง), พระองค์กลับทรงวางแผนเจรจาสันติภาพกับราชวงศ์ จิน และทรงวางแผนกำจัดขุนพลงักฮุย จนกระทั่งเป็นเหตุให้ 2 ฮ่องเต้, และ ฮองเฮา ต้องทรงทิ้งพระชนม์ชีพอยู่ในดินแดนของศัตรู นักประวัติศาสตร์จีน จึ่งได้เรียกราชวงศ์ใหม่ของพระเจ้า ซ่งเกาจง ว่า ราชวงศ์ หนานซ่ง (น่ำซอ้ง) ซึ่งแปลว่า ราชวงศ์ ซ่ง ฝ่ายใต้

หลังจากนั้นจินกับซ่งใต้ก็ทำสัญญาสงบศึกกับราชวงศ์ จิน ด้วยนโยบายที่เห็นแก่ตัวอย่างร้ายแรง พระองค์ทรงยอมลดฐานะของราชวงศ์ ซ่ง เปรียบเสมือนเมืองขึ้นของราชวงศ์ จิน ทรงยอมลดศักศรีของพระองค์ดั่งเช่นขุนนางของราชวงศ์ จิน ทรงยอมเชือดเฉือนดินแดนของราชวงศ์ ซ่ง หลายแห่ง กับทรงยินยอมเสียเงินทองและผ้าไหมคิดเป็นมูลค่า 250,000 ตำลึง เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่ราชวงศ์ จิน นอกจากนี้ ยังทรงนำเอาชีวิตของขุนพล เย่ว์เฟย (งักฮุย) ซึ่งจงรักภัคดีต่อราชวงศ์ ซ่ง เป็นเครื่องเซ่นสังเวย เพื่อแลกกับสนธิสัญญาเลือด เป็นกระดาษสัญญาเพียงใบเดียว จนสุดท้ายมองโกลกล้าแข็งจีงปราบทั่งจินและซ่ง สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นต่อไป
Silph
[ 24-03-2007 - 23:43:53 ]







ราชวงศ์ ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) ยังคงเป็นเรื่องมังกรหยก ภาค 1 และภาค 2 อยู่นะครับ รวมถึงเรื่องราวความเก่งกล้าของขุนพลงักฮุยด้วย

เมื่อราชวงศ์ ซ่งเหนือ ถูกโค่นทำลายลงโดยราชวงศ์ จิน ในรัชสมัยของพระเจ้า ซ่งจินจง ค.ศ. 1127 นั้น พระราชโอรสองค์ที่ 9 ของ ซ่งเฟยจง หรือพระอนุชาต่างมารดาของ ซ่งจินจง พร้อมด้วยเหล่าเสนนาอำมาตย์ของราชวงศ์ เป่ยซ่ง(ซ่งเหนือ) จำนวนหนึ่ง ได้เดินทางหลบหนีภัยสงครามอพยพลงทางใต้ จึ่งได้พร้อมใจกันสถาปนาเจ้า คันหวัง จ้าวโก้ว ขึ้นเป็น ฮ่องเต้ ทั้ง ๆ ที่ราชวงศ์ เป่ยซ่ง ยังมี ฮ่องเต้ ซึ่งทรงถูกจับตัวไปเป็นเชลย ณ แผ่นดิน จิน อีก สองพระองค์ ซึ่งถูกกักขัง ณ เมือง อิ้นเทียนฝู่ ปัจจุบันคือเมือง ซานคิว ในมณฑล เหอเป่ย (เป็นรัฐบาลยุคไหนก็ต้องทำอย่างนี้ เพราะแม้เจ้านายจะสำคัญ แต่ชาติสำคัญที่สุด หากปล่อยให้ถูกขู่กรรโชกเรื่อยๆคงไม่ไหว) ทรงพระนามว่า ซ่งเกาจง

ในสมัย ซ่งเกาจง ค.ศ.1138 จึงย้ายนครหลวงมา ณ นคร หนินอัน แล้วสถาปนาราชวงศ์ หนันซ่ง (น่ำซ้อง หรือซ่งใต้)

ค.ศ. 1129 พระอนุชาของ จินไท่จู่ หยวนเหยียนวู่ซู่ เป็นแม่ทัพ ยกกองทัพ จิน รุรานลงมาทางใต้อีก (เริ่มเรื่องมังกรหยก) พระเจ้า ซ่งเกาจง ก็ทรงหลบหนีลงไปทางใต้อีกเช่นเคย แต่ ณ ดินแดนทางตอนเหนือ ณ ตำบล หวงเทียนทง กองทัพของราชวงศ์ จิน ได้ปะทะกับกองทัพของขุนพล หันซื่จง แห่งราชวงศ์ ซ่ง ทั้ง 2 ฝ่ายได้ต่อสู้รบพุ่งกันเป็นสามารถ หันซื่อจง สามารถตีกองทัพ จิน แตกพ่ายถอยไปได้ ดังนั้น จิน จึงมิอาจดูแคลนฝีมือกองทัพของราชวงศ์ ซ่ง ยกทัพข้ามลำน้ำมารุกรานราชวงศ์ ซ่ง อย่างย่ามใจได้

นอกจากยุทธการ ณ สมรภูมิ หวงเทียนทง แล้ว กองทัพราชวงศ์ ซ่ง ยังได้ต้านรับกองทัพ จิน ซึ่งนำโดยขุนพล อู๋หลิน (โง่วลิ้ง), และขุนพล อู๋ไก้ (โง่วไก่), ณ มณฑล ซ่านซี และขุนพล เย่ว์เฟย (งักฮุย), ณ เมือง ซ่านเหยาน (เซียงเอี๊ยง) ทหารราชวงศ์ ซ่ง ขัดขวางการรุกรานของกองทัพราชวงศ์ จิน อย่างได้ผล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค.ศ. 1140 ทัพจินนำโดย หยวนเหยียนวู่ซู่ ได้ยกกองทัพแบ่งกำลังออกเป็น 3 ทางบุกลงใต้อีก ขุนพล เยว์เฟย ได้นำกองกำลังเข้าต่อต้าน และได้ชัยทวงคืนดินแดนกลับคืนมาหลายแห่ง และบุกลึกขึ้นเหนือ จนอาณาจักรจินสั่นสะเทือน

แต่ซ่งเกาจง เกรงว่า ขุนพล เยว์เฟย จะมีกองกำลังอำนาจมากเกินไป และหาก สามารถพิชิตจินได้สำเร็จ ซ่งเฟยจง และซ่งจินจง (2กษัตริย์ที่ถูกจับ) จะสามารถกลับมาทวงบัลลังค์คืนได้

ดังนั้น จึงร่วมมือกับมหาอำมาตย์ ฉินไกว้ มีพระราชโองการคำสั่งป้ายทอง 12 อัน เรียกขุนพล เย่ว์เฟย ถอยทัพกลับคืนมา และเมื่อขุนพล เย่ว์เฟย กลับมาเข้าเฝ้า จึงถูกประหารพร้อมบุตรชาย เย่ว์หยิน (งักฮุ้ง) และนายทัพ จางเสี้ยน (เตียเ+++่ยง) ด้วยข้อหา ม่อซูโหย่ว ซึ่งแปลว่าไม่สมควรมี (กรรม superกรรม)

ข่าวการถอยทัพจากแนวหน้าที่จูเซียนเตี้ยน ของขุนพล เย่ว์เฟย ทำให้ หยวนเหยียนวู่ซู่ เร่งกลองศึกบุกลงมาทางใต้ ยึดเมืองและดินแดนต่าง ๆ กลับคืนมาทั้งหมด

ซ่งเกาจง รีบเจรจาสงบศึกกับจิน ทันที ค.ศ. 1141 ราชวงศ์ จิน ได้ส่งทูตมาเจรจาทำสัญญาสันติภาพ ระบุในสัญญาว่า เขตแดนระหว่างราชวงศ์ จิน และราชวงศ์ หนันซ่ง ทางทิศตะวันออก ให้ถือเอาลำน้ำ ฮั่นสุ่ย (ฮ่วยจุ้ย) เป็นเส้นแบ่งพรมแดน ส่วนทางด้านทิศตะวันตก ให้ถือเอาด่าน ต้าซานกวน (ไต่ซั๊วกวง) ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง เป่าจี ในมณฑล ซ่านซี ให้เทียบฐานะของจิน เป็นเจ้านาย หนันซ่ง เป็นขุนนาง( ประเทศราชนั่นเอง) แต่ละปี หนันซ่ง ต้องถวายราชบรรณาการเป็นเงิน 250,000 ชั่ง แพรไหม 250,000 พับ นักประวัติศาสตร์จีน เรียกว่า สัญญาสันติภาพ เจ้าซิ่น
Silph
[ 24-03-2007 - 23:49:22 ]







ราชวงศ์หยวน ( ค.ศ.1271-1368) นิยายดังของช่วงนี้เป็นเรื่องมังกรหยกภาค 2 (ช่วงหลังที่ก๊วยเซียงโตเป็นสาวแล้วแอบมีใจให้เอี้ยก้วย (แต่สุดท้ายก็อกหัก น่าสงสาร) และเอี้ยก้วยได้พบกับเซียวเล่งนึ่งอีกครั้ง) รวมถึงเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของเจงกิสข่าน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก ตลอดจนกุบไลข่านผู้ขยายอาณาเขตของจีนไปได้กว้างไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีน

ปี 1206 เจิงจื่อซื่อฮั่น (เจงกิสข่าน) ก่อตั้งราชวงศ์มงโกลขึ้น แล้วนำกองทัพกวาดพิชิตแถบเอเชียตะวันตกทั้งหมด ขยายอาณาเขตไกลถึงยุโรป

ปี 1234 หันมาร่วมมือกับราชวงศ์ซ่งใต้ โจมตีอาณาจักรจินสิ้นชาติ ต่อมา ปี 1271 ฮูปีเล่ หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม กุ๊บไลข่าน ผู้มีสักเป็นหลานเจงกิสข่าน ได้ก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้น และเริ่มเปิดศึกรวมแผ่นดินกับราชวงศ์ซ่งใต้

ปี 1279 กองทัพหยวนบุกเข้านครหลวงซ่งใต้สำเร็จ แผ่นดินจึงรวมเป็นหนึ่งภายใต้ชนต่างเผ่าเป็นครั้งแรก

หลังจากชนะศึก ฮูปีเล่ ใช้นโยบายผ่อนปรน โดยอนุญาตให้ชาวฮั่นรับราชการได้ ตลอดจนใช้ระบอบการปกครอง และจารีตอย่างชาวฮั่น แต่ทว่าเหล่าขุนศึกมงโกลต่างถือตนเป็นผู้ชนะจึงไม่เต็มใจยินยอมสักเท่าใด จนในที่สุดทางราชสำนักต้องแบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะจากสูงไปต่ำคือ ชาวมงโกล ชาวสื้อมู่(ชาวต่างชาติที่เจริญแล้ว) ชาวฮั่น และชนเผ่าทางตอนใต้ โดยวรรณะจะเป็นตัวกำหนดฐานะการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของบุคคลนั้นๆ อีกทั้งยังออกกฎห้ามชาวฮั่นห้ามร่วมพิธีล่าสัตว์ และห้ามมีอาวุธในครอบครอง รวมถึงห้ามประกอบพิธีทางศาสนา

จากความกดดันข้างต้น ประกอบกับหลังสิ้นเจงกิสข่านไป อำนาจมงโกลทางยุโรป และเอเชียตะวันตกเริ่มอ่อนแอลง ทำให้เกิดกบฏชาวฮั่นขึ้นทั่วแผ่นดิน

ปี 1368 ทัพกบฏชาวฮั่นซึ่งนำโดย จูหยวนจาง สามารถขับไล่มงโกลพ้นเขตแดนสำเร็จ จึงสถาปนาตนขึ้นเป็น หมิงไท่จง และก่อตั้งราชวงศ์หมิงขึ้นแทน ปิดฉากราชวงศ์หยวนซึ่งสืบเชื้อสายจากเจงกิสข่านผู้ยิ่งใหญ่ลง

กุบไลข่านโค่นราชวงศ์ซ้องลง แล้วเปิดศักราชชาวมองโกลครองประเทศจีน ตั้งกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวง (สมัยนั้นชื่อว่า เมืองต้าตู) ทรงตั้งความหวังจะเป็นกษัตริย์ที่ดี จึงปกครองอย่างสุขุมรอบคอบ เอาใจใส่ประชาชน จึงสามารถชนะใจชาวจีนได้ และเป็นฮ่องเต้มองโกลพระองค์เดียว ที่ชาวจีนยอมรับ (เดิมทีนั้น พวกมองโกลขึ้นชื่อลือชามากในเรื่องความโหด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากวิถีชีวิตเดิม ที่อยู่ในทุ่งหญ้า ทะเลทราย แถมยังเร่ร่อนไปเรื่อยๆ) นอกจากนี้ กุบไลข่านยังพยายามขยายดินแดนไปกว้างไกลมาก ถึงกับยกทัพเรือจะไปตีญี่ปุ่น แต่เรือถูกมรสุมจึงไม่สำเร็จ

กุบไลข่านสนใจทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรมมาก จึงส่งเสริมบทประพันธ์ต่างๆ ปรากฏว่า บทงิ้วในสมัยกุบไลข่านดีมาก จนไม่มีบทงิ้วสมัยใดเทียบได้ การติดต่อกับต่างประเทศ ก็เป็นไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นมาร์โคโปโล สมณทูตจากวาติกัน ก็ได้มาเยือนแดนจีนในยุคของกุบไลข่านนี่เอง

พอสิ้นยุคของกุบไลข่าน ก็ไม่มีกษัตริย์มองโกลองค์ใดเด่นเหมือนพระองค์ จึงได้มีการพยายามโค่นล้มราชวงศ์หยวนอยู่ตลอดเวลา ฮ่องเต้องค์ต่อๆ มาของราชวงศ์หยวน ส่วนใหญ่ครองราชย์ไม่นานนัก และได้ครองราชย์ โดยการแย่งชิงอำนาจกัน เนื่องจากมองโกลไม่มีกฎแน่นอน เกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์ จวบจนฮ่องเต้องค์สุดท้าย หยวนซุ่นตี้ ซึ่งครองราชย์นานกว่าองค์ก่อนๆ ในยุคนี้ มีความวุ่นวายมาก เกิดภัยพิบัติขึ้นหลายที่ เชื้อพระวงศ์กับขุนนาง ก็ร่วมกันข่มเหงชาวบ้าน จึงมีกบฏเกิดขึ้นทั่วไป

ครั้งนั้น มีชายผู้หนึ่งชื่อ จูหยวนจาง ตอนอายุได้ ๑๗ ปี ครอบครัวได้ตายหมดจากโรคระบาด จึงไปบวชที่วัดหวงเจี๋ย ต่อมา ไปเร่ร่อนต่ออีก ๓ ปี เนื่องจากเสบียงอาหารหมด แล้วจึงกลับมาที่วัดดังเดิม ครั้นชาวบ้านก่อกบฏขึ้น เขาก็เดินทางไปสมทบกับพวกกบฏ เริ่มนำทัพออกตีก๊กต่างๆ ในแผ่นดิน แล้วในที่สุดก็ได้ส่งแม่ทัพชื่อ สีต๋า ไปตีเมืองปักกิ่งได้สำเร็จ เป็นการโค่นล้มราชวงศ์หยวนลงได้ จากนั้น เขาก็ได้ตั้งราชวงศ์หมิงขึ้น ใช้เมืองนานกิงเป็นเมืองหลวง
Silph
[ 25-03-2007 - 00:08:47 ]







ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644)

นิยายดังในช่วงนี้ เป็นเรื่องมังกรหยกภาค 3 ซึ่งเป็นเรื่องราวช่วงปลายราชวงศ์หยวนจนถึงก่อนการสถาปนาราชวงศ์หมิงเล็กน้อย มังกรหยกภาค 3 เป็นเรื่องหลังจาก 2 ภาคแรกประมาณร้อยกว่าปี กระบี่อิงฟ้า ดาบฆ่ามังกรนั้นแท้จริงแล้ว ก๊วยเจ๋งกับอึ้งยังจัดสร้างขึ้น เพื่อซ่อนตำราพิชัยสงครามไว้ให้อนุชนรุ่นหลังไว้ใช้กู้ชาติกู้แผ่นดิน ส่วนสำนักง๊อไบ๊ที่มีบทบาทมากในภาคนี้ เป็นก๊วยเซียง ภูติบูรพาน้อยเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น (เธอออกบวช หลังจากผิดหวังจากความรัก) ในเรื่องมีการกล่าวถึงจูหยวนจาง (หมิงไท่จู่ฮ่องเต้) ด้วย โดยจูหยวนจางในมังกรหยกภาค 3 ยังเป็นเพียงหัวหน้าเล็กๆ ในพรรคของเตียบ่อกี้ เท่านั้นเอง (เป็นผู้วางอุบายในตอนจบของเรื่อง จนเตียบ่อกี้ต้องลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคไปในที่สุด)

หมิงไท่จู่ (จูหยวนจาง) ก่อตั้งนครหนานจิง(นานกิง) เป็นเมืองหลวง และได้ปฏิรูประบอบการเมือง การทหาร และทุกๆด้านเป็นแบบครบวงจร(อันนี้ไม่ค่อยเข้าใจ) อีกทั้งรวมอำนาจการเมือง การทหาร และตุลาการ เข้ามาอยู่ในมือทั้งสิ้น(อันนี้ก็ไม่เข้าใจ ก็อำนาจฮ่องเต้นี่เบ็ดเสร็จตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งแล้วนี่) ระบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางได้รับการพัฒนาถึงขีดสุด

ในช่วงต้นราชวงศ์นั้น หมิงไท่จู่ใช้นโยบายสงเคราะห์ประชาชน เนื่องจากได้ผ่านไฟสงครามมานานแล้ว เศรษฐกิจของประเทศได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และเจริญกว่าสมัยก่อนๆทุกสมัย ดังนั้นเมื่อรวมกับผลงานกู้ชาติฮั่นจากชนต่างเผ่า หมิงไท่จู่จึงได้รับการสดุดีให้สูงส่งเสมอ ฮั่นกวงอู่ตี้(เล่าสิ้วผู้กู้ราชวงศ์ฮั่น) และถังไท่จง(หลี่ซื่อหมิงผู้ปรีชา)

เมื่อหมิงไท่จู่สิ้น บุตรชาย จูหยวนเหวิน สืบทอดเป็น หมิงฮุ่ยตี้ ดำเนินนโยบายลดทอนอำนาจของบรรดาอ๋องต่างๆ อย่างเข้มงวด อ๋อง 5 องค์ถูกย้ายออกจากเมืองที่ประทับ บางองค์ถูกปลด บางองค์ต้องฆ่าตัวตาย เยี่ยนอ๋อง จูตี้(อนุชา จูหยวนจาง) เองก็ถูกเพ่งเล็งเนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการศึกในคราวก่อนๆ (หลานขึ้นต้องระแวงอาที่มีกำลังทหาร เป็นธรรมดา)

อนึ่งก่อนที่หมิงไท่จู่จะสิ้นได้สั่งห้ามอ๋องทั้งหลาย เข้ามาถวายบังคมพระศพเพราะเกรงจะก่อรัฐประหาร แต่เยี่ยนอ๋องไม่ยอม นำทหารเดินทางมาหนานจิง แต่มีราชโองการของจักรพรรดิองค์ใหม่(หมิงฮุ่นตี้) ส่งมาห้าม เยี่ยนอ๋องจึงจำเป็นต้องกลับไปที่เป่ยผิง(ปักกิ่ง)

หลังจากสะสมอาวุธและฝึกซ้อมทหารชำนาญแล้ว จึงตัดสินใจชิงลงมือยกทัพจากเป่ยผิงลงใต้เผชิญหน้ากับหลานชาย(ฮ่องเต้) โดยอ้างว่าเพื่อกำจัดเหล่าขุนนางกังฉินสอพลอที่อยู่รอบข้างองค์จักรพรรดิ

การต่อสู้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1399 นานถึง 3 ปี ในระยะแรกเยี่ยนอ๋องเป็นฝ่ายเสียเปรียบเนื่องจากฝ่ายหมิงฮุ่ยตี้มีกองทหารปืนไฟ ซึ่งมีอานุภาพอย่างมากในสมัยนั้น (นับๆดูนี่ จีนมีปืนไฟพร้อมๆฝรั่งเลยนะเนี่ย) ทำให้ต้องถอยทัพกลับไปทางเหนือ แต่ทหารของฮ่องเต้ซึ่งเป็นคนทางใต้ซึ่งส่งขึ้นไปไล่ตีกองทัพเยี่ยนอ๋องนั้นไม่คุ้นเคยกับอากาศหนาวทางภาคเหนือ จึงล้มป่วยเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก และยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้สูญเสียแม่ทัพคนสำคัญไปมากมาย

ค.ศ. 1402 จากความผิดพลาดของทัพหลวงในการไล่ตีเยี่ยนอ๋องในครั้งก่อน กองทัพของเยี่ยนอ๋องจึงยกลงมาอีกครั้ง และได้ชัยชนะโดยตลอด จนประชิดชานกรุงหนานจิง(นานกิง) สุดท้ายทัพหลวงไม่สามารถต้านทานได้อีกต่อไป เหล่าขุนนางต่างพากันมาสวามิภักดิ์เยี่ยนอ๋อง

ในที่สุดกองทัพเยี่ยนอ๋องสามารถเข้าเมืองได้ แต่ทว่าหมิงฮุ่ยตี้ได้วางเพลิงวังหลวงแล้วหนี (แต่ฮองเฮากับโอรส ถูกไฟครอกตาย...กรรม...ยิ่งกว่านั้นมีข่าวลือว่าหมิงฮุ่ยตี้หนีไปบวช โดยต่อมาอีก 39 ปี ในรัชสมัยหมิงอิงจง มีผู้พบพระภิกษุชรารูปหนึ่งที่มีคนจำได้ว่าคือหมิงฮุ่ยตี้ หมิงอิงจงจึงให้เชิญมาประทับที่กรุงเป่ยจิง หรือปักกิ่ง เมืองหลวงใหม่ ตลอดจนสิ้น)

หลังจากเสร็จศึกชิงบัลลังค์ เยี่ยนอ๋อง สถาปนาตนเป็น หมิงเฉิงจง(เฉิงจู่)หลังจากนั้นได้เริ่มประหารขุนนาง ที่ระแวงว่ายังจงรักภักดีต่อพระนัดดา(อดีตฮ่องเต้) ถึง 870 คน นอกจากนี้ยังดำเนินนโยบายลดทอนอำนาจอ๋องอื่นๆ อย่างเข้มงวด เช่น ห้ามมีกองทหารประจำเมืองให้มีได้แต่ทหารองครักษ์จำนวนหนึ่ง ห้ามอ๋องแต่ละเมืองติดต่อกันเองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ความต้องการแรกของหมิงเฉิงจง คือดำริย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เป่ยผิง(ปักกิ่ง) อันเป็นฐานที่มั่นเดิมของตนสมัยเป็นอ๋อง เนื่องจากต้องป้องการรุกรานของชนเผ่าทางเหนือ

ค.ศ. 1404 ให้อพยพราษฎรหลายแสนคนจาก เมืองหนานจิง มณฑลซานซี และมณฑลเจ้อเจียง แบ่งเป็น 5 สายเข้ามายังปักกิ่ง เพื่อหาแรงงานสร้างพระราชวังในเมืองหลวงแห่งใหม่ ซึ่งต่อมาก็คือ พระราชวังต้องห้ามในปัจจุบันนี้ การก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามนี้กินระยะเวลานานถึง 15 ปี หมิงเฉิงจงให้ความสำคัญกับการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้เป็นอย่างมาก โดยในปี ค.ศ. 1406 ได้มาตรวจตราการก่อสร้างด้วยตนเอง

ในปี ค.ศ. 1413 พระองค์จึงทรงย้ายจากหนานจิงมาประทับที่เป่ยจิง เป็นการถาวร แต่ไม่กี่เดือนหลังสร้างเสร็จก็มีฟ้าผ่าลงมาและเกิดเพลิงไหม้อาคารต่างๆ หลายหลัง ซ้ำยังเกิดแผ่นดินไหว ในปี ค.ศ. 1416 จนต้องซ่อมแซมกว่าจะสำเร็จก็นานถึง 4 ปี แต่หมิงเฉิงจงกลับมีโอกาสได้อยู่ในพระราชวังนี้ไม่เกิน 4 ปี เพราะต้องนำทัพออกไปรบกับพวกมงโกลที่หลงเหลืออยู่ อีกถึง 5 ครั้ง คือ ในปี ค.ศ. 1410, 1422 1423 และ 1424

ในปี ค.ศ. 1403 มีคำสั่งให้บัณฑิตกว่าสองพันคน พร้อมด้วยผู้อำนวยการใหญ่ 5 คน รองผู้อำนวยการอีก 20 คน จัดทำสารานุกรมรวบรวมความรู้ทางวิชาการสาขาต่างๆ ทั้งหมด ใช้เวลาจัดทำ 4 ปี เป็นหนังสือกว่า22,937 บรรพ มหาสารานุกรมชุดนี้มีต้นฉบับ 1 ชุดและสำเนาอีก 2 ชุดเก็บรักษาไว้แต่หายสาบสูญไปจนปัจจุบันเหลือเพียง 370 บรรพ(ไม่รู้1บรรพเท่ากับเท่าไหร่ ผู้รู้บอกด้วย)

ผลงานที่สำคัญอีกอย่างคือให้จัดสร้างกองเรือ “เป่าฉวน” ที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้นมีทั้งสิ้น 62 ลำ ลำที่ยาวที่สุดวัดได้ 140 เมตร กว้าง 60 เมตร แต่ละลำประกอบด้วย ทหาร นายแพทย์ ล่าม นายกองเรือคือ เจิ้งเหอ มหาขันที(กงกง)คนสนิทของตนที่เดินทางออกทะเลล่องไปทั่วโลก 7 ครั้งในรอบ 28 ปี (เป็นกระเทยที่ปรีชาที่สุดในยุคโบราณของจีน) ไปไกลถึง อินเดีย และอัฟฟริกา (เมื่อเร็วๆนี้เริ่มมีกระแสในหมู่นักประวัติศาสตร์ของทั้งจีน และตะวันตกว่า เจิ้งเหออาจเป็นผู้ค้นพบอเมริกาก่อนโคลัมบัสเกือบร้อยปี) นำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ รวมทั้งเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา (ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระอินทราชาที่1 หรือเจ้านครอินทร์ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ) และนำของหายากกลับมา

เจิ้งเหอนำกองทัพเรือจีนออกทะเลครั้งแรกเมื่อค.ศ. 1405 โดยออกเดินทางจากท่าเรือหลิวเจียก่าง มณฑลซูโจว หมิงเฉิงจู่สวรรคตขณะยกทัพกลับจากไปรบพวกมงโกลเมื่อ ค.ศ. 1424 พระศพถูกเชิญไปบรรจุที่สุสาน ฉานหลิง

หมิงเหยินจง จูเกาจื้อ โอรสหมิงเฉิงจู่ ขึ้นครองราชย์ต่อมา ด้วยความเลื่อมใสในลัทธิขงจื้อ(ลัทธิเต๋า)อย่างมาก ทำให้เห็นว่ากองเรือมหาสมบัติของบิดานี้เป็นเรื่องผิดศีลธรรม เป็นการเบียดเบียนชาติอื่น จึงให้ยกเลิกกองเรือของเจิ้งเหอเสีย(ขออธิบายนิดนึง กองเรือที่ว่านี้ก็คือแบบเดียวกับนโยบายล่าอาณานิคมที่ชาติตะวันตกมาเริ่มในยุคหลังจากนี้อีกนาน กล่าวคือใช้การค้านำหน้าหาสิ่งวิเศษที่ตนขาด หากชาติใดไม่ยอมก็ใช้เล่ห์เหลี่ยม และกำลังรบเข้าบดขยี้....ลองคิดดูเล่นๆว่าถ้าไม่ยกเลิก และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จีนจะเกรียงไกรแค่ไหน และไม่ทราบว่าภาษาสากลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะใช่ภาษาอังกฤษหรือเปล่า?! เพราะเท่าที่อ่านดูในสมัยนั้นกองเรือของเจิ้งเหอเป็นที่ครั่นคร้ามไปทั้ง7คาบสมุทร) และดำริที่จะย้ายเมืองหลวงกลับหนานจิง แต่เนื่องจากครองราชย์เพียงสิบเดือนก็สวรรคตไปก่อน แผนการต่างๆ จึงยุติไปโดยปริยาย พระศพถูกเชิญไปบรรจุที่สุสาน เสียนหลิง

จูจิเจิ้น ครองราชย์เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ทรงพระนามว่าหมิงอิงจง เนื่องจากยังเยาราชการต่างๆ จึงตกอยู่ในมือของหวางเจิน ขันทีที่เป็นพระพี่เลี้ยง(เวรอุตส่าห์ชมเมื่อกี้ ขันทีออกลายอีกแล้ว) นับวันอำนาจบารมีของหวางเจินก็เพิ่มพูนมากขึ้น มีขุนนางจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านหวางเจินก็ถูกจับกุม และกำจัดไป แม้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ยังต้องเรียกหวางเจินด้วยความนอบน้อมว่า วังฝู่ แปลว่า พ่อใหญ่(จึ๋ย...) เมื่อครองราชย์มาได้ 13 ปี

ใน ค.ศ. 1449 เหย่เซียนซึ่งเป็นข่านของเผ่าออยเร็ต ( มงโกลเผ่าหนึ่ง ) มีความเข้มแข็งขึ้น วันที่ 1 เดือน 7 ได้ยกทัพมาตีเมืองต้าถ่ง กองทัพหมิงไม่อาจต้านทานได้ต้องเสียแม่ทัพนายกองไปหลายคน ข่าวศึกมาถึงปักกิ่งขุนนางเกิดความหวาดวิตกมาก หวางเจินซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการทำศึกแต่อยากจะมีชื่อเสียงให้ปรากฏก็ยุยงให้หมิงอิงจงนำทัพยกไปรบกับเหย่เซียนด้วยพระองค์เอง ดังนั้นในวันที่ 16 เดือน 7 กองทัพหมิงที่มีพลกว่าหนึ่งแสนคนยกออกไปจากเมืองหลวงแต่ต้องเผชิญกับพายุฝนอยู่ที่ซวนฝู่ทหารล้มป่วยเป็นจำนวนมาก วันที่ 1 เดือน 8 กองทัพหมิงเดินทางไปถึงต้าถง แต่เมื่อทราบสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก หวางเจินไม่มีทางเลือกจึงให้ยกทัพกลับทันที(แล้วจะยกไปทามมาย)

วันที่ 3 เดือน 8 เมื่อถอนทัพมาถึงที่เมืองไหวไหล ขุนนางต่างมีความคิดสองแนวคือเข้าไปตั้งรับกองทัพมงโกลภายในเมืองกับรีบยกทัพกลับปักกิ่งไปให้เร็วที่สุด แต่หวางเจินเห็นว่าขบวนสัมภาระส่วนตัวยังมาไม่ถึงจึงให้ตั้งค่ายอยู่ที่นอกเมือง กองทัพมงโกลตามมาทันก็ตั้งค่ายล้อมอย่างแน่นหนาทำให้ทหารขาดเสบียงและน้ำดื่ม

วันที่ 15 เดือน 8 เหย่เซียนแกล้งแต่งคนมาเจรจาขอหย่าศึก หมิงอิงจงหลงเชื่อขณะที่กำลังถอนทัพ ทหารมงโกลก็บุกโจมตีทั้งสี่ทิศจนกองทัพหมิงพินาศ หวางเจินและแม่ทัพหลายคนตายในที่รบ อิงจงถูกจับไปเป็นตัวเชลย หยูเซียนรองเจ้ากรมกลาโหมเรียกระดมกองทัพหัวเมืองใกล้ๆ กรุงปักกิ่งเข้ามาต้านทานกองทัพมงโกลอย่างเข้มแข็งจนต้องถอยกลับออกไป

จากศึกติดพันกับมงโกลซึ่งทำให้จักพรรดิหมิงอิงจง ถูกจับเป็น ฮองไทเฮา(มารดา)จึงแต่งตั้งเฉิงอ๋อง(จูจู อนุชาหมิงอิงจง) เป็นผู้สำเร็จราชการ ค.ศ. 1450 จึงได้ยกขึ้นเป็นฮ่องเต้พระนามหมิงไท่จงรัชศกจิ่งไท่

เดือน10 ปีเดียวกัน กองทัพมงโกลยกมาถึงชานกรุงปักกิ่ง หยูเซียนเสนอให้ตั้งค่ายนอกเมืองรายไปตามประตูเมือง เหย่เซียน(แม่ทัพมงโกล) ทำอุบายว่าจะส่งตัวหมิงอิงจงกลับ ขอให้ขุนนางผู้ใหญ่ออกมารับแต่หมิงไท่จง รู้ทันให้ขุนนางชั้นผู้น้อยสองคนมาแทน

ต่อมา กองทัพมงโกลบุกตีค่ายต่างๆ แต่ถูกทหารหมิงต่อต้านจนพ่ายแพ้ไปหลายครั้งทำให้ทหารเสียกำลังใจ และเริ่มขาดเสบียง กอปรกับเห็นว่าราชวงศ์หมิงมีฮ่องเต้องค์ใหม่แล้วก็ไม่สามารถใช้หมิงอิงจงเป็นเครื่องต่อรองได้ จึงทำให้ต้องถอนทัพกลับไปเมื่อวันที่ 15 เดือน 10 (รบกันแป็ปเดียว)

หมิงอิงจงถูกปล่อยให้เป็นอิสระ หมิงไท่จงจึงสถาปนาให้เป็น ไท่ซ่างอ๋อง ( พระเจ้าหลวง..ไม่คืนตำแหน่งให้ ) และคุมตัวไว้ภายในวัง

ค.ศ. 1456 หมิงไท่จงสิ้น(น้องอายุสั้นกว่าพี่) ขันทีเฉาจื้อเสียนรวบรวมพลพรรคก่อรัฐประหาร เชิญหมิงอิงจงกลับมาครองราชย์อีกครั้ง (ว้าว...ขันทีกู้บัลลังค์)ครองราษฎร์นาน 8 ปี จึงสิ้น

ในรัชสมัยหมิงซือจง เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงทั่วแผ่นดิน โดยเหล่าขุนนางท้องถิ่นยึดที่ดินชาวบ้าน ราชสำนักเพิ่มการเก็บภาษีเบ็ดเตล็ด แม้แต่ในกองทัพเองยังมีการยักยอกเสบียง และเบี้ยหวัด ความไม่พอใจของทหาร และประชาชนต่อราชวงศ์หมิงก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายขาดลง เหล่าราษฎรและทหารรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยก่อจลาจลในหลายพื้นที่ กินเวลาหลายปี

เดือนเมษายน ค.ศ.1644 ในที่สุดก็เกิดการรวมตัวกันก่อจลาจลครั้งใหญ่ ซึ่งนำโดย หลี่จื้อเฉิง เหล่าทหารหลวงเองก็ไม่เป็นใจรบ จึงทำให้กองกำลังหลี่จื้อเฉิงเข้ายึดครองกรุงปักกิ่ง ได้อย่างง่ายดาย จนทำให้ หมิงซือจง ต้องผูกพระศอสิ้นลงที่ต้นไม้บนเนินเขาที่มองเห็นพระราชวังต้องห้ามได้ชัด ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์หมิง

Silph
[ 25-03-2007 - 00:14:11 ]







ราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการหยิบมาทำนิยาย / ภาพยนตร์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหวงเฟยหง สงครามฝิ่น ซูสีไทเฮา The last Emperor รวมถึงภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ตัวละครไว้ผมเปียทั้งหมด

ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงเกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพ ชาวแมนจูถือโอกาสรวบรวมกำลังพล โดยผู้นำตระกูลอ้ายซินเจวี๋ยโหล และเข้าบุกยึดกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นราชธานีของราชวงศ์หมิง ได้ใน ค.ศ. 1644 และสถาปนาอาณาจักรต้าชิง

ชาวแมนจูเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนซึ่งสืบเชื้อสายจากชาวจิน รัฐแมนจูสถาปนาโดย นูรฮาชี โดยเริ่มแรกเนื่องจากแมนจูยังไม่มีกำลังเข้มแข็งนัก นูรฮาชีจึงยอมรับฐานะ “ขุนนางของราชวงศ์หมิง” (ประเทศราช) ครองที่ดินทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมณฑลแมนจูเรียในปัจจุบัน

ค.ศ. 1609 นูรฮาชีตั้งตนเป็น จักรพรรดิไท่จู และตั้งรัฐแมนจูขึ้นใน พระองค์เร่งสร้างเศรษฐกิจ แรงงาน และเทคโนโลยีของรัฐ โดยการจับชาวจีนที่อาศัยในแมนจูเรียมาเป็นทาส

ค.ศ. 1625 จักรพรรดิไท่จู สถาปนาเมืองเสิ่นหยางเป็นราชธานีและได้ปฏิรูปกองทัพ กล่าวคือการตั้งระบบกองธง ซึ่งเป็นระบบในการแบ่งสายการปกครองออกเป็นส่วนๆ มีประโยชน์ทั้งทางด้านการปกครองและการทหาร โดยแรกเริ่มนั้นมี 8 กองธง แต่ในปีต่อมา หลังการรบกับกองทัพราชวงศ์หมิงที่มาปราบปรามจักรพรรดิไท่จู รับบาดเจ็บ และสวรรคตในปีเดียวกัน

ผู้สืบบัลลังก์จากจักรพรรดิไท่จู คือ หวงไท่จี๋ หรือจักรพรรดิไท่จง ได้ตั้งกองธงแรกที่เป็นชาวฮั่นขึ้น และได้มีการนำระบบธรรมเนียมการปกครองแบบราชวงศ์หมิงมาปรับใช้บางส่วน แต่ก็ยังให้สิทธิพิเศษกับหน่วยปกครองของแมนจูเองโดยระบบโควต้า เมื่อลิงตันข่าน มหาข่านองค์สุดท้ายของมงโกลสิ้นลงระหว่างเดินทางไปทิเบตในค.ศ. 1634 บุตรของเขานาม เอเจยข่าน ได้สวามิภักดิ์ต่อกองทัพแมนจูและมอบตราประจำพระองค์ของอดีตจักรพรรดิหยวนให้จักรพรรดิไท่จง

ใน ค.ศ. 1636 จักรพรรดิไท่จงเปลี่ยนชื่อรัฐแมนจูเป็น อาณาจักรต้าชิง (แปลว่า บริสุทธิ์) โดยหมายที่จะขยายอาณาเขตไปนอกแมนจูเรีย พระองค์ชนะศึกต่อมองโกเลียใน และเกาหลี จึงสามารถครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาร์มู หรือมณฑลเฮยหลงเจียงในปัจจุบัน

ส่วนสถานการณ์ในกรุงปักกิ่งนั้น หลังจากราชวงศ์หมิงจบสิ้น หลี่จื้อเฉิงผู้นำกองทัพกบฎได้นำกำลังพล 60,000 นาย บุกเผชิญหน้ากับอู๋ซานกุ้ย นายพลหมิงผู้คุมกองกำลังกว่า 100,000 นาย ที่ประจำอยู่ในป้อมซานไฮ่กวน ซึ่งป้อมนี้เป็นประตูของกำแพงเมืองจีนผ่านไปสู่ตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ป้อมซานไฮ่กวนจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่คอยกั้นพวกแมนจูอยู่ที่อ่าวไม่ให้เข้ามาสู่แผ่นดินจีนทางใต้ได้ นายพลอู๋จนมุมศัตรูทั้ง 2 ทาง ทั้งกลุ่มกบฎและกองทัพแมนจู จึงตัดสินใจที่จะสวามิภักดิ์ต่อองค์ชายดอร์กอน ผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิซุ่นจื่อแห่งแมนจู ผู้มีพระชนมายุเพียง 6 พรรษาซึ่งเป็นโอรสจักรพรรดิไท่จงที่สวรรคตไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น(เรียบร้อย...แค่เห็นอายุก็รู้ว่าผลเป็นยังไง)

วันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1644 กองทัพของนายพลอู๋ และกองทัพแมนจูจึงเข้าล้อมกลุ่มกบฏไว้ กลุ่มกบฏมีกำลังไม่เพียงพอจะรักษาเมืองไว้ได้ จึงต้องตีฝ่าวงล้อมออกไปตั้งมั่นที่อื่น ฝ่ายกองทัพนายพลอู๋ก็ปล่อยให้กลุ่มกบฏตีฝ่าไปได้เพราะอ่อนแรงหลังจากต้องต่อสู้กับกองทัพแมนจูก่อนจะสวามิภักดิ์ กองทัพแมนจูได้เข้ายึดกรุงปักกิ่งได้ในวันที่ 6 มิถุนายน ในปีเดียวกัน อย่างไรก็ดี กองทัพแมนจูยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 17 ปีเพื่อปรามปราบกลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิง ผู้แสร้งทำภักดีต่อชิง และกลุ่มกบฏทั้งหลาย ผู้แสร้งภักดีต่อชิงคนสุดท้ายคือ จูกุย ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์หมิง และหลบหนีอยู่ในพม่า นายพลอู๋ได้เดินทางไปนำตัวขึ้นมาและประหารชีวิตที่มณฑลยูนนานใน ค.ศ. 1662

สิ่งที่เราน่าจะรู้จักกันดีคือ ผมเปียของชาวแมนจู จักรพรรดิชิงทรงออกกฎบังคับให้ชาวฮั่นทุกคนต้องไว้ผมเปียและสวมเสื้อผ้าอย่างชาวแมนจู เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและภักดีต่อราชวงศ์ชิง ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมครึ่งศีรษะและหนวดเครา และผูกผมด้านท้ายเป็นหางเปียยาว กฎนี้ขัดแย้งกับประเพณีปฏิบัติเดิมของชาวฮั่นที่ห้ามตัดผม ชาวจีนทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก มิฉะนั้นจะถูกตัดหัว กว่า 258 ปีที่ราชวงศ์ชิงครองประเทศ ชาวจีนได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งเนื่องจากกฎดังกล่าวนี้

พุทธศตวรรษที่ 23 ในต้นราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นยุคที่ทางราชวงศ์ต้องผจญกับขบวนการกู้หมิงต้านชิง ของชาวฮั่นทั้งหลายที่โกรธแค้นที่ชนต่างเชื้อสายมาเป็นใหญ่ประเทศจีน ดังนั้นในสมัยของ จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิหย่งเจิ่ง และจักรพรรดิเฉียนหลง จึงต้องใช้ทั้งนโยบายประนีประนอมเพื่อให้อยู่กับชาวฮั่นได้อย่างเป็นสุข และนโยบายแข็งกร้าวเพื่อควบคุมชาวฮั่นไว้ไม่ให้คิดต่อต้าน ซึ่งนโยบายเหล่านี้กลายเป็นแนวปฏิบัติของจักรพรรดิองค์ต่อๆ มา เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอำนาจรัฐ

ในประวัติศาสตร์จีนได้ปรากฏว่ามีชนกลุ่มน้อยขึ้นตั้งราชวงศ์ปกครองแผ่นดินจีน 2 ราชวงศ์ นั่นคือ ราชวงศ์หยวนของเผ่ามองโกล และราชวงศ์ชิงของเผ่าแมนจู ราชวงศ์หยวนถึงแม้จะเก่งกาจ มีกำลังทหารและอาวุธที่น่าเกรงขาม แต่ไม่มีความรู้ด้านการปกครอง จึงปกครองแผ่นดินจีนได้เพียงแค่ 90 ปีเศษก็ล่มสลายไป ส่วนราชวงศ์ชิงใช้นโยบายประนีประนอมและแข็งกร้าวได้อย่างแยบยล จึงประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคม จนสามารถปกครองแผ่นดินจีนได้นานถึง 260 ปี

เริ่มระส่ำระสาย

หลังจากเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงต้นราชวงศ์ สภาพทั่วไปในคริสตศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงเริ่มอ่อนแอและความเจริญรุ่งเรืองลดลง เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของกลุ่มคนในวงการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองที่มีขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง เศรษฐกิจหยุดนิ่ง เพราะจักรพรรดิเฉียนหลง กษัตริย์เจ้าสำราญโปรดความหรูหราฟุ่มเฟือยและทำสงครามบ่อยครั้ง เงินท้องพระคลังขัดสน และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน จะเห็นได้ว่าราชวงศ์ชิงมีปัญหาความกดดันภายในประเทศที่สะสมมานาน ประกอบกับความกดดันภายนอกจากชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม ที่ราชวงศ์ชิงไม่อาจทานได้เพราะระบบการปกครอง และเศรษฐกิจที่ล้าสมัย

ในช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 ประชาชนเริ่มรวมกลุ่มกันประท้วงมากขึ้นและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวางซวีสวรรคตใน ค.ศ. 1908 ทิ้งให้สมาชิกราชวงศ์ที่ไร้บารมีและสถานภาพทางการเมืองไม่แน่นอนยังอยู่ในพระราชวังต้องห้าม ปูยี โอรสขององค์ชายชุนที่ 2 ได้รับการอภิเษกให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปตั้งแต่พระชนมายุเพียง 2 ชันษา โดยให้พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ต่อมา นายพลหยวนซือไข่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งทางทหาร ในกลางปี ค.ศ. 1911 องค์ชายชุนที่ 2 ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีหลวง โดยสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นพระญาติสกุลอ้ายซินเจวี๋ยโหล มีหน้าที่บริหารประเทศจีนในเรื่องทั่วไป การตั้งคณะรัฐมนตรีหลวงครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับข้าราชการชั้นสูงทั้งหลาย ซิ่งรวมทั้ง จางจื่อตง ด้วย

ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ได้เกิดจลาจลอู่จางขึ้น และต่อมา นายพลซุน ยัตเซ็น ได้ประกาศก่อตั้งรัฐบาลของตนขึ้นใหม่ ในนามสาธารณรัฐจีน ที่เมืองนานกิง หัวเมืองหลายแห่งเริ่มตีตัวแยกจากรัฐบาลราชวงศ์ชิง เมื่อสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจเช่นนี้ รัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงเรียกตัวนายพลหยวนซือไข่รู้สึกไม่พอใจราชวงศ์อยู่แล้วกลับเข้ามาควบคุมกองทัพเป่ยหยาง เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้แข็งข้อทั้งหลาย หลังจากที่ได้ตำแหน่งนายรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลของตนแล้ว นายพลหยวนก็ได้เรียกร้องให้องค์ชายชุนลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ โดยการเรียกร้องครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจาก หลงหยูฮองเฮา

หลังจากองค์ชายชุนออกจากตำแหน่งแล้ว หยวนซือไข่และนายพลจากกองทัพเป่ยหยางก็ครอบงำราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ ประเทศจีนในครั้งนั้นก็มี รัฐบาล 2 ฝ่าย รัฐบาลหยวนซือไข่ปฏิเสธการทำสงครามกับรัฐบาลสาธารณรัฐของซุน ยัตเซ็น โดยให้เหตุผลว่าเสียค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีเหตุผล คำเรียกร้องของราชวงศ์ชิงคืออยากให้ประเทศจีนปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และซุนยัตเซ็นอยากให้ก็ประเทศปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ หลังจากที่ได้รับการอนุญาตจากหลงหยูไทเฮาแล้ว นายพลหยวนก็ได้เปิดการเจรจากับซุนยัตเซ็น โดยที่ซุนยัดเซ็นมีเป้าหมายว่าถ้าก่อตั้งสาธารณรัฐจีนสำเร็จแล้ว อาจจะให้นายพลหยวนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ใน ค.ศ. 1912 หลังจากการเจรจา หลงหยูไทเฮาก็ได้ออกพระราชเสาวนีย์ประกาศให้จักรพรรดิปูยีผู้เป็นพระโอรสบุญธรรมสละราชบัลลังก์

การล่มสลายของราชวงศ์ชิงใน ค.ศ. 1911 ถือเป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีนที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี
Silph
[ 25-03-2007 - 01:27:28 ]







เฮ้อ!!! จบซะที ยาวซักหน่อยนะ หวังว่าคงสนุกพร้อมได้สาระด้วย

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ จากเรื่องมังกรหยก

จะเห็นได้ว่า พูดถึงเรื่องมังกรหยกบ่อย เพราะว่าเป็นนิยายจีนที่อ่านเป็นเรื่องแรกๆ และชอบมั่กๆ ด้วย เรื่องมังกรหยกเป็นเรื่องที่ทำให้กิมย้งโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง การกำหนดคาแร็กเตอร์ของตัวพระเอกแต่ละภาคเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากนะครับ

ภาค 1 ก๊วยเจ๋ง

ซื่อ สติปัญญาไม่ดีนัก แต่มีคุณธรรมสูง เลือดรักชาติเข้มข้น ประสบความสำเร็จเพราะบุญพาวาสนาส่งหลายครั้ง บวกกับความมุมานะบากบั่น (กิมย้งพยายามสร้างฮีโร่ที่ดูสมบูรณ์แบบ เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตัวที่ดีของเยาวชน คือ คุณจะเป็นใครไม่สำคัญ คุณไม่ต้องฉลาด เก่งกาจเกินคน ขอเพียงมีความมุ่งมั่น มีคุณธรรมก็ช่วยชาติได้)

สำหรับก๊วยเจ๋ง ถูกวิจารณ์ว่า การวางตัวต่างๆ ดูดีสมบูรณ์แบบจนเกินไป ไม่สมจริงสมจัง (ประมาณว่าในโลกความเป็นจริง ยากที่จะมีคนแบบนี้จริงๆ) เป็นคนดีเกินไปน่ะครับ

ภาค 2 เอี้ยก้วย

จากคำวิจารณ์เกี่ยวกับก๊วยเจ๋งในภาคแรก กิมย้งจึงรังสรรค์ตัวเอกที่มีบุคลิกตรงกันข้ามสุดขั้วขึ้นมา คือ เอี้ยก้วย

ฉลาด มีไหวพริบ ไม่สนใจกฎระเบียบประเพณีคร่ำครึ เป็นพวกหัวปฏิวัติเต็มขั้น ได้แก่

1. ความรักระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรง

2. ผู้หญิงอายุมากกว่า ถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก

3. พรหมจรรย์ เอี้ยก้วยมีความรักมั่นคงต่อเซียวเล่งนึ่ง ไม่สนใจเรื่องพรหมจรรย์ของเธอแม้แต่น้อย (ปกติ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมจีนโบราณ)

4. คบคนโดยไม่สนใจค่ายพรรค (โดยปกติ คนฝ่ายธรรมะห้ามคบกับคนสังกัดค่าย พรรคฝ่ายอธรรม)เอี้ยก้วยคบหาคนทุกประเภท ขอเพียงเป็นคนดี ถูกอัธยาศัยก็พอ

และอื่นๆ

คำวิจารณ์เกี่ยวกับเอี้ยก้วยค่อนข้างออกมาดี เป็นการแหวกแนวบุคลิกของพระเอกในยุคนั้นอย่างมาก แต่ตัวละครเอี้ยก้วยก็ยังถูกวิจารณ์ว่า แปลกแยกเกินไปอยู่ดี

ภาค 3 เตียบ่อกี้

กิมย้งได้สร้างสรรตัวละครอย่างเตียบ่อกี้ออกมาให้มีความเป็นมนุษย์ธรรมดามากที่สุด กล่าวคือ แม้มีข้อเด่นหลายอย่าง (มีสติปัญหา คุณธรรม ความกตัญญู และอื่นๆ) แต่ก็ยังมีข้อด้อยหลายประการ (ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ขาดความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ ขาดความทะเยอทะยาน ขาดไหวพริบไปบ้าง ทำให้ไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของคน - พวกนี้ต้องสังเกตดีๆ จากบทในเรื่องนะ) การที่ไม่รู้เท่าทันคนนี่เอง ทำให้ในตอนท้ายตกหลุมพรางของคนอื่นจนต้องสละตำแหน่งผู้นำ พลาดโอกาสสร้างชื่อในประวัติศาสตร์ในที่สุด

คำวิจารณ์เกี่ยวกับเตียบ่อกี้กลับแปลกออกไป กลับถูกมองว่า บุคลิกภาพไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

เฮ้อ ดีเกินไปก็ว่า แปลกเกินไปก็ว่า ธรรมดาเกินไปก็ว่าอีก ไม่รู้จะเอายังไงกันแน่ แต่ยังไงเรื่องนี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง กลายเป็นนิยายกำลังภายในยอดนิยมตลอดกาลเรื่องนึง

Silph
[ 25-03-2007 - 17:31:03 ]







เพิ่มเติมข้อมูลอีกเรื่องครับ

เรื่อง 8 เทพอสูรมังกรฟ้า นิยายกำลังภายในเรื่องดังอีกเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงการเผชิญหน้าระหว่างราชวงศ์เหลียว (ชนเผ่าคีตัน) กับราชวงศ์ซ่งเหนือ (ก่อนเรื่องมังกรหยกภาคแรกร้อยกว่าปี)

เฉียวฟง หรือ เซียวฟง นับว่าเป็นตัวละครที่โดดเด่นมากในเรื่องนี้ เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชังกันระหว่าง 2 ชนเผ่า

เฉียวฟง เป็นชาวคีตันที่เติบโตขึ้นมาในแผ่นดินซ่ง เข้าใจว่าตนเองเป็นชาวซ่ง แต่เมื่อความจริงเปิดเผย ทำให้เขาต้องลาออก (ถูกขับออก) จากตำแหน่งเจ้าสำนักพรรคกระยาจก ทั้งที่เป็นผู้นำพรรคกระยาจกที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

18 ฝ่ามือสยบมังกรของเฉียวฟงนับได้ว่า ฝึกฝนจนถึงขีดสุด แทบไร้ผู้ต่อต้าน

การลาออก (ถูกขับไล่จากสำนัก) ของเขาทำให้ต่อมา เคล็ดวิชา 18 ฝ่ามือสยบมังกรสูญหายเหลือเพียง 9 ท่าในยุคอั้งชิดกง ขอทานเหนือ ทำให้อั้งชิดกงต้องคิดค้นท่าใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่อานุภาพก็ลดลงไปมาก

ก๊วยเจ๋งเองก็ฝึกวิชาต่อจากอั้งชิดกง แต่ว่าเนื่องจากได้เรียนรู้วิชาจากคัมภีร์นพเก้าด้วย จึงทำให้สามารถพัฒนาวิชา 18 ฝ่ามือสยบมังกรจนเหนือล้ำกว่าผู้เป็นอาจารย์ (ระหว่างเฉียวฟงกับก๊วยเจ๋ง ใครจะเหนือกว่านั้นยากจะพิสูจน์ได้)

เฉียวฟงฆ่าตัวตายในตอนท้ายของเรื่อง จากความสับสนในใจที่ตัวเขาเข้ายับยั้งการยกทัพเข้าตีอาณาจักรซ่งเหนือของราชวงศ์เหลียว (ความขัดแย้งจากชาติกำเนิด, บุญคุณความแค้นจากเพื่อนพ้องชาวยุทธ, ความผูกพันที่มีต่อแผ่นดินที่เติบโตขึ้นมา และสุดท้ายความเจ็บปวดของการสูญเสียคนรัก)

เขาทำถูกหรือไม่ ไม่มีใครรู้ เขาทรยศต่อแผ่นดินเกิดหรือไม่ (ทหารเหลียวถูกเกณฑ์มารบ แท้จริงส่วนใหญ่ก็ไม่อยากทำสงคราม) ก็ยากที่จะหาคำตอบ

สิ่งที่เขาทำให้กับแผ่นดินซ่งเหนือ มันคุ้มค่ากับที่ชาวซ่งขับไล่เขาหรือไม่ แต่ที่แน่นอนที่สุด เขาได้ยับยั้งไม่ให้เกิดการฆ่าฟัน การสูญเสียชีวิตของประชาชนผู้ไร้ความผิดจำนวนมาก

เฉียวฟงนับเป็นตัวละครที่ผมชอบมากๆ เป็นการส่วนตัวครับ ^-^
นัท
[ 25-03-2007 - 17:45:34 ]







สุดยอดดดดดดดดดดดดดดดดด
ต้องสมัครเป็นสมาชิกและ login เข้าสู่ระบบก่อนถึงจะสามารถลงความเห็นได้

เว็บนี้มีการใช้งาน cookie
ยอมรับ
ไม่ยอมรับ